24 มี.ค. 2020 เวลา 16:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิทยาศาสตร์โครงการร่วม 3 มหาวิทยาลัยชื่อดังด้านสมองคือ Crick, Stanford University และ UCL
1
ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับฝังแทรกลงในเนื้อสมอง
เพื่อวัดค่า brain activity ต่าง ๆ ในสมอง ทั้งที่อยู่ในระดับพื้นผิว และในชั้นลึกลงไปได้พร้อมกัน
เป็นประโยชน์ในการต่อยอดช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ไม่สามารถขยับแขนขาได้ด้วยตัวเอง (แต่ยังสามารถคิดได้ปกติ)
เนื่องจากมีความผิดปกติของระบบ motor neuronal system ที่สมองไม่สามารถควบคุมการขยับแขนขาได้ด้วยตัวเอง
รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต ผู้ที่พิการสูญเสียแขนขา ฯลฯ
เพื่อผลลัพธ์เป้าหมาย คือ การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น
อุปกรณ์ชุดนี้เป็นผลงานในสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ย่อย 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน คือ
1. ชิปจิ๋ว ที่ทำจากซิลิคอน (Silicon chip) สำหรับบันทึกข้อมูลจากสมอง และ
2. ส่วนของเส้นลวดขนาดเล็ก ที่ทำหน้าที่เป็นอิเล็คโทรแทรกลงในเนื้อสมอง เรียกว่า Superslim microwire ซึ่งมีขนาดบางกว่าเส้นผมของคนเราถึง 15 เท่า
ทีมวิจัยได้ทดลองจนได้ผลที่น่าพอใจในการหาวิธีฝังอุปกรณ์ชุดนี้ลงในสมองหนู
โดยกำหนดจุดได้อย่างแม่นยำและไม่ทำให้เกิดเลือดออกมาก หรือเป็นอันตรายต่อเนื้อสมองส่วนอื่น ๆ
การพบเทคนิคนี้ เชื่อว่าจะเป็นบันไดอีกขั้นที่พาวงการ Neuroscience Research ให้ก้าวไกลสู่มิติแห่งการเชื่อมโยง สมองคน (Brain) กับอุปกรณ์ (machine) ทางการแพทย์ได้ยิ่งขึ้น
เพราะชุดอุปกรณ์จิ๋วนี้ เปรียบเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการรับรู้สัญญาณจากสมอง และอุปกรณ์ที่ไม่มีจำกัด ที่จะนำมาต่อวงจรกัน
2
ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาในการสั่งการอวัยวะแขนขา สามารถขยับมันได้อีกครั้งตามที่สมองนึกคิด
คงไม่ผิด หากเรียกว่า นี่อาจเป็นตัวประสาน (แม้จะเป็นขั้นแรกของความสำเร็จ) ระหว่างสมองคนและสมองกล
ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมาก และทำให้ลดการเป็นภาระต่อคนรอบข้างได้ในระยะยาว
จากหลักการของอุปกรณ์นี้ ประโยชน์จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้งานกับคนที่มีความบกพร่องดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น
แต่ยังสามารถเชื่อมต่อปรับใช้ได้กับอุปกรณ์อีกมากมายนับไม่ถ้วน
(อย่าลืมว่า นี่เป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่ใช้วัดและบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในสมอง)
ไม่แน่ว่า สัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณ สัตว์ป่า สัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ ฯลฯ หากมีความบกพร่องในสมอง หรือมีความพิการเกิดขึ้น
ก็อาจได้อานิสงค์ใช้งานอุปกรณ์ชุดนี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน
อนึ่ง สำหรับอุปกรณ์ชุดนี้ ทีมนักวิจัยยังมีเป้าหมายที่สูงขึ้น คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการจับสัญญาณในสมองแบบสามมิติรอบอิเล็คโทรด เพื่อการแปลงสัญญาณและก็ควบคุมการทำงานของอวัยวะได้อย่างแม่นยำต่อไปด้วย
ความก้าวหน้าทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่อำนวยต่อความสุขและคุณภาพชีวิตของคนและสัตว์ยังมีอีกมาก และเป็นความท้าทายที่รออยู่
โปรดติดตามเรื่องราวการค้นพบใหม่ ๆ ได้อีกในไดโนสคูลตอนหน้านะคะ
นกไดโนสคูล
โฆษณา