26 มี.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
โศกนาฏกรรมครั้งที่ 2 ของเวเนซุเอลา กำลังเริ่มต้นขึ้น
“เรื่องเลวร้ายไม่เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว”
คำพูดนี้น่าจะเหมาะกับเวเนซุเอลาที่อาจจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งที่ 2
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้ไหมว่า ราคา Big Mac ที่สหรัฐฯ ตอนนี้ราคาชิ้นละ 3.79 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 121 บาท
แต่ถ้าเราไปซื้อ Big Mac ที่เวเนซุเอลาตอนนี้เราต้องใช้เงินถึง 270,800 โบลิวาร์
เพราะตอนนี้ค่าเงินโบลิวาร์กำลังอ่อนลงอย่างหนัก
หนึ่งในวิกฤตที่เกิดขึ้นยาวนานอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกคือ วิกฤตเวเนซุเอลา ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2010 นับจนถึงวันนี้ก็ 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นสมัยที่อดีตประธานาธิบดี Hugo Chávez บริหารประเทศ แต่ปัญหาก็ยังคงลุกลามมาจนถึงสมัยที่ประธานาธิบดี Nicolás Maduro บริหารประเทศ
เรื่องนี้ดูเหมือนจะเกิดมานาน และน่าจะหาจุดที่ต่ำสุดได้แล้ว
แต่เราอาจคิดผิด
เพราะการตกต่ำของราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่กำลังทำจุดต่ำสุดในรอบหลายปี อาจทำให้เวเนซุเอลาต้องเจอกับโศกนาฏกรรมซ้ำสองอีก
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า
วันนี้เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันอย่างมาก มูลค่าการส่งออกกว่า 99% ของเวเนซุเอลานั้นเกิดจากรายได้ที่มาจากการส่งออกน้ำมัน
Cr. Orinoco Tribune
แม้ว่าในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) เฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่เศรษฐกิจเวเนซุเอลายังย่ำแย่อย่างหนัก
ปี 2018 มูลค่าของ GDP ของเวเนซุเอลา 3.1 ล้านล้านบาท
ปี 2019 มูลค่าของ GDP ของเวเนซุเอลา 2.2 ล้านล้านบาท
ต้นตอของปัญหา นอกจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแล้ว ยังเกิดจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอีกด้วย
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลานั้นลดลง เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงงบลงทุนทางด้านการพลังงาน
เมื่อรวมกับการที่สหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรกับเวเนซุเอลาทำให้เกิดอุปสรรคต่อเวเนซุเอลา ในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
Cr. Oil Price
ในปี 2014 เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบไปขาย 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในปี 2019 เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบไปขายได้เพียง 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 75 ปี
รายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง นอกจากจะฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้ตกต่ำ ยังทำให้ ณ สิ้นปี 2019 ทุนสำรองระหว่างประเทศของเวเนซุเอลานั้นเหลือเพียง 26,600 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของระบบเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก
ในปี 2019 เวเนซุเอลามีหนี้จากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 120 เท่า..
ที่น่าสนใจอีกก็คือ
ในปี 2019 การส่งออกน้ำมันดิบกว่า 32% คือ การส่งออกไปขายที่จีน นั่นหมายความว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจนทำให้การบริโภคพลังงานลดลงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาในอนาคตเช่นกัน
Cr. Oil Price
แต่เรื่องร้ายๆ ไม่เคยมาครั้งเดียว
การที่รัสเซียไม่เห็นด้วยกับกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุดีอาระเบียที่ต้องการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ จนนำมาสู่สงครามราคา
ทำให้ปัจจุบันราคาน้ำมันลดลงเหลือเพียง 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดน้ำมัน
แทบไม่ต้องเดาเลยว่า รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาหลังจากนี้จะลดลงไปอีกแค่ไหน
ลองนึกดูว่า ระดับราคาน้ำมันดิบดังกล่าว ถ้าเวเนซุเอลายังส่งออกน้ำมันดิบไปขาย 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ เวเนซุเอลาจะมีรายได้การส่งออกน้ำมันปีละ 344,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 736,000 ล้านบาท ในปี 2019
หรือเรียกง่ายๆ ว่ารายได้ของประเทศหายไปกว่าครึ่ง
ใครจะไปคิดว่า
ประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากที่สุดในโลกอย่างเวเนซุเอลา
ซึ่งมีจำนวนกว่า 300,878 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่ากว่า 270 ล้านล้านบาท
กลับมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบเพียงเท่านี้
รายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง
ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ
ขณะที่หนี้ของประเทศยังอยู่ในระดับสูง
น่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเวเนซุเอลา
ประเทศอื่นกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาดโควิด-19
แต่เวเนซุเอลากำลังจะเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตอีกที ซึ่งไม่อยากคิดเลยว่าโศกนาฏกรรมนี้จะรุนแรงแค่ไหน..
โฆษณา