25 มี.ค. 2020 เวลา 08:41 • กีฬา
ตำนานชื่อเซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน
"หากว่าสตีฟ จ็อบส์ คือแอปเปิ้ล
เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ก็คือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด"
กับถ้วยแชมป์พรีเมียร์ ลีก ที่คว้ามาครองได้ 13 ครั้ง ตลอดช่วงเวลาที่คุมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
หนึ่งในคำนิยามจากปากของเดวิด กิลล์
อดีต CEO มือทองที่ทำงานร่วมกับกุนซือชาวสก็อตแลนด์ ในยุคสุดท้ายที่ครองอำนาจในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด
13 พรีเมียร์ ลีก , เอฟเอ คัพ 5 , แชมเปี้ยนส์ ลีก 2
กับอีกมากมายก่ายกองทั้งรางวัลส่วนตัวและส่วนรวม
มันก็บ่งบอกถึงคุณค่าในตัวของชายคนนี้อยู่แล้ว
แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่าถ้วยรางวัลทั้งหมด คือการทำงานตลอด 27 ปีที่เขาถลกแขนเสื้อลงแรงทั้งกายและสมอง สร้างอาณาจักรปีศาจแดงให้ยิ่งใหญ่ ยืนระยะกวาดความสำเร็จมาครองอย่างยาวนานเกือบสามทศวรรษ
ซึ่งหากเราถอดรหัส วิธีคิด วิธีทำงานตลอดระยะเวลา
เหล่านั้นของชายคนนี้ออกมาเป็นบทเรียน มันก็ไม่ต่าง
อะไรกับคัมภีร์จอมยุทธ์ ที่ไม่ว่าคุณจะทำงานในด้านใหน สาขาอาชีพอะไร ล้วนนำไปปรับใช้ได้อย่างไม่ขัดเขินแน่นอน
กลุ่มนักเตะรุ่น Class of 92
บ้านที่สวยงาม ย่อมต้องมีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง
สโมสรฟุตบอลก็เฉกเช่นเดียวกัน
ในปี 1986 หลังจากที่ อเล็ก เฟอร์กูสัน เดินหิ้วกระเป๋า
เข้าสู่ห้องทำงานที่แคร์ริงตัน สิ่งแรกที่เขาจัดการคือการร่างแผนงานระยะยาวให้กับทีม เช่นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอคาเดมี่
"Center of Excellence" จะแบ่งออกเป็นสองแผนก
หนึ่งคือปั้นเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 9 ขึ้นไป และอีกหนึ่งคือการจ้างทีมแมวมองและมอบงานให้ไปค้นหาเด็กๆฝีเท้าดีเข้ามาสู่ทีม
เดวิด เบ็คแฮม คือเด็กคนแรกๆที่เข้าสู่ทีม รวมกับผู้เล่นที่โตมากับสโมสรแต่แรกอย่าง ไรอัน กิ๊กส์ , พอล สโคลส์ , นิกกี้ บัตต์, พี่น้องเนวิลล์ กลายเป็น"Class of 92"ที่รู้จักกันดี
นี่คือสิ่งที่ เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน เคยบอกไว้ว่า
เป็นความแตกต่างของคนที่เข้ามาเพื่อ "สร้างทีม"
กับเข้ามาเพื่อ "สร้างสโมสร"
“งานผู้จัดการทีม เปรียบไปก็ไม่ต่างอะไรกับ
ครูบาอาจารย์ที่ประสาทวิชาให้เด็กๆ
เราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คน มอบทักษะ
ที่จะทำให้พวกเขานำไปพัฒนาตัวเอง สร้างความ
เป็นผู้ชนะให้พวกเขา เมื่อคุณมอบโอกาสให้เยาวชน
คุณจะได้รับอายุงานที่ยาวนานขึ้นสำหรับทีม
และยังได้ความภักดีด้วย เพราะพวกเขาจะจดจำ
ว่าคุณคือผู้ให้โอกาสคนแรกของพวกเขา”
“ตอนที่ผมเข้ามา ผมมีความคิดเพียงอย่างเดียว
คือการ’สร้างสโมสร’ ผมต้องการให้มันถูกต้องตั้ง
แต่การกลัดกระดุมเม็ดแรก เพราะรากฐานที่ดี
จะเป็นการต่อยอดไปที่ความสำเร็จในระยะยาว”
“ผมรู้ดีว่าส่วนใหญ่ ผู้จัดการทีมที่เข้ามาทำงาน
ใหม่ๆ ต้องการชัยชนะเพื่อการันตีตำแหน่งงาน
พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับผู้เล่นประสบการณ์สูง
ใช่ มันคือเรื่องปกติ แต่การชนะในเกมคือเรื่องระยะสั้น การสร้างรากฐานคือการการันตีอนาคตระยะยาว”
“และแน่นอนว่าการทำงานกับเยาวชน
ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก แต่เชื่อเถอะว่า
โชคและดวงมักโปรดปรานคนกล้าหาญเสมอ”
-
เมื่อรากฐานของบ้านสวยงาม มั่นคงแข็งแรง
สิ่งที่คุณต้องทำคือการบำรุงรักษาให้มันอยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ
สโมสรฟุตบอลก็ไม่ต่างกัน เพราะเมื่อคุณประสบความสำเร็จ คว้าถ้วยแชมป์มาได้ สิ่งต่อมาที่คุณต้องทำ
คือการสร้างความต่อเนื่องในการประสบความสำเร็จ
สโมสรบางแห่ง ลงทุนกับผู้เล่นราคาแพง
เพื่อผลตอบแทนสามปีหรือสี่ปี
เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ไม่ได้มองแค่นั้น แต่เขามอง
อนาคตอยู่ตลอด เขารู้ดีว่าตรงใหนต้องเสริม
ตรงใหนต้องการความสด นี่คือกึ๋นในการบริหาร
ทีม
ตั้งแต่ปี 2001-2009
ค่าเฉลี่ยในการลงตลาดซื้อผู้เล่น
ที่ทำโดยเฟอร์กี้ เขาใช้เงินน้อยกว่า
เชลซี , แมนฯซิตี้ ,ลิเวอร์พูล ซึ่งในช่วง
เวลานั้น แมนฯยูไนเต็ด คว้าแชมป์ลีก
มาครองได้ถึง 5 สมัย
การปั้นเด็กของเขาหลังยุค ‘Class of 92’
แม้จะประสบความสำเร็จน้อย แต่เขาไม่เคย
หยุดพัฒนาการทำงานในด้านนี้เลย เพราะเขา
รู้ดีว่ามันคือจิตวิญญาณของสโมสร
“เราต้องมองภาพของทีมไปล่วงหน้า
สามถึงสี่ปี และตัดสินใจทำในสิ่งที่เหมาะสม
ผมแยกผู้เล่นออกเป็นสามกลุ่มย่อย...
1.คือพวกอายุ 30+
2.คือพวกอายุระหว่าง 23-30
3.คือพวกดาวรุ่ง
ผู้เล่นอายุน้อยต้องพัฒนาตัวเอง
ให้ได้ตามมาตรฐานที่รุ่นพี่ๆสร้างไว้
แม้ผมจะพยายามหาหลักคิดใดมาหักล้าง
แต่ด้วยประสบการณ์มันบอกผมว่า
ทีมที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมีวงจรอยู่
ได้ไม่เกินสี่ปี หลังจากนั้นต้องทำการปรับตัว
และเปลี่ยนแปลง”
เอริค คันโตน่า คือคนที่เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ยอมรับว่ามีแคแรคเตอร์ของผู้ชนะอยู่ในสายเลือด
บ้านเมื่อมั่นคงแล้ว ต้องสวยงามด้วย
สโมสรฟุตบอลที่สวยงามก็ต้องประกอบไปด้วย
นักเตะที่มีแคแรคเตอร์ของผู้ชนะ
นี่คือสิ่งที่เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ให้ความสำคัญ
และเน้นย้ำอยู่เสมอ
หลักการสอนของเขา อิงมาจากพื้นฐานชีวิตจริง
ของตนเอง ที่เติบโตมาในย่านอู่ต่อเรือโกแวน
มีชีวิตยากลำบาก กว่าจะได้อะไรมาครอง
เป็นของตัวเอง
“ความยากลำบากเป็นแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต
เป็นเชื้อเพลิงของความมุ่งมั่น สร้างคนให้เป็นคน
ผมมีแนวคิดอย่างเดียวในเรื่องชีวิต คือไม่ยอมแพ้
ไม่ว่าปัญหาจะหนักแค่ใหน”
ในการทำทีม เฟอร์กี้ จะสอนลูกทีมเสมอถึงวิธีการ
เป็น “ผู้แพ้ที่ดี ผู้ชนะที่ดี ผู้แพ้ที่เลวและผู้ชนะที่เลว”
และมันถ่ายทอดไปอยู่ในสายเลือดของนักเตะ
ที่ร่วมงานกับเขาทุกคน ซึ่งสังเกตุได้เลยว่า
ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาใหม่ แล้วแสดงออก
ถึงความไม่พยายามที่จะสู้ จะไม่เป็นที่ยอมรับ
ในหมู่เพื่อนร่วมทีม แต่พวกเขาก็จะคอยช่วยหลอม
ผู้เล่นเหล่านี้ซะใหม่ ให้ตรงตามวิถีสโมสร
“ผมบอกเด็กๆเสมอว่า การทำงานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย ผมคาดหวังให้พวกเขาทำงานหนักขึ้นในทุกวัน
และพวกเขาก็ตอบสนองได้ดี นั่นคือเหตุผลที่พวกเขา
เป็นนักเตะชั้นนำ เพราะพวกเขาพร้อมจะทำงานหนัก”
“อีโก้ของซุปเปอร์สตาร์ ในแง่หนึ่งมันคือเรื่องดี
เพราะมันคือความกระหายชัยชนะ พร้อมทำทุกอย่าง
เพื่อชัยชนะ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ,เดวิด เบ็คแฮม,
พอล สโคลส์ และ ไรอัน กิ๊กส์ คือตัวอย่างที่ดี
เพราะพวกเขาเต็มใจจะซ้อมหนักจนเลยเวลาปกติ
อยู่เสมอ บางทีผมยังต้องสั่งให้หยุดด้วยซ้ำ เหตุผลที่พวกเขาทำ เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าการเป็นผู้เล่นให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เรื่องง่าย”
เดวิด เบ็คแฮม คือตัวอย่างชั้นดีในเรื่องความเด็ดขาดที่เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน มีในตัวเอง(แม้ภายหลังป๋าจะยอมรับว่าเสียดายที่ปล่อยเบ็คแฮมออกไปก็ตาม)
บ้านมั่นคงแล้ว สวยงามแล้ว ก็ต้องมีระเบียบวินัย
นี่คือสิ่งสำคัญไม่ว่าจะในการทำทีมฟุตบอลหรือชีวิตจริงก็ตาม
เฟอร์กี้ เด็ดขาดอย่างมากกับกฏระเบียบ
ไม่ว่าคุณจะสร้างปัญหาเล็กหรือใหญ่ ถ้ามันเกินเลย
เขาก็ไม่กลัวที่จะบอกว่า “นั่นประตู ไปซะ”
ยาป สตัม ,เดวิด เบ็คแฮม แม้กระทั่ง รอย คีน
ไม่ว่าคุณจะใหญ่มาจากใหน หากวันหนึ่งคุณทำตัวเอง
ให้ออกนอกระเบียบที่ป๋าวางไว้ และป๋ามองว่ามันจะเป็นตัวอย่างในการกระด้างกระเดื่องจากคนอื่น
ป๋าตัดสัมพันธ์ทันที ไม่มียกเว้น
ถ้าวันหนึ่งนักเตะมีอำนาจในการตัดสินใจ
ว่าจะซ้อมแบบใหน พักเมื่อไร หยุดวันใหน
คุณคงไม่ได้เห็น ยูไนเต็ด ในยุคที่ยิ่งใหญ่
ยาวนานเกือบสามทศวรรษหรอก
“ป๋าต้องตัดสินใจให้รวดเร็ว หากพบว่าใคร
ก็ตามที่จะส่งอิทธิพลในทางลบต่อคนในทีม
ไม่จำเป็นเลยว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบคุณ
เพราะความเคารพนั้นเกิดจากการทำงานของ
คุณเองถ้าคุณทำดี ใครๆก็ต้องให้เกียรติคุณ
และนักเตะเคารพผม เพราะสิ่งนั้นแหละ”
>
บ้านมั่นคง แข็งแรง สวยงาม
แต่ถ้าคนในบ้านขาดการสื่อสารที่ดีต่อกัน
ก็ไม่ต่างอะไรกับบ้านหลังใหญ่ที่ต่างคนต่างอยู่
ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
การพูดคุยกับลูกทีมอย่างตรงไปตรงมา
คือสิ่งที่เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ให้ความสำคัญ
แม้จะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เขาก็จะบอกกับลูกทีม
ตรงๆ เช่นการบอกว่าใครจะหลุดจากทีม
“นี่คือสิ่งที่ยากแต่ต้องทำ ผมจะบอกพวกเขา
ว่าผมอาจจะตัดสินใจผิดก็ได้ แต่มันคือสิ่งที่ผมคิด
มาแล้ว โดยที่การพูดนั้นจะต้องไม่ไปทำลาย
ความมั่นใจของคนๆนั้นด้วย ผมจะบอกว่ามันเป็น
เรื่องทางแท็คติก”
ภาพในความคิดของคนส่วนใหญ่คือ ป๋าที่หน้าแดงก่ำ
ตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ซึ่งมันไม่ใช่ทั้งหมด
“การทำแบบนั้นตลอดมันไม่ดีหรอก และไม่มีใคร
จะตะโกนเป็นบ้าแบบนั้นได้ตลอดด้วย”
แอนดี้ โคล อดีตกองหน้าของทีมในชุดสามแชมป์
เมื่อปี 1999 เคยบอกว่า...
“ถ้าวันใหนเราแพ้ แต่ทำกันเต็มที่แล้ว ป๋าจะไม่โกรธ
แต่ถ้าแพ้แบบสะเปะสะปะ แพ้แบบทุเรศ เมื่อนั้นแหละ
ระเบิดลงทันที”
ส่วนเซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน บอกไว้ว่า...
“นักฟุตบอลก็คนธรรมดานี่แหละ ไม่มีใครอยากโดนด่าตลอดเวลาหรอก ทุกคนอยากได้ยินคำชม
เยี่ยมมาก สองคำไม่ต้องทำให้สวยหรู แค่สองคำนี้
พวกเขาก็รู้สึกดีมากแล้ว”
“แต่คำตำหนิก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาด
ที่เกิดขึ้น ผมตระหนักรู้เมื่อตอนอายุมากขึ้น
ว่าการแสดงความโกรธตลอดเวลามันไม่ได้ผล
ต้องรู้จักเลือกเวลาในการแสดงอารมณ์ต่างๆ
บางครั้งต้องเป็นหมอ บางครั้งเป็นครู บางครั้งก็เป็นพ่อ”
>
บ้านที่มั่นคงแข็งแรง ไม่ใช่บ้านที่ตั้งอยู่โดยไม่เคยเจอพายุโหมกระหน่ำ กลับกันคือต้องถูกท้าทายอยู่เสมอ
ทีมของเซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ขึ้นชื่ออย่างมาก
ในเรื่องของการคัมแบ็ค หลังจากที่ถูกออกนำไปก่อน
การเปลี่ยนผลจากแพ้เป็นเสมอ เสมอเป็นชนะ
ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย คือดีเอ็นเอของเขา
ข้อมูลที่นักสถิติเก็บและนำมาวิเคราะห์
ชี้ให้เห็นว่า มีมากกว่า 10 ฤดูกาลที่ลูกทีมของป๋า
จบครึ่งแรกด้วยผลเสมอหรือตามหลัง
แต่กลับมาชนะได้ในที่สุดเมื่อเกมจบลง
แม้กระทั่งเข้าสู่ช่วง 15 นาทีสุดท้ายด้วยผลเสมอ
ก็ยังมีการเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะได้บ่อยครั้ง
สิ่งเหล่านี้เกิดจากการพูดคุย วางแผน
ในช่วงเวลาพักครึ่ง แก้เกมอย่างถูกต้องเหมาะสม
แต่ทั้งหมดนั้นเกิดจากการวางแผนมาตั้งแต่
สนามซ้อมแล้ว
เขาจะสอนให้ลูกทีมรู้ตลอดว่า เมื่อสถานการณ์เป็นแบบใหน ให้ทำให้เล่นอย่างไร
“เราซ้อมเพื่อรับมือการเล่นในสถานการณ์ที่บีบบังคับ
กันอยู่ตลอด เราจึงมีวิธีการรับมือเรื่องประหลาดใจ
ที่อาจเกิดขึ้นในสนามได้ตลอดเวลา”
“ผมไม่ต่างอะไรกับนักพนันที่กล้าเสี่ยงในสถานการณ์
ชี้เป็นชี้ตาย แต่การเสี่ยงของผมมันเกิดจากการที่ผม
รู้ดีว่าไพ่ในมือผมมีอะไร ผมยอมรับความเสี่ยงได้
ถ้ารู้ว่ามันเป็นประตูที่จะเปิดพาไปสู่ชัยชนะแม้เพียง
เล็กน้อย ถ้าต้องแพ้โดยไม่สู้ นั่นไม่ใช่ทางที่ผมต้องการ”
ทีมชุดแชมป์ยุโรปปี 2008 คือทีมเจนเนอเรชั่นที่สามในยุคของป๋า ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขาเป็นกุนซือที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
อย่างที่ทราบกันดีว่า เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ไม่ใช่คนที่คุมลูกทีมลงซ้อม แต่จะปล่อยให้ผู้ช่วยได้ทำหน้าที่ตรงนี้
แต่เขาเองไม่ได้นิ่งนอนใจสุขสบายกับไวน์ในห้องทำงาน เพราะเขาจะทำหน้าที่’ผู้สังเกตุการณ์’ในการประเมิน
ฟอร์มการเล่นของนักเตะได้ชัดเจนมากขึ้น
เหมือนกับการที่คุณจะแก้ปัญหา ถ้าเอาตัวไปอยู่กลางปัญหา คุณอาจไม่เห็นทางแก้ แต่ถ้าลองถอยห่างออกมา คุณจะเห็นปัญหาในภาพรวมและสามารถแก้ไขได้
ทุกอย่างนั้นเกิดจากความเชื่อมั่นในทีมงาน
และการรู้จักมอบหมายงานให้ถูกคน
“คนส่วนมากไม่รู้ประโยชน์ที่จะได้จากการเฝ้า
สังเกตุการณ์ แต่มันคือสิ่งสำคัญในการทำงาน
สำหรับผม การทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผมสูญเสีย
การควบคุมนักเตะ แต่มันยิ่งทำให้ผมเห็นภาพกว้าง
ที่ชัดเจนมากขึ้นว่าสถานการณ์ในทีมตอนนี้มีอะไร
เกิดขึ้นบ้าง”
>
27 ปี กับการทำงานในหน้าที่เดิมซ้ำๆซากๆ
แน่นอนว่าวงการฟุตบอลมันปรับเปลี่ยนไปตลอด
การปรับตัวคุณเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง
ต่างๆที่เกิดขึ้น คือสิ่งสำคัญ
เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
ไม่ว่าโลกจะหมุนไปข้างหน้าเร็วแค่ใหน เขาก็ก้าว
ตามทันตลอด
ป๋าเป็นคนแรกๆในวงการที่สะสมกองหน้าเอาไว้ใน
ทีมสี่คน เพื่อแข่งแย่งตำแหน่งที่มีให้เพียงสองคน
รวมถึงการตั้งทีมงานในด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา
การใช้ตู้อบวิตามินให้นักเตะ และเทคโนโลยี
เซนเซอร์ GPS ในการวิเคราะห์การซ้อมของผู้เล่น
อีกทั้งยังมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสายตามาให้บริการ
นักเตะ จ้างครูสอนโยคะมาดูแลโดยเปิดคลาส
อาทิตย์ละสองครั้ง เปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะของ
สโมสรเอาไว้ เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นได้ทันที และยังเป็นการป้องกันข้อมูลนักเตะเจ็บไม่ให้รั่วไหลไปเข้าหูคู่แข่งไปในตัว หากไปรักษากับโรงพยาบาลภายนอก
>
ตอนที่เขาเข้ามาทำทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
มันยังไม่มีระบบนายหน้าของผู้เล่น ที่จะคอยจัดการผลประโยชน์ให้ นักเตะไม่ได้เป็นเหมือนดาราอย่างทุกวันนี้
เงินทุนจากนายทุนต่างชาติก็ยังไม่ได้แพร่เข้ามาในฟุตบอลมากเท่าปัจจุบัน
แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตการทำงานของเขาในยุคหลังๆ
“ผมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ตลอด
การควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือการยอมรับมัน
ตัวผมเองไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ยิ่งกับการทำงานในสโมสร
ที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ยิ่งต้องกระตือรือร้นในทุกวัน
เพราะงานผมคือการสร้างโอกาสไปสู่ชัยชนะ
และนั่นแหละคือแรงผลักดันที่ทำให้ผมทำงานนี้มา 27 ปี”
เอกบุรุษชาวสกอตแลนด์
ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านั้น ไม่ต่างอะไรกับบทเรียนชีวิต
ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงและการบริหารธุรกิจต่างๆ
เป็นหลักคิด คำสอน ของยอดคนชาวสกอตแลนด์
ที่ผ่านร้อนหนาวมาโชกโชน ตลอดชีวิต 70 ปี
เป็นแนวทางที่ผ่านการสะสมมายาวนาน
จากชายที่มีรูปปั้นของตัวเองวางให้ผู้คนได้
สักการะอยู่หน้าสนามโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด
คำสอนของยอดคนเช่นนี้ หากสมองได้เปิดรับ
ก็มีแต่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองทั้งนั้นครับ
โฆษณา