1 เม.ย. 2020 เวลา 04:20 • ประวัติศาสตร์
ค้างคาวเดอะซีรีส์ ตอนที่ 3 (ตอนสุดท้าย)
การเดินทางของเชื้อโรค!
สิงหาคม ปี 1976 ประเทศคองโก
เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขได้รับแจ้งว่า...
มีชาวบ้านหลายคนล้มป่วยด้วยอาการคล้ายๆกัน คือไข้สูงฉับพลัน
มีผื่นแดง อ่อนแรง ตามด้วยอาเจียน บวกกับมีเลือดออกทั้งในและนอกร่างกาย
ตอนที่เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่อง ดูเหมือนเขาก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า
อาการที่ชาวบ้านเป็นนั้นคือโรคอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แล้วแน่ๆก็คือ
มีโรคระบาด...
หลังจากตรวจเชื้อที่อยู่ในตัวผู้ป่วยแล้ว ไม่พบว่าเชื้อนี้เคยระบาดที่ไหนมาก่อน
จึงยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ด้วยความที่จุดแรกที่เกิดการระบาดนั้น
เป็นหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ใกล้ๆกับแม่น้ำสายหนึ่งที่ชื่อ อีโบลา…
ต่อมาโรคนี้จึงถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า
โรคไวรัสอีโบลา…
สิ่งที่ต้องทำและเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำ
เวลาเกิดโรคระบาดใหม่ๆคือ หาต้นตอของการระบาด
จากการศึกษาทั้งพืช แมลง และสัตว์ที่อยู่ในละแวกนั้นกว่าพันชนิด
เชื่อว่าต้นตอน่าจะมาจากญาติๆของเรา คือเจ้ากอริล่า ชิมแปนซี
และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอย่างละมั่ง และหมู
ทว่าชะตากรรมของสัตว์กลุ่มนี้ไม่ต่างจากเราเท่าไหร่นัก…
รายชื่อสัตว์ที่ลิสต์ออกมาล้วนแต่เป็น dead-end host
หรือผู้ติดเชื้อชนิดสุดท้าย
ขึ้นชื่อว่าสุดท้าย แสดงว่ามันไม่ใช่คนเริ่มแพร่เชื้อแน่ๆ
และหมายความว่าหมดจากนี้ไป มันก็จะแพร่เชื้อให้สัตว์ชนิดอื่น
ไม่ได้อีกเหมือนกัน
แต่แล้วในที่สุดก็เจอตัวการ...
นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างของเชื้อที่ดันไปคล้าย
กับเชื้ออีโบลา ที่กำลังระบาด ได้ในสัตว์ชนิดหนึ่ง
และสัตว์ชนิดที่ว่านั้นก็คือค้างคาว!
ที่คิดว่าเป็นค้างคาวเพราะมันสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อได้
โดยที่ตัวเองไม่เป็นอะไร...
เสมือนว่าตัวเองเป็นรถเมล์ที่ให้เชื้อร้าย โหนกันได้สนุกสนาน
อยากจะลงแฮปปี้แลนด์หรือสะพานพุทธก็จัดให้ได้หมด...
ทั้งหมดนี้จึงฟันธงได้เลยว่าเจ้าเชื้อร้ายที่มีอัตราการตายสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
มีต้นตอการระบาดมาจากค้างคาว 100 เปอร์เซ็นต์...
.
ในตอนแรกเรารู้แล้วทำไมค้างคาวถึงมีปีก...
ตอนที่สองเรารู้แล้วว่าทำไมค้างคาวถึงเข้าไปอยู่ในถ้ำ...
และในท้ายที่สุดเราก็รู้ว่า วันหนึ่งค้างคาวจะเป็นพาหะ
ให้กับโรคร้ายมากมายเช่น อีโบลา...
แต่ที่เรายังไม่รู้ก็คือ แล้วเจ้าเชื้อที่ก่อโรคร้ายทั้งหลาย
เข้ามาเจอกับค้างคาวได้ยังไง?
แล้วทำไมไม่เห็นค้างคาวจะป่วยจากเชื้อที่ติดมากับตัวเอง?
และสุดท้าย บทสรุปของเรื่องนี้จะพาไปสู่ข้อคิดที่สำคัญได้หรือเปล่า?
เราจะมาหาคำตอบพร้อมกัน
ในตอนสุดท้ายครับ…
ก่อนอื่นเลยผมอยากให้เก็บคำถามข้างบนใส่กระเป๋าเป้เอาไว้ก่อน
อย่างที่เรารู้กันในตอนที่แล้วว่า ค้างคาวเลือกที่จะอาศัยอยู่ในถ้ำ
เชื้อโรคทั้งหลายก็(กำลัง)จะเข้าไปอยู่ในถ้ำ
หรือแม้แต่มนุษย์เราเอง เมื่อหลายแสนปีที่แล้วก็เคยอยู่ในถ้ำ
ดังนั้น คำถามที่น่าถามก่อนเป็นอย่างแรกเลยก็คือ
ในถ้ำมันน่าอยู่ตรงไหน?
ทำไมใครๆถึงอยากเข้าไป?
คำตอบนี้ซ่อนในฤดูหนาวของบ้านเราครับ
ถ้าใครสังเกตตอนบ้านเราหนาวๆ เวลาอยู่นอกบ้านนี่เหมือนอยู่ในสนามรบ
รบกับอากาศไม่พอ ยังต้องรบกับอารมณ์ตัวเองอีก
เท่านั้นไม่พอ ถ้าวันไหนมีฝนตกปรอยๆ ก็ต้องพกร่ม พกเสื้อกันฝนติดไปด้วย
เสื้อกันหนาว เสื้อกันฝน ร่ม และกระเป๋า
คือสิ่งที่เราต้องขนไปทำงานในสภาพอากาศที่มืดครึ้มและอึมครึมทั้งวัน
แล้วถ้าใครแจ็คพอตเป็นหวัดด้วยแล้วละก็...
คงจะใช้ชีวิตช่วงนี้ไม่สนุกเท่าไหร่นะครับผมว่า
แต่ทันทีที่เรากลับถึงบ้าน ดูเหมือนว่าของที่เราใช้ข้างนอกทั้งหมดนั้น
จะไม่จำเป็นสักเท่าไหร่…
เราสามารถที่จะโยนร่ม ถอดเสื้อกันหนาว แล้วทิ้งเจ้าถุงเท้าลงตะกร้าไปได้เลย
อุณหภูมิรอบตัวดูอุ่นขึ้นทันตาเห็น ไม่เย็นไม่ร้อนกำลังพอดี
และสำหรับใครที่เป็นหวัดอยู่ ก็ไม่ต้องรบกวนทิชชูอีกต่อไป...
น่าแปลกนะครับทำไมอากาศข้างใน
ถึงไม่เปลี่ยนตามอากาศข้างนอก?
หรืออาจจะเป็นเพราะอากาศในบ้านนิ่งกว่าข้างนอก
พออากาศไม่ไหลไม่ถ่ายเทเท่าข้างนอก
อุณหภูมิก็เลยไม่ค่อยเปลี่ยนมาก
พออุณหภูมิไม่เปลี่ยน ก็ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยปรับตัวเท่าไหร่...
ในถ้ำก็ไม่ต่างกันครับ...
อากาศในถ้ำไม่ได้เปลี่ยนเร็วเหมือนอากาศข้างนอก
ถ้าจะอุ่นก็จะอุ่นแทบทั้งปี หรือถ้าจะเย็น ก็จะเย็นตลอดทั้งปี
ทำให้ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในถ้ำ ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเท่าไหร่
เหมือนกับเราตอนอยู่ในบ้าน ไม่ต้องมีหมวก ไม่ต้องมีร่ม ไม่ต้องมีเสื้อกันฝน
แล้วสภาพอากาศเมื่อหลายล้านปีที่แล้วไม่ได้หนาว 26
ร้อน 34 แบบทุกวันนี้...
ในตอนนั้นอากาศข้างนอกหนาวจนถึงขั้นติดลบ จนสามารถที่จะลบ
มนุษย์ลิงที่ชื่อนีแอนเดอร์ธัลออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์(ยุคน้ำแข็ง)
หรือถ้าจะร้อน ก็เคยร้อนจนถึงขั้นเหวี่ยงบรรพบุรุษของเราเมื่อ 6 ล้านปีที่แล้ว
ให้ร่วงตกจากต้นไม้ และแยกทางกับลิงชิมแปนซีจนมาเป็นเราในวันนี้ในที่สุด
แปลว่าถ้าสภาพอากาศเปลี่ยน ทุกอย่างย่อมเปลี่ยน
และทุกๆการเปลี่ยน ย่อมมีคนที่ไม่ได้ไปต่อ...
หนึ่งในคนที่ไม่น่าได้ไปต่อที่สุด ดูอ่อนแอที่สุด
และต้องอาศัยคนอื่นมากที่สุดอย่างเชื้อโรคทั้งหลาย
กลับอยู่มาได้เป็นพันๆล้านปี ...
1
ทำไมกัน?
ตลอดชีวิตของเชื้อโรค มันต้องผ่านการเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกๆ
นับครั้งไม่ได้ เพราะด้วยความอ่อนแอและต้องมีบ้านอยู่ของตัวเอง
ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆวินาที ถ้ายังอยากอยู่บนโลกนี้ต่อไป...
จนวันหนึ่งก็เหมือนโชคจะเข้าข้าง วันที่มันอาศัยอยู่ในตัวสัตว์
ที่หากินข้างนอกแล้วเข้าไปหาที่นอนข้างใน...
วันที่มันได้รู้จักกับถ้ำ!
อย่างที่เรารู้กันตั้งแต่ต้น ถ้ำมีอากาศคงที่ อุณหภูมิทั้งปีก็แทบไม่เปลี่ยน
แค่สองอย่างนี้เหมือนเป็นสวรรค์ของเหล่าเชื้อโรคทั้งหลาย
เหมือนเป็นจุดพักริมทางให้ได้นอนพักบ้างเสียที
หลังจากที่เข้ามาแล้ว...
เชื้อที่อยู่ในถ้ำก็วิวัฒนาการตัวเองให้หากินเฉพาะในถ้ำ
อาหารในถ้ำมาจากไหนก็ปรับตัวไปตามนั้น
ไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันเหมือนอยู่ข้างนอก
แต่แล้ววันหนึ่ง วันที่มันเห็นสัตว์แปลกๆ...
สัตว์ที่มีปีกเหมือนนกแต่ก็ไม่ใช่นก
มีหน้าคล้ายหนูแต่ก็ไม่ใช่หนู
มันไม่รู้ว่านี่คือเดอะแบทแมนพระเอกของเรา ที่กำลังกระเสือกกระสน
หนีตายจากแก๊งอินทรีอันธพาลที่จะมารุมกินมัน...
เมื่อเริ่มมีน้องใหม่ แสดงว่าบ้าน(ถ้ำ)นี้ กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง
จากนิสัยส่วนตัวที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอดในทุกๆการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว
เชื้อโรคทั้งหลายจึงไม่ลังเลที่จะกระโดดจาก host ที่เคยอยู่
ไปหา "บรรพบุรุษค้างคาว(เดอะแบทแมน)" ที่เพิ่งมาใหม่
ฝั่งเดอะแบทแมนก็ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเอง
กำลังจะหนีเสือมาปะกับจระเข้เข้าแล้ว...
แทนที่จะได้ที่กบดานสบายๆแบบที่หวังไว้
กลับต้องมาเจอกับปัญหาใหม่ที่ตัวเอง "มองไม่เห็น"
สถานการณ์ตอนนี้คือ ถ้าออกก็ตาย
เพราะแก๊งอันธพาลดักอยู่ข้างนอก
หรือถ้าเสี่ยงอยู่ไปแล้วร่างกายสู้พี่ๆเชื้อร้าย
ที่อยู่มาก่อนไม่ไหว ก็ตายอยู่ดี...
เดอะแบทแมนต้องเจอกับทางเลือกอีกครั้ง
ที่ก็ไม่รู้ว่าพี่ๆที่อยู่มาก่อนจะรับน้องแรงแค่ไหน…
แล้วพระเอกของเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร?
พายุลูกที่สี่กำลังจะมาครับ...
ทุกวันนี้ค้างคาวอาศัยอยู่ในถ้ำ แน่นอนว่าการตัดสินใจ
ของเดอะแบทแมนในวันนั้นคือ เสี่ยงรับมือกับการรับน้อง
ที่ก็ไม่รู้ว่ารุ่นพี่จะเล่นแรงแค่ไหนแน่ๆ...
1
แล้วเดอะแบทแมนรับมือยังไง?
เรารู้แล้วว่าเป็นปกติของเชื้อโรค ที่จะต้องหาที่ทำกินใน host ใหม่ๆ
และเชื้อโรคนั้นต้องหากินอยู่ภายในร่างกาย
สิ่งแรกที่แบทแมนรีบพัฒนา กลับไม่ใช่ทหารที่เอาไปใช้สู้(ภูมิคุ้มกัน)
แต่เป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้(เอ๊ะ ทำไม?)
ปกติแล้วเมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาทำมาหากินในร่างกาย
ร่างกายจะตอบสนองด้วยการเปิดระบบฉุกเฉิน
ถ้าเป็นคนก็คือมีไข้ ป่วย อ่อนเพลีย ถ้าเป็นแผลก็จะบวมแดง แสบ
อักเสบ เหตุผลที่เป็นไข้จนอ่อนเพลีย ก็เพื่อให้ทหารได้ถูกกระตุ้น
(ยิ่งร้อนยิ่งคึก) และลดอาวุธของเชื้อที่เข้ามา
ทั้งหมดนี้ทำเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันร่างกายให้ถึงขีดสุด
รวมกำลังพลทหาร จะได้กำราบให้อยู่หมัดในทีเดียว...
แต่เดอะแบทแมนไม่ใช้วิธีนั้นน่ะสิ...
กลยุทธ์ที่ผมพูดถึงของแบทแมนมันตรงข้าม
กับที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราทุกอย่างเลย..
กลยุทธ์ที่ว่าก็คือ ลดสิ่งที่เรียกว่า การอักเสบ ให้เหลือน้อยที่สุด
แปลว่ามีไข้ หรืออ่อนเพลีย จะไม่เกิดกับเดอะแบทแมนของเรา..
และคำถามที่ต้องวิ่งตามกันมาทันทีเลยก็คือ ถ้าไม่มีไข้
ไม่ตัวร้อน แล้วร่างกายจะไปสู้กับเชื้อร้ายได้ยังไง?
คำตอบอยู่ที่การบินของเจ้าแบทแมนครับ…
ปกติแล้วเวลาแบทแมนของเราบินแต่ละที
อัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 1000 ครั้งต่อนาที
และสิ่งที่จะเพิ่มขึ้นหลังหัวใจเต้นเร็วขนาดนี้ก็คือ"อุณหภูมิ"ครับ
อุณหภูมิระหว่างบินจะพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส!
(แค่มีไข้ 38.5 เราก็มึนจนตาลายแล้ว)
ทำให้ระหว่างบินค้างคาวจะเป็นเหมือนเครื่องบินที่
แอร์เสียที่จะอบแก๊งเชื้อโรคให้เกรียมจนตาย...
นั่นแปลว่าการเปิดระบบฉุกเฉิน(อักเสบ)เพื่อเพิ่มอุณหภูมิด้วยตัวเอง
หรือแค่อักเสบบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป...
เพราะการบินสักพักสามารถกระตุ้นให้ทหารคึกคักแทนได้
(ไม่ต้องสร้างไข้ขึ้นมาเอง ใช้บินเอา)
ดังนั้นค้างคาวทุกวันนี้ จึงไม่มีอาการอักเสบ(หรือน้อยมากๆ)
พอไม่อักเสบ ก็ไม่ต้องตอบสนองด้วยการเร่งอุณหภูมิเอง มีไข้
หรือตัวร้อนแบบที่คนเราเป็นกันบ่อยๆ...
ค้างคาวก็สามารถใช้ชีวิตปกติ โดยปล่อยให้ความร้อนจากการบิน
เป็นตัวเร่งให้ภูมิคุ้มกันให้ทำงานแทนได้ …
และนั่นคือหัวใจหลักที่ทำให้ค้างคาว
รับมือกับเชื้อที่โถมเข้ามาเป็นร้อยชนิดได้ครับ...
แต่ก็เหมือนจะมีเชื้อบางชนิดที่ไม่ยอมทิ้ง host ตัวนี้ไปง่ายๆ...
สาเหตุก็เพราะพฤติกรรมของค้างคาวที่ไม่ได้เป็น host
ที่อยู่ในถ้ำทั้งวันทั้งคืน พอตกเย็นมันก็ออกหาอาหาร
และหลังจากที่กินอาหารเสร็จ สิ่งที่สัตว์ทุกตัวจะทำก็คือ...
"ขับถ่าย"
ที่เชื้อทั้งหลายสนใจกันตาเป็นมันก็ตรงที่"ขับถ่าย"นี่ล่ะครับ
(มันไม่มีตา ผมเปรียบเทียบนะครับ)
เพราะว่าการขับถ่าย(ที่เรี่ยราด) บวกกับการหาอาหารในที่ๆ
ไกลออกไป เหมือนจะเป็นโอกาสอันดีในการขยายเผ่าพันธุ์
ของเหล่าเชื้อร้ายที่กำลังรออยู่
เมื่อเชื้อชนิดนั้นปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์ของค้างคาวได้
และยังไม่ตายกับอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้น
นั่นหมายความว่า...
ต่อให้ host ใหม่ที่ไปอยู่จะงัดเทคนิคการอักเสบ
หรือใช้ความร้อนจากไข้มาป้องกัน
ก็คงไม่สะเทือนถึงชีวิตของเชื้อที่เข้าไปอยู่กันสักเท่าไหร่
(นี่เป็นเหตุผลที่เชื้อที่มาจากค้างคาว ชนะคนเราได้แทบจะทุกชนิด)
สุดท้าย หลังจากที่เชื้อนั้นอยู่ด้วยได้
และถ้าค้างคาวยังไม่ตายไปเสียก่อน...
เจ้าค้างคาวในวันนั้นก็เหมือนกลายร่างเป็น รถเมล์สาย 8
ให้เชื้อโรคที่ยังรอดอยู่ได้ ใช้บริการกันมากมายมานับล้านปี...
และทั้งหมดนี้คือคำตอบของคำถามที่ว่า
ทำไมค้างคาวถึงขนเชื้อร้ายได้เป็นร้อยชนิด...
และเราก็มาถึงช่วงสุดท้ายของการเดินทางกันแล้ว...
กว่าที่ค้างคาวจะมาเป็นสัตว์ที่เราเห็นว่า
เป็นรถเมล์ที่ขนเชื้อร้ายๆมาเต็มคันขนาดนี้
จำกันได้ไหมครับว่าต้นตอมันเกิดจากอะไร?
ใช่แล้ว การบินไง!
การบินคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด...
ในตอนที่พายุลูกแรกที่เข้ามาเป็นงู บรรพบุรุษค้างคาวในตอนนั้น
ก็เปลี่ยนแปลงคือเพิ่มพังผืดให้ร่อนหนีได้ จากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง
ให้หนีนักล่าบนต้นเดียวกันให้เร็วที่สุด...
จากนั้นพอร่อนอยู่บนท้องฟ้า
พายุลูกที่สองก็ตามมาติดๆ...
เวลาร่อนอยู่บนฟ้าก็จะเป็นที่น่าสนใจสำหรับนก
และเมื่อนกบินโฉบลงมาไล่กินมัน นั่นทำให้เครื่องร่อน
ต้องถูกเลิกใช้งาน..
เครื่องร่อนที่ใช้เพิ่มความสูงไม่ได้ ยิ่งร่อนไกลยิ่งใกล้ถึงพื้น
พอถึงพื้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว รอโดนกินอย่างเดียว
นั่นทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง...
จากนั้นมาค้างคาวรุ่นก่อนก็มีวิวัฒนาการจากหนังพังผืด
กลายเป็นปีก ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องร่อน สามารถหนีได้
ดั่งใจปรารถนา แต่แล้วปัญหาก็ยังไม่จบ ...
และพายุลูกที่สามก็ตามมา...
พอค้างคาวมีปีกแล้ว กลายเป็นว่าเหล่านกยิ่งสนใจกว่าเดิม
ค้างคาวต้องหนีหรือซ่อนอย่างเดียวในตอนกลางวัน
บวกกับกลางคืนเวลาจับแมลงก็ไม่แม่นอีก
ถ้ากลางวันหาอาหารไม่ได้ แล้วกลางคืนก็จับแมลงไม่แม่น
งานเข้าสิแบบนี้...
สิ่งค้างคาวแก้ปัญหาก็คือ ตอนกลางคืนก็จับแมลงให้แม่น หาอาหารให้เยอะ
จะได้ไม่ต้องเสี่ยงไปเก็บมะม่วงตอนเช้าแล้วโดนอินทรีโฉบไปกิน...
ตอนกลางคืนก็เลยแก้ด้วย echolocation คือหาเหยื่อด้วย
การกรี๊ดแล้วฟังเสียงสะท้อนกลับ(จากแมลงตัวเล็กๆ)
พอกลางคืนหาเหยื่อได้แม่น ได้เยอะ ก็ไม่ต้องไปเสี่ยงหาเหยื่อตอนกลางวัน
วิธีปรับตัวตอนกลางวันก็คือ หาที่เงียบๆนอนรอให้แก็งอินทรีอันธพาลหลับไปก่อน
นั่นทำให้ค้างคาวเข้ามาอยู่ในถ้ำ...
พอเข้ามาอยู่ในถ้ำก็มาเจอรุ่นพี่สายโหดอย่าง
เชื้อโรค ที่รอทำมาหากินบนตัวค้างคาวเราอยู่
รุ่นพี่ก็เลยกลายเป็นพายุลูกที่สี่ครับ...
ซึ่งค้างคาวก็ผ่านรุ่นพี่เหล่านี้มาได้โดยการ ลดการอักเสบ
และกระตุ้นทหารด้วยความร้อนจากการบิน
เวลาที่ค้างคาวบินมันก็เป็นเหมือนเครื่องบินที่แอร์เสีย
ที่จะอบเหล่าเชื้อร้ายนี้จนตาย...
ส่วนเชื้อที่ปรับตัวให้อยู่ในอุณหภูมิสูงๆนี้ได้ มันก็จะรอด
และพอเชื้อเหล่านี้กระโดดมาหาคนที่เวลาเป็นไข้ก็แค่ 38 หรือ 39
ก็ดูเหมือนจะไม่ระแคะระคายเท่าไหร่ เชื้อมันก็เลยชนะเราได้บ่อยๆครับ...
.
หลังจากเขียนเรื่องนี้จบ ผมได้ข้อคิดมาหนึ่งอย่าง
ไม่รู้จะตรงกับคุณผู้อ่านหรือเปล่า...
คือ "มองให้เห็นเหตุ จะเข้าใจทั้งหมด"
ตอนที่ผมอ่านข่าวแล้วเจอว่าค้างคาวเป็นพาหะของโรคนู้นโรคนี้
เหตุก็เพราะไลฟ์สไตล์ของมันที่ บินได้ และอยู่ในถ้ำ
แล้วหลังจากนั้นพออ่านจบ ก็ไม่มีข้อมูลอะไรต่อ ทำให้ในหัว
ก็ยังตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า แล้วสรุปมันเข้าไปอยู่ในถ้ำทำไม?
หลังจากได้ข้อสรุปว่ามันเข้าถ้ำเพราะมันมีปีก
คำถามที่ถามต่อก็คือ แล้วมันมีปีกทำไม?
อะไรบังคับให้มันมีปีก?
จนสุดท้าย เลยเกิดเป็นค้างคาวเดอะซีรีส์
เรื่องนี้ขึ้นมาครับ...
การมองเห็นเหตุเห็นแก่นทั้งหมด
เหมือนมันทำให้ผมเข้าใจอะไรในค้างคาวมากขึ้น...
เข้าใจชีวิตของมันมากขึ้น...
เข้าใจความสัมพันธ์มากขึ้น...
และเข้าใจธรรมชาติที่สัตว์ชนิดนี้เป็นอยู่มากขึ้น...
แล้วผมก็สงสัยตัวเองต่อว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ไปทำไม?
ก็ได้คำตอบว่า ถึงแม้ความเข้าใจนี้จะไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไร
ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิต แต่อย่างน้อยเก็บเอาไว้เป็นข้อคิด
เล็กๆน้อยๆ ก็แล้วกันว่า..
"มันมีเหตุ ... ของทุกผลที่เกิดขึ้นมาเสมอ"
เหมือนอย่างที่ เพราะค้างคาวมีปีก
ทำให้ต้องมาเจอกับเชื้อโรคในถ้ำ
และผมก็หวังว่า ข้อคิดที่ผมได้ในตอนนี้
จะเป็นประโยชน์ให้กับการมองเห็นโลก
ในแบบที่ต่างออกไปของพี่ๆเพื่อนๆผู้อ่านทุกๆท่าน
ไม่มากก็น้อยนะครับ...
ยังไงขอบคุณที่อยู่กันจนมาถึงตรงนี้นะครับ😄
ขอบคุณที่อ่านกันจนจบครับ...
#WDYMean
ถ้าชอบหรือถูกใจก็ฝาก
#กดไลค์ 👍
#กดติดตาม✋
เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับบ😆
ภาพประกอบจาก pixabay
#อ้างอิงจาก
โฆษณา