31 มี.ค. 2020 เวลา 12:00 • สุขภาพ
ไข่ไก่ที่หายไป เกี่ยวข้องอย่างไรกับการผลิตวัคซีน
ไข่ไก่ที่หายไป เกี่ยวข้องอย่างไรกับการผลิตวัคซีน : Health.clevelandclinic
ท่ามกลางมาตรการ Social distancing ที่ทุกคนต่างอยู่บ้าน ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น สิ่งจำเป็นที่ต้องมีติดบ้านไว้ก็คืออาหารนั่นเองครับ
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราคงเห็นภาพผู้คนเข้าคิวต่อแถวกักตุนข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างๆมากมายและสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ "ไข่ไก่" ที่ตอนนี้ได้ยกระดับเป็นสินค้าควบคุมตามรอยแอลกอฮอล์เจลเป็นที่เรียบร้อยครับ
ด้วยความต้องการบริโภคไข่ไก่ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัว ทำให้กลายเป็นสินค้าหายากจนบางคนถึงขั้นหาซื้อไม่ได้และถึงหาซื้อได้ก็มีราคาแพงขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นโปรตีนราคาแพงไปซะแล้ว
ข้อมูลจากกรมการค้าภายในเผยว่าไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้ถึงวันละ 41 ล้านฟอง ส่วนใหญ่ 95% เป็นการบริโภคภายในประเทศและที่เหลือ 5% ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ พม่าและลาว ซึ่งปัจจุบันได้มีการงดส่งออกเป็นที่เรียบร้อยเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าขาดตลาด
สัดส่วนการผลิตไข่ไก่ไทย : Bangkokbiznews
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงที่บ้านเราเท่านั้นครับ ในอเมริกาเองก็พบว่าผู้คนต่างกักตุนไข่ไก่กันมากจนยอดขายไข่ไก่เพิ่มขึ้นกว่า 44 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ห้างค้าปลีกต่างๆเช่น Walmart มีการจำกัดการซื้อเพื่อกระจายสินค้า นอกจากนี้ก็ยังเจอปัญหาด้านราคาค้าส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เหลือสองทางเลือกคือปรับราคาเพิ่มตามและไม่ซื้อมาขายเลยทำให้พบว่าหลายๆร้านไม่มีไข่ไก่วางขาย
หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบคือ Spiderman หรือ Tom holland ของเรานั่นเองที่ไม่กี่วันก่อนก็ออกมาบ่นทาง Instagram ว่าเขาเองหาซื้อไข่ไก่ไม่ได้ ก็เลยคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อแม่ไก่ 3 ตัวมาเลี้ยงแทน
แหม...ไม่รู้จะสงสารหรือจะหัวเราะดีครับ
ไก่ของ Tom มีชื่อว่า Predator, Chestnut และ Ranger : Metro
หากดูภาพรวมการผลิตไข่ไก่ในตลาดโลกส่วนใหญ่ 60 % เป็นการผลิตในทวีปเอเชีย รองลงมาเป็นทวีปอเมริกา 16 % และอันดับ 3 เป็นการผลิตในทวีปยุโรป 14% ตามปกติแล้วปริมาณของไข่ไก่ต่อการบริโภคดังกล่าวทั่วโลกมีเพียงพอและเนื่องจากในตอนนี้ยังไม่พบปัญหาของโรคระบาดในไก่หรือปัญหาสภาพอากาศที่มีผลกระทบดังนั้นการหายไปของไข่ไก่จึงน่าจะเกิดจาก Panic buy จากการกักตุนสินค้าเพียงเท่านั้น...
นอกจากประโยชน์ในด้านการบริโภคแล้ว หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินว่าไข่ไก่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาวัคซีนด้วย เป็นวัคซีนที่หลายคนรู้จักกันดีหรือบางคนได้รับการฉีดเป็นประจำทุกปีเพื่อป้องกันโรค นั่นคือวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu shot)
ไข่ไก่กับไข้หวัดใหญ่เนี่ยนะ ???
ใช่ครับ...ย้อนกลับไปในปี 1931 เออร์เนสต์ วิลเลียม กูดปาสเจอร์ แพทย์และนักพยาธิวิทยาชาวอเมริกันผู้สนใจในเรื่องกระบวนการก่อโรคของไวรัส ได้คิดค้นวิธีและทำการทดลองเลี้ยงเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษไก่ (Fowl-pox) ใน embryo ของไข่ไก่ประสบความสำเร็จขึ้นมาเป็นครั้งแรก และต่อมาเทคนิคดังกล่าวถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองวัคซีนหลากหลายชนิดจนสามารถสร้างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาได้สำเร็จและถูกใช้ในกองทัพอเมริกานำมาซึ่งชัยชนะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเป็นต้นมาไข่ไก่จึงถูกใช้ประโยชน์ในการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสในการทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่
Ernest William Goodpasture แพทย์และนักพยาธิวิทยาผู้บุกเบิกการเลี้ยงไวรัสในไข่ไก่ : Wikipedia
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆขึ้นมาทดแทนเช่น การเพาะเลี้ยงในเซลล์ (Cell-based vaccine) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและความรวดเร็วในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่าเทคนิคดั้งเดิม (Egg-based vaccine)
การผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ยังถือเป็นวิธีหลักที่ยังคงใช้อยู่ โดยในปี 2019-2020 อเมริกามีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อกระจายในประเทศถึง 174.5 ล้านโดส ซึ่งในจำนวนนี้ 82% ยังเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเทคนิค Egg-based vaccine
ในแต่ละวันไข่ไก่กว่าหลายแสนฟองจะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในโรงงานที่เป็นความลับสุดยอดระดับชาติ มีการดูแลอย่างเต็มที่ด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยและระบบ security มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่ดูแลโดยรัฐบาลกลางเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของชาติ
ไข่ไก่ในกระบวนการดังกล่าวจะต้องถูกเตรียมพร้อมให้เพียงพอเสมอสำหรับการผลิตวัคซีนในแต่ละปี เนื่องจาก WHO จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและคัดเลือกสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3-4 สายพันธุ์ให้กับผู้ผลิตสำหรับทำวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
1. เมื่อได้สายพันธ์ุที่ต้องการ ไวรัสจะถูกฉีดเข้าไปในไข่ไก่ที่ถูกเตรียมไว้ภายใต้สภาวะที่ปลอดเชื้อและสิ่งปนเปื้อน
เพื่อให้ทำการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ซึ่งต้องมีระยะเวลาการเลี้ยงและบ่มเพาะในสภาวะที่เหมาะสม
2. จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็จะทำการเก็บของเหลวที่มีไวรัสมากมายอยู่ในไข่ออกมาและไวรัสจะถูกทำให้ตายหรืออ่อนแอลงจนไม่สามารถก่อโรคในคนได้ เหลือไว้แต่ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
3. ไวรัสที่พร้อมในการเป็นตัวกระตุ้น (Antigen) จะถูกเติมสารเพิ่มความคงตัวและสารกันเสียเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคอื่นๆ นอกจากนี้ถ้าหากเป็นวัคซีนชนิดใหม่ จะต้องเข้าสู่กระบวนการทดสอบและรับรองโดย FDA ถึงจะสามารถกระจายไปสู่ผู้ใช้งานได้
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงไวรัสโดยใช้ไข่ไก่ : Wikipedia
แต่ทั้งนี้ก็มีปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับกระบวนการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิมดังกล่าว อาทิเช่น
1. ข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากการเพาะเลี้ยงไวรัสในไข่จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์เพื่อให้มั่นใจว่ายังมีประสิทธิภาพและใช้การได้...บางทีเรารอไม่ได้ขนาดนั้นครับ
2. ต้องใช้ไข่ปริมาณมากในการผลิตวัคซีน ซึ่งหากอยู่ในช่วงที่มีการระบาดหนักระดับ pandemic การจะหาไข่ไก่ปริมาณหลายล้านฟองให้ได้ในไม่กี่วันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ
3. คุณภาพของไข่ไก่ต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนเช่น สารปรอท นอกจากนี้ supply chain อาจต้องรับความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศและโรคระบาดในสัตว์
4. ในกระบวนการผลิตวัคซีนอาจมีโปรตีนจากไข่ปนเปื้อนมาได้บ้างตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ต้องระวังและอยู่ในการประเมินของแพทย์ก่อนเสมอในการให้วัคซีน
1
มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วไข่ไก่ล้ำค่าเหล่านี้ เอาไปช่วยเราทำวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้มั้ย ?
น่าเสียดายที่คำตอบคือ.....ไม่ครับ....
เหตุผลก็คือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับไวรัสไข้หวัดใหญ่มีความแตกต่างในการจับกับ Receptor ของเซลล์ ทำให้ไม่สามารถเพาะเลี้ยงในเซลล์ไข่ไก่ได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหมดหวังเสมอไปครับ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้เรื่องวัคซีนป้องกัน COVID-19 นักวิจัยใช้วิธีอื่นที่รวดเร็วในการพัฒนาวัคซีนกว่าการเลี้ยงในไข่ไก่มาก เช่นการใช้ mRNA ของไวรัสเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโดยตรง
แม้ว่าไข่ไก่ในประเทศไทยจะถูกนำไปทำ ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ต้ม มากกว่าการนำไปเลี้ยงไวรัส พัฒนาวัคซีน แต่ไทยเราเองก็มีการพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีอื่นๆแทนการเลี้ยงในไข่ เพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนในประเทศและนอกจากนี้ก็มีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วยครับ
.....Need to know....
สำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนในไข่ หรือแพ้อาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ ถ้าต้องการฉีดวัคซีนที่ทำมาจากไข่เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ CDC (center of disease control and prevention) ได้แนะนำดังนี้ครับ
1. หากมีประวัติแพ้ไข่แบบลักษณะผื่นคันเล็กน้อยตามผิวหนัง สามารถฉีดได้
2. หากเคยแพ้ลักษณะปากบวม (angioedema), หายใจลำบาก, เวียนหัวหรืออาเจีย จนต้อง
ใช้ยาช่วยฉุกเฉิน Epinephrine ก็ยังแนะนำให้ฉีดได้ครับ
3. แต่ถ้าเคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ควรฉีดเลยครับ
ดังนั้นหากมีประวัติการแพ้ไข่ก็ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนครับ เนื่องจากประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงจากการแพ้นั่นเอง
References
โฆษณา