30 มี.ค. 2020 เวลา 06:45 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื้อ
หยั่นป๋อหนิว (冉伯牛)
หยั่นป๋อหนิว แซ่หยั่น นามว่าเกิง ฉายาป๋อหนิว เป็นชาวแคว้นหลู่ อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๗ ปี
เมื่อสมัยที่ขงจื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าเมืองจงตู หยั่นป๋อหนิวก็ได้อยู่ช่วยราชการขงจื่อที่นั่น ครั้นขงจื่อได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสมุหนายก หยั่นป๋อหนิวก็ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าเมืองจงตู จึงเห็นได้ว่าขงจื่อได้ให้ความสำคัญกับหยั่นป๋อหนิวมากเพียงใด
หนึ่งตระกูลสามเมธา (一門三賢)
ในประวัติศิษย์ขงจื่อนั้น มีศิษย์อยู่สามคนต่างมีสกุลว่า “หยั่น” คือหยั่นป๋อหนิว หยั่นยง และหยั่นฉิว ทั้งสามคนมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร? ในสาแหรกตระกูลแห่งตระกูลหมิ่น ได้มีการบันทึกไว้ว่า หยั่นหลีได้แต่งงานกับเหยียนซื่อ (顏氏) ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คนโตนามว่าหยั่นป๋อหนิว คนกลางนามว่าหยั่นยง ภายหลังเหยียนซื่อได้ถึงแก่กรรม หยั่นหลีจึงแต่งงานใหม่กับกงซีซื่อ (公西氏) และให้กำเนิดบุตรชายนามว่าหยั่นฉิว จากตรงนี้จึงทราบได้ว่า หยั่นหลีมีบุตรชายสามคน และทั้งสามคนต่างก็เป็นศิษย์ในสำนักขงจื่อ ทั้งยังมีคุณธรรมความสามารถเป็นที่ปรากฏและถูกยกย่องให้อยู่ในทำเนียบนักปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อด้วยกันทั้งสามคน โดยหยั่นป๋อหนิวและหยั่นยงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดคุณธรรม ส่วนหยั่นฉิวจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดการเมือง
เจ็บป่วย
หากค้นคว้าประวัติของหยั่นป๋อหนิวแล้ว ไม่เพียงแต่จะไม่ทราบวันเวลาที่ท่านเสียชีวิตเท่านั้น หากแม้แต่บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับหยั่นป๋อหนิวในคัมภีร์หลุนอวี่ก็ยังมีน้อยอีกด้วย เท่าที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ ก็มีเพียงบทยงเหยี่ยดังนี้คือ
หยั่นป๋อหนิวล้มป่วย ขงจื่อไปเยี่ยม ได้จับมือหยั่นป๋อหนิวทางหน้าต่างพลางกล่าวว่า “มิควรเลย อาจเป็นเพราะฟ้าลิขิตกระมัง แต่คนเช่นเจ้า ไยป่วยเป็นโรคเช่นนี้ได้ ! คนเยี่ยงเจ้า ไยป่วยเป็นโรคเช่นนี้ได้!”
“หยั่นป๋อหนิวป่วย ขงจื่อกุมมือหยั่นป๋อหนิวทางหน้าต่าง” ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า หยั่นป๋อหนิวไม่ได้เชิญให้ขงจื่อผู้เป็นอาจารย์เข้าไปภายในเรือน จึงถือว่าเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง แต่เหตุใดหยั่นป๋อหนิวจึงเสียมารยาทต่ออาจารย์ที่ตนเคารพรักเล่า?
หากพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว คงมีเพียงเหตุผลเดียวที่หยั่นป๋อหนิวไม่เชิญอาจารย์เข้าไปในเรือน และปล่อยให้ขงจื่อต้องกุมมือเยี่ยมไข้ที่นอกหน้าต่าง นั่นก็คือหยั่นป๋อหนิวป่วยด้วยโรคที่ผู้คนรังเกียจนั่นเอง
หนังสือหวยหนันจื่อ (淮南子) ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวด้านปรัชญา การเมือง ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ การทหาร ฯลฯ ได้เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับหยั่นป๋อหนิวไว้ดังนี้ว่า “จื่อเซี่ยสูญเสียการมองเห็น หยั่นป๋อหนิวป่วยด้วยลี่ (子夏失明 伯牛為厲)” คำว่าลี่ (厲) จะตรงกับคำว่า ลี่ (癘) ที่หมายถึงโรคระบาด โรคที่เกี่ยวฝีหนอง ซึ่งยังกินความหมายที่กว้างอยู่ สำหรับข้อนี้ จูจื่อ (朱子) ได้อธิบายคำว่า “ลี่” คือ “ไล่ (癩)” ซึ่งคำว่า “ไล่” ก็คือโรคเรื้อน (痲瘋) นั่นเอง
แต่ไม่ว่าหยั่นป๋อหนิวจะป่วยด้วยโรคอะไร สิ่งที่เราสามารถเห็นได้จากบันทึกข้อความในคัมภีร์หลุนอวี่ประโยคนี้ก็คือ หยั่นป๋อหนิวเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงส่ง จนถึงขนาดที่ขงจื่อได้จัดให้หยั่นป๋อหนิวอยู่ในทำเนียบสิบนักปราชญ์ในหมวดคุณธรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านต้องมาป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย สุดท้ายจึงต้องกักตัวหลีกลี้จากผู้คน แต่ด้วยความรักและความห่วงใยที่มีต่อศิษย์ ขงจื่อไม่เพียงแต่ไม่รู้สึกรังเกียจเท่านั้น หากแต่ยังดั้นด้นเกินทางไปเยี่ยมศิษย์รัก พร้อมกับกุมมือร่ำไห้ และอุทานว่า “เหตุใดคนดีๆ เช่นเจ้า จึงต้องมาป่วยด้วยโรคเช่นนี้ด้วย”
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ฟ้าได้จัดสรรไว้แล้วอย่างลงตัว สิ่งที่เราเห็นว่าร้ายในเบื้องตน แท้จริงอาจจะเป็นเรื่องดีที่เบื้องปลายก็ได้ และสิ่งที่เราเห็นว่าดีในเบื้องต้น ไม่แน่ก็อาจจะเป็นเรื่องร้ายที่เบื้องปลายก็ได้ ดังนั้นวิถีแห่งอริยะ จึงต้องฝึกฝนจิตใจไม่ให้มีการโทษบ่น ไม่ท้อแท้ต่อทุกสภาวะปัญหา ดังนั้นผู้ที่ยืนหยัดในวิถีแห่งอริยะ จึงไม่คอยเพียรถามว่าเหตุใดชะตาชีวิตจึงมาดร้ายทารุณ หากแต่จะคอยเพียรถามว่าตนได้ประกอบคุณธรรมความดีฝากไว้ในแผ่นดินนี้แล้วหรือไม่
ทุกคนล้วนหนีไม่พ้นความตาย แม้นความตายคือความพลัดพรากที่น่าเทวษเสียใจก็จริง หากแต่การตายจากไปโดยไม่มีผลงานอันควรประจักษ์ไว้ในแผ่นดินและในชีวิตนั้น กลับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมากยิ่งกว่า
เหวินเทียนเสียง (文天祥) เคยกล่าวไว้ว่า “จิรกาลนานมาใครไม่ตาย ขอฝากใจประภัสคู่ปฐพี (人生自古誰無死 留取丹心照汗青)” สิ่งที่หยั่นป๋อหนิวเป็น อาจจะไม่ได้เป็นความสำเร็จสวยหรูอย่างที่ปุถุชนคนสามัญคิด หากแต่จิตประภัสชัชวาลของท่าน กลับเป็นสิ่งที่ได้ตราตรึงจารึกไว้ในปฐพี อันเหมือนดังเช่นที่ขงจื่อมักกล่าวอยู่เสมอว่า “กล้วยไม้ในป่าลึก จะไม่เพราะไร้ผู้คนรู้จักและดอมดมความหอมและหยุดส่งกลิ่นหอม ฉันใด อันปราชญ์วิญญูผู้มั่งมั่น ก็ย่อมจะไม่หยุดเพียรคุณธรรม ด้วยเพราะไร้ผู้คนชื่มชมยินดี ฉันนั้น”
ความสำเร็จในทางโลกที่เป็นมายา ที่สุดก็ใช่ว่าจะต้องเป็นความสำเร็จในทางธรรมที่ฟ้าต้องการ ดังนั้น สิ่งที่ควรนับว่าเป็นสุดยอดแห่งความสำเร็จในชีวิต นั่นก็คือ “ถามใจตน ไร้สิ่งที่น่าละอายแก่ใจ” นั่นเอง
โฆษณา