30 มี.ค. 2020 เวลา 14:12 • สุขภาพ
ประชาชนต้าน Covid
ผมไม่เคยเชื่อเรื่องการบริจาคเพื่อช่วยภาครัฐมาก่อน
คือถ้าให้เงินหรือบริจาคสิ่งของทางประเพณีสังคม งานบวช งานแต่ง งานศพ หย่อนเงินใส่ตู้ในโบสถ์เนี่ยโอเคเลย แต่ถ้าเป็นเพื่อการบริหารงานภาครัฐผมคิดมาตลอดว่ารัฐเอาเงินของผมไปแล้วในรูปของภาษี ฉะนั้นก็ควรใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ และในสายตาผมรัฐใช้ภาษีอย่างไม่มีประสิทธิภาพบางภาคส่วนเลยขาดแคลน เมื่อเป็นดังนั้นก็ควรบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนและจะได้ไม่ต้องเบียดเบียนเงินในกระเป๋าประชาชนซ้ำอีก
ความคิดของผมมาเปลี่ยนไปเมื่อมาเจอวิกฤต Covid-19
ถ้าเราคิดว่ารัฐมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอเพื่อใช้บริหารประเทศ Covid-19 เป็นตัวบอกเราว่าบางครั้งต่อให้ใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพขนาดไหนก็อาจไม่พอ ผมไม่ได้บอกว่ารัฐไทยใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพนะครับ เปล่าเลย ผมคิดว่าเราใช้งบประมาณสิ้นเปลืองไปกับเรื่องไม่จำเป็นเยอะมาก ยิ่งในการต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้เราก็เห็นความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐในหลายๆเรื่อง
แต่ Covid-19 คือมหันตภัยที่ทำให้คนทั่วโลกต้องหยุดกิจกรรมที่เคยทำมา ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต และมีคนอีกมหาศาลที่ป่วยเข้าโรงพยาบาล ต้องกักตัวเอง จนเกินกำลังที่ทรัพยากรของรัฐจะสามารถจัดการได้
หากรัฐคือตัวแทนของประชาชน ณ ขณะนี้แม้งบประมาณมหาศาลก็อาจเอาโรคนี้ไม่อยู่ หากเราบอกว่ารัฐมีขึ้นเพื่อดูแลประชาชน ถ้าสุดท้ายรัฐพังพาบไปแล้วก็ต้องเป็นประชาชนมาช่วยกัน
การช่วยในที่นี้มีหลากหลายนะครับ ช่วยกันเย็บหรือบริจาคหน้ากากอนามัย ช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยอุดหนุนร้านอาหารรายย่อยให้เขายังอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤต ฯลฯ ทำอะไรได้ก็ทำไปตามกำลังอำนวย
ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะช่วยเหลือกันโดยไม่ตั้งคำถามกับรัฐนะครับ เราสามารถช่วยผู้อื่นไปด้วยพร้อมกับตั้งคำถาม ด่า วิพากษ์วิจารณ์มาตรการต่างๆของรัฐ กระตุ้นให้รัฐทำสิ่งที่ตัวเองควรจะทำในเวลาวิกฤตนี้
ประชาชนต้องช่วยเหลือกัน แต่เราจะไม่ปล่อยให้รัฐลอยนวลครับ
โฆษณา