31 มี.ค. 2020 เวลา 12:25 • สุขภาพ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้แจงการตรวจ Covid-19 ทางห้องปฏิบัติการ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ชี้แจงถึงการตรวจหาเชื้อ Covid-19 โดยสามารถตรวจหาได้ทั้งตัวเชื้อไวรัส และตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ ซึ่งระยะเวลาตรวจที่ให้ผลแม่นยำคือ
👉 ตรวจหาเชื้อไวรัส หลังจากได้รับเชื้อ 5-7 วัน
👉 ตรวจหาภูมิคุ้มกัน หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือหลังติดเชื้อแล้ว 10-14 วัน
🦠การตรวจหาเชื้อไวรัส
แบ่งเป็น 3 วิธี คือ
1️⃣ ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธี Real-time PCR (RT-PCR)
เป็นวิธีที่มีความไว และมีความจำเพาะสูง สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสได้แม้ในปริมาณน้อย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และเพื่อติดตามผลการรักษา
2️⃣ เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน
3️⃣ ตรวจหา Antigen ของเชื้อไวรัส
🦠ตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody ชนิดIgM หรือ IgG)
Rapid test
ตรวจหาภูมิคุ้มกันโดยใช้วิธีทดสอบ Rapid test (ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว) ทราบผลภายใน 15 นาที
จะตรวจพบภูมิคุ้มกันได้ หลังจากมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน
📍ดังนั้นในช่วงแรกของการติดเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจ rapid test จะให้ผลลบ (Negative)
แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อ Covid-19 เพราะช่วงเวลาดังกล่าวร่างกายยังไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (window period) โดยธรรมชาติของร่างกาย เมื่อได้รับเชื้อ จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการ ประมาณ 5-7 วัน
📍ชุดตรวจ Rapid test สำหรับการตรวจหา Covid-19 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายทั่วไป เพราะมีความยุ่งยากในการแปลผล และสรุปผล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจอื่นๆที่กำลังเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจอะไรใหม่ๆ สิ่งที่ต้องคิดเสมอคือ
✔️วิธีตรวจนั้นได้ผลหรือไม่
✔️มีความแม่นยำเที่ยงตรงหรือไม่
✔️ได้มาตรฐานหรือไม่
ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจประเมินอยู่ขณะนี้ วิธีการตรวจแต่ละวิธีจะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตรวจ ตามดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับการตรวจเชื้อ Covid-19 หากมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีแผนพัฒนาให้มีห้องปฏิบัติการตรวจ รวมแล้ว 97 แห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งรองรับการตรวจในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด ซึ่งรองรับการตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน เช่นกัน
โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการประเมินแล้ว 57 แห่ง และอยู่ระหว่างการประเมินและกำลังจัดตั้งอีก 40 แห่ง คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ จะครบตามเป้าหมาย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
👉ข้อควรระวังในการแปลผลการตรวจ Rapid test (ชุดตรวจอย่างรวดเร็ว) กรณีตรวจการติดเชื้อ Covid-19
1. การแปลผลของชุดตรวจจากแต่ละบริษัท มีประสิทธิภาพในการตรวจแตกต่างกัน โดยชุดตรวจแต่ละชุด จะมีค่าสำคัญ 2 ค่า ที่ต้องนำมาพิจารณา คือ ค่าความไว (sensitivity) และค่าความจำเพาะ (specificity)
ค่าความไว (sensitivity หรือ clinical sensitivity)
เป็นค่าที่แสดงถึงความแม่นยำของการตรวจ ค่านี้จะแสดงค่าเป็นร้อยละ (%) อธิบายได้ดังนี้คือ
หากชุดตรวจระบุค่าความไว (sensitivity) เท่ากับ 80% หมายความว่า เมื่อนำผู้ติดเชื้อจริงมา 100 คน ชุดตรวจนี้จะให้ผลบวก(positive) จำนวน 80 คน และให้ผลลบลวง (false negative) จำนวน 20 คน (ติดเชื้อจริง 100 คน แต่ตรวจไม่พบเชื้อ 20 คน)
ค่าความจำเพาะ (specificity หรือ clinical specificity)
เป็นค่าที่แสดงถึง ความแม่นยำ ในการตรวจคนปกติ (ผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ) ค่านี้จะแสดงเป็นร้อยละ (%) เช่นกัน อธิบายได้ดังนี้
หากชุดตรวจระบุค่าความจำเพาะ (specificity) เท่ากับ 90% หมายถึง เมื่อนำคนปกติมาตรวจหาเชื้อจำนวน 100 คน ชุดตรวจนี้จะให้ผลลบ (negative) จำนวน 90 คน และให้ผลบวกลวง (false positive) จำนวน 10 คน (คนปกติ 10 คนไม่ได้ติดเชื้อแต่ชุดตรวจให้ผลว่าติดเชื้อ)
ดังนั้น ชุดตรวจจะให้ผลการตรวจผิดพลาดหรือน้อย จึงขึ้นอยู่กับ ค่าความไว (sensitivity) และค่าความจำเพาะ (specificity) ซึ่งชุดตรวจที่มีค่าความไวและความจำเพาะเข้าใกล้ 100% จะมีความผิดพลาดในการตรวจน้อยลง
อีกประการหนึ่งที่พึงระวังคือ 👉
ในการแปลผลการตรวจหา แอนติบอดี (antibody) ควรคำนึงถึงปฏิกิริยาข้าม (cross reaction) กับเชื้อโรคอื่นที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะให้ผลบวกปลอม (false positive)ได้
โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตจะต้องพิสูจน์ว่า ชุดตรวจ COVID 19 ที่ผลิตขึ้นไม่ให้ผลบวกปลอม กับเลือดผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน
ผู้ที่ทำการตรวจต้องศึกษารายละเอียดทุกอย่างให้ชัดเจนก่อนทำการแปลผลตรวจ
การทดสอบอาจให้ผลบวกปลอม หรือผลลบปลอม ได้ ดังนั้น
ดังนั้นในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อด้วยอาการทางคลินิก และชุดตรวจให้ผลลบ
ควรมีการตรวจซ้ำและตรวจยืนยันด้วยเทคนิค RT-PCR และในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและให้ผลเป็นลบ อาจมีการตรวจซ้ำในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา หรือตรวจยืนยันด้วยเทคนิค RT-PCR
➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖➖
ความแตกต่างที่สำคัญ ระหว่าง "ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR" กับ "ตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือดด้วยวิธี rapid test"
ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR
- ถ้าติดเชื้อ สามารถตรวจเจอเชื้อได้ตั้งแต่ 1-7 วันแรกที่ติด คนติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการในช่วงนี้ ดังนั้นวิธีนี้จะช่วยให้สามารถเจอเชื้อได้ถึงแม้ยังไม่มีอาการ
- เป็นวิธีที่หาเชื้อไวรัสโดยตรง แปลผลไม่ยุ่งยาก
- ผลบวกก็คือมีไวรัส
- ผลลบคือไม่มีไวรัส หรือมีน้อยจนวัดไม่ได้
- ข้อเสีย คือรอผลนาน คนทำแลปเหนื่อย ต้องใช้ equipment ราคาหลักล้าน
- ข้อดี คือ ได้ผลชัดเจน ไม่คลุมเครือ เป็นวิธีสุดท้ายยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ และยังเป็นวิธีติดตามผลการรักษาว่าร่างกายขจัดเชื้อออกได้หมดหรือยัง
ตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือดด้วยวิธี rapid test
- เป็นวิธีหาว่าร่างกายสร้างภูมิคุมกันหรือยัง ซึ่งต้องมีการติดเชื้อก่อน และร่างกายสามารถสร้างภูมิได้
- ถ้าติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน 2 แบบ
- แบบแรกชื่อ IgM เหมือนทัพหน้า จะมีปริมาณสูงพอที่จะตรวจได้ประมาณวันที่ 7 หลังติดเชื้อ
- แบบสองชื่อ IgG เหมือนทัพหลวง จะมีปริมาณสูงพอที่จะตรวจเจอประมาณวันที่ 14 หลังติดเชื้อ
- จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเจอได้หลังติดเชื้อมาแล้วเกิน 7 วัน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีอาการแล้ว
- ถ้าตรวจด้วยวิธีนี้เร็วเกินไปตั้งแต่ติดเชื้อแรกๆจะแปลผลยาก
- หากผลบวก คือเจอ IgM หรือ IgG ต้องส่งไปตรวจ RT-PCR อีกที
- หากผลเป็นลบ แยกไม่ออกว่า ติดเชื้อแต่ไม่มีภูมิ หรือ ไม่ติด ก็ต้องเฝ้าดูอาการต่อไป
- ข้อเสีย แปลผลยาก สุดท้ายก็ต้องไปจบที่ RT PCR เพื่อยืนยัน แต่อาจจะทำให้คนที่ตรวจได้ผลลบชะล่าใจได้ คนมาตรวจต้องเฝ้าระวังตัวเองต่อไปอยู่ดีถึงแม้ได้ผลลบ
- ข้อดี ง่าย และเร็ว
เมื่อดูจากข้อดีข้อเสียแล้ว องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่า สำหรับโรคระบาดใหม่ การวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อให้ใช้วิธีแบบ RT-PCR เป็นหลัก พอการระบาดจบ วิธีตรวจภูมิคุ้มกันจะช่วยในการติดตามและเก็บข้อมูลทางด้านระบาดวิทยา
สรุป ทั้งสองวิธี เหมาะกับ คนละสถานการณ์ แต่ตอนนี้ควรช่วยกันให้คนไทยเข้าถึง RT-PCR ให้มากที่สุด โดยการเพิ่มชุดตรวจ เพิ่มน้ำยาสกัด เพิ่มเครื่อง และเพิ่มบุคลากร เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วและมากที่สุด และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นในวงกว้าง
โฆษณา