1 เม.ย. 2020 เวลา 01:02 • ประวัติศาสตร์
Creeping Barrage ความตายที่คืบคลานอย่างช้าๆ
อย่างที่ทราบกันดีว่าการรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเป็นสงครามสนามเพลาะ ต่างฝ่ายต่างก็สร้างที่มั่นแข็งแรง การจะยึดสนามเพลาะอีกฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก
กุญแจสู่ชัยชนะของการรบแบบนี้คือ "ปืนใหญ่" ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยิงทำลายที่มั่นข้าศึก ยุทธวิธีการรบหลักๆจึงเป็นการใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายสนามเพลาะข้าศึกแล้วใช้ทหารบุกเข้าไป
1
แต่นานวันเข้าเมื่อที่มั่นข้าศึกแข็งแรงมากขึ้น ตามสนามเพลาะแนวหน้าของเยอรมันมักมีป้อมคอนกรีตตั้งอยู่รวมถึงหลุมหลบกระสุนปืนใหญ่ให้ทหารเข้าไปหลบระหว่างการระดมยิง พอปืนใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตรหยุดยิงก็ออกมาจากที่หลบภัยเข้าประจำที่ กว่าทหารสัมพันธมิตรจะฝ่าเครื่องกีดขวางและวิ่งข้ามเขตปลอดทหารมา ทหารเยอรมันก็มีเวลาเสริมแนวป้องกันที่ขาดหายไปและตอบโต้การโจมตีได้ทัน
1
หลังจากสูญเสียมามาก ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้เปลี่ยนยุทธวิธีการรบใหม่ด้วยการใช้ปืนใหญ่สนับสนุนอย่างใกล้ชิด การยิงแบบนี้เรียกว่า Creeping Barrage
ด้วยการยิงปืนใหญ่เป็นฉากกำบังทหารราบ โดยเริ่มยิงจากเขตปลอดทหาร จากนั้นก็ขยายม่านการยิงไปเรื่อยๆจนถึงสนามเพลาะข้าศึก ระหว่างที่ปืนใหญ่กำลังยิงทหารก็จะเคลื่อนที่ตามการยิงไปข้างหน้า การยิงแบบนี้นอกจากจะช่วยทำลายเครื่องกีดขวางระหว่างทางแล้ว ฝุ่นควันที่เกิดจากการระเบิดยังช่วยอำพรางทหารที่กำลังบุกไปด้วย
ทางด้านฝั่งเยอรมันเองจะเห็นการระเบิดและกลุ่มควันค่อยๆขยับเข้ามาหาอย่างช้าๆจนกระทั่งถึงที่มั่น พอการระดมยิงหยุดลงทหารสัมพันธมิตรก็จะมายืนอยู่หน้าตนพอดี ไม่มีเวลาสำหรับลุกออกจากที่หลบระเบิดแล้วมาจัดแนวใหม่ ไม่มีเวลาสำหรับกำลังเสริมจากสนามเพลาะด้านหลังด้วย
1
หลังจากวางแผนกันมาอย่างดีแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้ทดสอบแผนการนี้ในการรบที่ somme แต่พอมีการเอามาใช้จริงกลับมีปัญหาหลายอย่าง
อย่างแรกเลยคือการขยายม่านการยิงที่เร็วเกินไปทำให้ทหารราบวิ่งตามไม่ทัน ปืนใหญ่ยิงเสร็จแล้วทหารยังไปไม่ถึงแนวข้าศึก
ปัญหาต่อมาคือทหารกลัวปืนใหญ่ฝ่ายตนเอง ทำให้ทิ้งระยะห่างของการระเบิดมาก
ปัญหาที่สำคัญที่สุดเลยคือการสื่อสาร ซึ่งการรบสมัยนั้นยังไม่ใช้วิทยุ การสื่อสารหลักยังคงเป็นโทรศัพท์สนามที่ต้องลากสายทำให้พกพาไปไม่ได้ นายทหารในสนามรบจึงไม่ได้ประสานงานกับปืนใหญ่อันเป็นหัวใจของการรบแบบนี้
วิทยุสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีขนาดใหญ่และยังมีประสิทธิภาพต่ำทำให้โทรศัพท์สนามเป็นที่นิยมมากกว่า
หลังจากสิ้นเสียงระเบิดครั้งสุดท้ายลง ทหารเยอรมันก็กรูกันออกมาจากที่หลบระเบิดเข้าประจำที่แล้วตั้งปืนกล ระดมสาดยิงไปยังทหารสัมพันธมิตรที่ยังคงวิ่งอยู่ในเขตปลอดทหาร ผลก็คือทหารสัมพันธมิตรถูกยิงล้มตายไปมากจนต้องถอยทัพกลับ
หลังจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นจึงได้มีการปรับปรุงแผนให้ดีขึ้น ม่านการยิงจะถูกกำหนดอย่างชัดเจน ต้องมีการเขียนแผนที่อย่างละเอียด นัดแนะกับทหารที่จะทำการบุก แม้ว่าจะไม่มีเวลาสำหรับการฝึกซ้อมแต่การนำไปใช้ครั้งต่อๆมาก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากขึ้น
แผนที่แสดงม่านการยิง
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุทธวิธีการรบแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีให้เห็นเพราะส่วนมากจะใช้รถถังในการบุกมากกว่า แต่ก็ยังคงมีการนำมาใช้ในสมรภูมิบางแห่ง วิวัฒนาการของวิทยุสื่อสารทำให้ชี้เป้าปืนใหญ่ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แผนมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
ปลอกกระสุนขนาด 105มม. มากมายจากการระดมยิงที่มั่นเยอรมัน
โฆษณา