การถ่ายเลือด (Phlebotomy) วิธีการจะคล้ายกับการบริจาคเลือด แพทย์หรือพยาบาลจะใช้เข็มเจาะที่เส้นเลือดบริเวณแขนแล้วถ่ายเลือดออกจากร่างกาย เพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่มีจำนวนมากเกินไป โดยจะรักษาทุกสัปดาห์ หากอาการดีขึ้นจะลดลงเหลือทุก ๆ 6-12 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น จนกว่าผู้ป่วยจะมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงไปจากเดิมประมาณ 45% ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าหลังการถ่ายเลือด และเส้นเลือดอาจได้รับความเสียหายหากมีการถ่ายเลือดหลายครั้ง
การใช้ยา เมื่อผู้ป่วยมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงแล้ว แพทย์อาจจะให้รับประทานยาเพื่อชะลอการทำงานของไขกระดูกในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
ยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย หรือใช้ในการป้องกันและรักษาผู้ที่มีภาวะม้ามโต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดข้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย มีผื่นคัน เป็นต้น
ยาอินเตอร์เฟอรอนอัลฟ่า (Interferon-Alpha) เป็นยาที่ใช้ชะลอการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จากการใช้ยา เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นยาต้านเกร็ดเลือด ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น อาการแสบร้อนที่มือและเท้า อาการคัน อาการปวด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้จากการใช้ยาเป็นประจำทุกวัน เช่น เลือดออกมาก โดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร หรือส่วนอื่น ๆ ของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นและอยู่ในระหว่างการรักษาสามารถดูแลตัวเองที่บ้านให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการยืดร่างกายโดยเฉพาะที่บริเวณขาและข้อเท้า เพื่อให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้ดีขึ้นและช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดได้
หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวและอาการคันตามผิวหนัง หากเกิดอาการคันสามารถทาครีมบำรุงหรือใช้ยาต้านฮีสตามีนได้ และไม่ควรเกาเพราะอาจทำให้เกิดแผลหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางผิวหนัง
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้ร่างกายหนาวหรือร้อนมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันอาการเลือดข้นขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของเลือดข้น
ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นในระดับไม่รุนแรงอาจไม่มีภาวะแทรกซ้อนในอนาคต หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามกำหนด จนสามารถควบคุมอาการได้แล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นแบบ Polycythaemia Vera อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ม้ามโต มัยอีโลไฟโบรซิส (Myelofibrosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ไขกระดูกทำงานลดลงไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดได้ตามปกติ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย (Leukemia) ได้ เป็นต้น และภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ อาจทำให้เสียชีวิตได้ก่อนวัยอันควร