2 เม.ย. 2020 เวลา 15:20 • ประวัติศาสตร์
รู้หรือไม่ “ธนบัตร” ราชสำนักจีนเป็นรัฐบาลแห่งแรกของโลกที่รู้จักเลือกใช้
นักวิชาการบางท่านเสนอว่าประวัติความเป็นมาของเงินกระดาษจริงๆ อาจย้อนกลับไปไกลถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น หรือมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “เงินบิน” สมัยราชวงศ์ถัง แต่นั่นก็นับได้ว่าเป็นการใช้แบบชั่วคราว ทันทีทันด่วนเพื่อความสะดวกสบาย ไม่ได้มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิอย่างจริงๆ จังๆ
แวดวงประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเงินตรา (Numismatist) จึงยอมรับกันว่าประวัติศาสตร์ของเงินกระดาษหรือที่เรียกกันว่า “ธนบัตร (Banknote)” มีจุดเริ่มต้นขึ้นในสมัย “ราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty)” ของจักรวรรดิจีน ทั้งยังมีหลักฐานแม่พิมพ์ธนบัตรหลงเหลือถึงปัจจุบัน
ทุกๆ ชุมชนทั่วมุมโลก เมื่อมนุษย์ดำรงชีพแบบพึ่งพากันในสังคม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการและสรรหาสิ่งที่ตนเองไม่มี จึงมีการพัฒนาระบบเงินตราโดยกำหนดให้ใช้สินแร่หายาก เช่น เหล็ก ทองแดง เงิน ทองคำ เพราะมนุษย์เห็นค่าของแร่เหล่านี้ในตัวของมันเอง แร่ทั้งหลายจึงกลายเป็น ‘ตัวกลาง’ ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายในชุมชน ขยับสเกลให้ใหญ่ขึ้นก็เป็นระดับรัฐ
แม้ว่าบางหนสินแร่จะไม่ถูกนำมาใช้เป็นเงินตรา อย่างน้อยที่สุดก็ถูกนำมาหลอมใช้เป็นภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังมีประโยชน์มหาศาลต่อสังคมที่ปกครองรูปแบบนครรัฐ คือ การนำมาทำเป็นอาวุธ เพื่อใช้รบราฆ่าฟันในการขยายอิทธิพลของพวกพ้องตนเองตามวิสัยปกติของมนุษย์ที่ถวิลหาความเป็นนัมเบอร์วัน
เดิมทีจีนใช้แร่ทองแดงในการหลอมเป็นเงินตรา แต่ที่ทราบกันดีในประวัติศาสตร์ว่า หลังต้าถังล่มสลายโดยมีจักรพรรดิถังไอตี้เป็นโอรสสวรรค์แซ่หลี่คนสุดท้าย จักรวรรดิจีนก็แตกแยกเป็นก๊กเล็กก๊กน้อยอย่างที่เคยเกิดในอดีต เรียกว่า “ยุค 5 ราชวงศ์ 10 อาณาจักร (Five Dynasties and Ten Kingdoms)” ก่อนที่จ้าวควางยิ่นจะก่อรัฐประหารล้มล้างราชวงศ์โฮ่วโจว ราชวงศ์สุดท้ายในบรรดา 5 ราชวงศ์ ทั่วแผ่นดินจีนมีอาณาจักรยิบย่อยเต็มไปหมด ระบบการเงินท่ามกลางสงครามจึงเป็นไปตามปัจจัยของแต่ละอาณาจักร บางแห่งขาดแคลนทองแดง จึงเลือกใช้แร่เหล็ก
เมื่อจ้าวควางยิ่นปราบดาภิเษกเป็นโอรสสวรรค์ รู้จักกันในพระนาม “จักรพรรดิซ่งไท่จู่ (Song Taizu Emperor)” ปฐมฮ่องเต้สถาปนาราชวงศ์ซ่งเหนือ และทำการกำราบอาณาจักรอิสระให้เข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต้าซ่ง (Song Empire) เมื่อแผ่นดินเป็นปึกแผ่นในคราแรก ราชสำนักยังไม่ว่างพอที่จะมาปฏิรูประบบเงินตรา จึงกำหนดให้แต่ละแคว้นใช้ระบบดั้งเดิมของตนเองไปก่อน
รัฐบาลต้าซ่งวางแผนระยะยาวไว้ว่า จะยกเลิกเงินเหล็กแล้วหันกลับมาใช้เงินทองแดงทั่วจักรวรรดิให้หมด ในขณะนั้นเองดินแดนแถวซื่อฉวน หรือมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เป็นบริเวณที่ไม่ค่อยสงบเท่าไรนัก มักมีมาเฟียท้องถิ่นก่อหวอดสร้างความเดือดร้อนให้ทางการอยู่เนืองนิจ ฮ่องเต้จึงมีนโยบายพิเศษด้านการเงิน โดยให้เฉพาะเขตซื่อฉวนใช้เงินเหล็ก ห้ามมีการใช้เงินทองแดงภายในแคว้นนี้โดยเด็ดขาด ด้านหนึ่งก็เพื่อประหยัดแร่ทองแดงที่ขาดแคลน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เพื่อลดอิทธิพลท้องถิ่นด้วยลูกไม้เล่นค่าเงิน จงใจให้เงินซื่อฉวนลดค่าลงเรื่อยๆ
ส่วนแว่นแคว้นอื่นๆ ถ้ายังปล่อยให้ค้าขายได้เสรี ย่อมมีปัญหาเงินทองแดงเล็ดลอดในแคว้นซื่อฉวนเป็นแน่แท้ ขณะเดียวกันก็มีเงินเหล็กเข้ามาปะปนในแคว้นที่ใช้ทองแดง แคว้นซื่อฉวนมีอุปสรรคในการเดินทาง ทำให้การขนส่งเงินตรามีความลำบากยุ่งยาก ยิ่งเงินเหล็กถูกลดค่าลงไปเท่าไร แร่เหล็กที่มีน้ำหนักมากก็ถูกนำไปหลอมโดยเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นอีกเช่นกัน กลับกลายเป็นว่าการซื้อขายโดยใช้เหล็กเป็นสื่อกลางเป็นภาระหนักอึ้งของกลุ่มเอกชน
เหล่าเจ้าสัวคหบดีก็มีไอเดียบรรเจิด ใช้นโยบายเอาเงินเหล็กมาฝากไว้กับร้านแลกเงิน แล้วทางผู้ให้บริการจะออกเอกสารกระดาษให้ ซึ่งสามารถนำเอกสารฉบับนี้ไปซื้อขายแทนเงินตรา วันหลังเกิดมีใครนำเอาเอกสารนี้มาเบิกที่ร้าน ผู้รับฝากก็จะจ่ายเงินเหล็กให้กับผู้ขอเบิกไป
ระยะแรกจะใช้กับจำนวนเงินก้อนโตๆ เหล่าร้านรับฝากเงินก็ทำกำไรและเก็บส่วนต่างจากการฝากถอน เงินกระดาษนี้จะว่าไปก็ดูเหมือน “ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note)” เสียมากกว่า ในสมัยต้าซ่งเรียกว่า “เจียวจึ (Jiaozi : 交子)” ต่อมามีการใช้อย่างแพร่หลาย ร้านฝากเงินจึงทวีสาขาขึ้นเป็นดอกเห็ดตามความต้องการของลูกค้า ฝากที่หนึ่งก็ขอเบิกถอนได้อีกแห่งหนึ่ง
เจียวจึ - ธนบัตรฉบับแรกของโลก เดิมทีเป็นเหมือนตั๋วสัญญาใช้เงิน ใช้ในเฉพาะแคว้นซื่อฉวน
เมื่อสังคมเอกชนจีนหันมาเลือกใช้เงินกระดาษ แน่นอนย่อมมีโอกาสถูกปลอมแปลง จึงมีการประดิษฐ์แม่พิมพ์ที่มีลวดลายพิมพ์ลงบนกระดาษ สร้างสัญลักษณ์ให้มีความซับซ้อน ยากต่อการเลียนแบบ นานวันเข้ายิ่งต้องรู้จักรัดกุมให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มเครดิตความไว้วางใจ เมื่อใครต่อใครนิยมใช้ ก็มีการพิมพ์ออกมาในรูปแบบสำเร็จรูป กล่าวคือ ไม่ได้ระบุยอดเฉพาะครั้งไป แต่มีการระบุยอดตายตัวต่อใบแล้วจัดพิมพ์ออกมาปริมาณมากนั่นเอง
เมื่อมีการปฏิรูปปฏิวัติเกิดอะไรใหม่ๆ ย่อมต้องมีปัญหาตามมาเป็นขบวน เถ้าแก่บางคนก็เบี้ยวหนี้ แกล้งปิดกิจการล้มบนฟูก เกิดการฟ้องร้องมีคดีความต่างๆ วอนขอร้องให้ทางการช่วยมาจัดการให้ความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามภาระก็ตกที่หน่วยงานบ้านเมืองเพราะตอนแรก ระบบเงินกระดาษยังไม่ถูกราชการรองรับ
รัฐบาลส่วนกลางหัวใส เริ่มเล็งเห็นผลประโยชน์และข้อดีของเงินกระดาษ ต่อมาไม่นานราชสำนักซ่งก็เข้ามาเป็นสถาบันส่วนกลางรองรับเครดิตเงินกระดาษเสียเอง เงินกระดาษจึงเข้าสู่ยุคของธนบัตรอย่างแท้จริงนับแต่บัดนี้ และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ว่า เศรษฐกิจจีนสมัยราชวงศ์ซ่งมีความเฟื่องฟู เงินแพร่สะพัดมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ถึงขนาดที่ว่าองค์จักรพรรดิสามารถประนีประนอมกับรัฐต่างเผ่าพันธุ์ต่างภาษาด้วยการทำตัวเป็น ‘ลูกพี่สายเปย์’ ต้าซ่งมักยอมจ่ายบรรณาการให้กับพวกชนชาตินอกแผ่นดินจงหยวนภาคกลางเพื่อแลกกับสันติสุขเป็นประจำ ก็เพราะงบท้องพระคลังที่ล้นเหลือจึงสามารถช่วยจักรวรรดิให้ผ่านพ้นวิกฤตจากผู้รุกรานด้วยประการฉะนี้เอง
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเขียนขึ้นจากการเรียบเรียงของแอดมิน สงวนสิทธิ์ห้ามคัดลอกก่อนได้รับอนุญาต แต่สามารถกดแชร์ได้อย่างอิสระครับ
เจมส์ เซิ่งจู่
แฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน
โฆษณา