3 เม.ย. 2020 เวลา 11:21 • ปรัชญา
Literature Review รีวิวหนังสือดี : มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ (Musashi - Sword of mindfulness)
เขียน : โยชิคาว่า เอจิ (Yoshikawa Eiji)
แปล/เรียบเรียง : สุวินัย ภรณวลัย
สำนักพิมพ์ : Openbooks
1
ถ้าจะกล่าวถึงซามูไรผู้ที่เป็นตำนานของแดนอาทิตย์นั้น ผมมั่นใจว่าก็มีไม่กี่ชื่อที่คุณจะนึกออก ไม่ว่าจะเป็น ตระกูลยางิว, 47 โนริน กลุ่มโรนินผู้จงรักภักดีต่อนายเพียงผู้เดียว, โอดะ โนบุนางะ ไดเมียวผู้เด็ดเดี่ยว แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อของ มิยาโมโตะ มูซาชิ ซามูไรแสวงพ่าย กล่าวคือทั้งชีวิตของเขา ไม่เคยแพ้การดวลเลยสักครั้ง อ้างอิงจากหนังสือที่เขาเขียนขึ้นคือ คัมภีร์ห้าห่วง หรือ The book of five rings (Go Rin No Sho)
1
แต่สาเหตุอะไรล่ะ ที่ทำให้เขาไม่เคยพ่ายแพ้ เขาเป็นเลิศในเชิงดาบหรือ หรือเขาช่างเป็นซามูไรที่แข็งแกร่งที่สุด
ที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เลยครับ เขาเป็นเพียงโรนิน หรือ ซามูไรไร้นาย ที่ไม่อาจได้รับการยอมรับจากใครๆได้เลย แต่เหตุฉะไหน โรนินผู้เดียวดายคนนี้ จึงเป็นตำนาน
นั่นเป็นเพราะ เขาเข้าถึงมรรคาแห่งดาบโดยแท้จริง และรู้จักการวางกลยุทธ์ในการต่อสู้ก่อนทำการสู้ หมายความว่า สำหรับมูซาชิ การต่อสู้นั้นเริ่มขึ้นก่อนที่จะสู้เสียด้วยซ้ำ และรู้จักการใช้พื้นที่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้เป็นประโยชน์ ดังเช่นที่ขงเบ้งเคยใช้กลยุทธ์นี้ในศึกทุ่งพกบ๋อง ถือเป็นศึกแจ้งเกิดของขงเบ้ง ที่รู้จักการใช้ธรรมชาติ ทดแทนกำลังของกองทัพ ทำให้ทัพเล่าปี่ที่พลน้อยกว่า สามารถต้านทัพใหญ่ของโจโฉได้
หนังสือเล่มนี้อ่านได้ในรูปแบบของนิยาย มิใช่อัตชีวประวัติของมูซาชิ ทำให้เราได้ซึมซาบถึงอารมณ์ของมูซาชิในแต่ละช่วงตอนได้อย่างออกรส และสามารถนำมาเทียบกับอารมณ์ในขณะใดๆของเราก็ได้ ว่าตรงกับสถานการณ์ไหนที่มูซาชิเผชิญ
เนื้อหาในหนังสือมี 6 บท ตามธาตุห้าในศาสนาพุทธ นิกายเซน (สอนให้ใช้ชีวิตเชื่อมโยงสอดรับกับธรรมชาติ) นั่นคือ ภาคดิน น้ำ ลม ไฟ สุญญตา(ความว่างเปล่า) และ ภาครู้แจ้ง
เรื่องราวของหนังสือ เริ่มต้นด้วยการพ่ายแพ้ของฝ่ายอิชิตะ ในศึกทุ่งเซกิงาฮาระ ทำให้โทคุงาวะ อิเอยาสุ ได้ขึ้นเป็นโชกุน มูซาชิ ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อเดิมคือ ชินเม็ง ทาเคโซ ที่ตอนนั้นอายุเพียง 17 ปี อยู่ฝ่ายอิชิดะ จึงพ่ายแพ้ และต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน ระหว่างทาง จึงพลั้งมือฆ่าทหารที่จะมาจับเขาไปหลายคน จนกระทั่งพระเซนคนหนึ่งคือ ท่านทากุอัน ได้จับมูซาชิมาลงโทษได้สำเร็จ (เรียกว่าสอนมวยดีกว่า ด้วยลีลาแห่งธรรมมะ) จากนั้น ท่านทากุอันจึงให้โอกาสมูซาชิได้ปรับตัวในขณะที่ต้องโทษจองจำในปราสาทฮิเมจิ 3ปี โดยให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมมะและตำราพิชัยสงครามที่ท่านได้ยืมมาให้มูซาชิศึกษา เพื่อที่จะได้เกิดใหม่ออกมาเป็นซามูไรที่น่าภาคภูมิ
ใช่หรือไม่ ในยุคที่เราอาศัยอยู่ ก็มีความโกลาหล ความเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งที่สูงยิ่ง ไม่ต่างจากยุคของมูซาชิเลย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เราจึงควรศึกษาเรื่องราวของมูซาชิ ว่าเหตุใดเขาจึงสร้างตัวตนขึ้นมาในยุคที่แสนวุ่นวาย ดังที่คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กล่าวไว้ในหนังสืออันเลื่องชื่อของเขา FUTURE หรือ ปัญญาอนาคต (ไปซื้ออ่านได้นะครับ แนะนำสุดชีวิตเลย)
เมื่อมูซาชิพ้นโทษ เขาเหมือนได้เกิดใหม่ จากทหารเลว สู่ซามูไรที่พร้อมจะออกไปเผชิญโลกภายนอก เขาได้รับชื่อใหม่กลายเป็น มิยาโมโตะ มูซาชิ เขาได้ตัดสินใจไปพเนจรเพื่อค้นหาและศึกษาวิถีแห่งดาบ ฝึกฝนดาบด้วยตัวเองในป่าเขา มีครูคือฟ้าและดิน วิถีดาบของเขาจึงยากจะคาดเดา เพราะมิได้มาจากสำนักใด ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นคนที่ไม่ติดตำรา ไม่ยึดติดกับวิชาดาบที่สืบทอดกันมาของใครต่อใคร นี่เป็นบทเรียนที่เราพึงระลึกไว้เสมอ นั่นคือ การไม่ติดตำรา ดั่งที่ในหลวงรัชกาลที่9 ได้ตรัสเอาไว้
วิชาดาบของเขาจึงได้รับการขนานนามว่า นิเท็น อิจิริว หรือ ฟ้าคู่ดิน รวมเป็นหนึ่ง (Niten Ichi-ryū ; 二天一流) ซึ่งต่อมา ได้พัฒนาไปสู่การใช้ดาบคู่ ซึ่งเป็นการคิดนอกกรอบโดยสิ้นเชิง เพราะปกติซามูไรจะใช้ดาบเล่มเดียวในการต่อสู้
ในชีวิตหลังการเกิดใหม่ของเขา เขาได้ประมือกับผู้มีฝีมือหลายคน และนอกจากวิชาดาบแล้ว เขานั้นยังศึกษาศาสตร์อื่นเช่น การชงชา การเขียนภาพ การเขียนพู่กัน หรือการเล่นดนตรี เพราะเขาเชื่อว่าวิถีดาบนั้น สามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นได้ทุกแขนง และทุกศาสตร์ จะมาบรรจบกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อนั้น เขาก็รู้แจ้งถึงความหมายของมรรคาแห่งดาบ และวางใจให้เป็นน้ำ หรือมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้
เราจะได้เห็นพัฒนาการของเขาผ่านเรื่องราวและการต่อสู้ ซึ่งจะขัดเกลาให้เขาเติบโตและเด็ดเดี่ยว แม้จะเดียวดาย
ในศึกครั้งสำคัญของเขา การดวลระหว่างซาซากิ โคจิโร่ นักดาบยอดฝีมือแห่งแผ่นดินที่เกาะฟุเนชิม่า ผู้ใช้ดาบยาวอันเป็นเอกลักษณ์ ก่อนการประลอง มูซาชิหายตัวไปอย่างลึกลับ เพื่อไปทบทวนกระบวนท่าทั้งหมดของเขา และทำจิตใจให้ว่าง ในขณะที่โคจิโร่ ต้องรับแขกบ้านแขกเมือง ทำให้จิตใจเขากระวนกระวาย
มูซาชิตั้งใจไปที่ประลองสาย เพื่อให้โคจิโร่กระวนกระวาย แม้โคจิโร่จะรู้กลนี้ดี แต่ก็มิวายหวั่นไหวไปกับกลยุทธ์ของมูซาชิ ในขณะที่นั่งเรือไปที่ประลอง เขาได้ใช้ดาบสั้นของเขาเหลาไม้พายให้กลายเป็นดาบยาวกว่าของโคจิโร่ เขาเลือกที่จะตั้งท่าให้วางดาบไม้ไว้ข้างหลัง เพื่อให้โคจิโร่คาดคะเนความยาวของดาบได้ มูซาชิชิงไหวชิงพริบเรื่องทิศทางลมและแดด และอาศัยเสี้ยววินาทีที่แดดแยงตา มูซาชิได้กระโดดฟาดหัวโคจิโร่ในเวลาเพียวชั่วอึดใจ
1
ในชั่วเวลาเพียงอึดใจเดียว การประลองก็รู้ผล ชื่อมูซาชิก็กลายเป็นตำนาน ก่อนออกจากลานประลอง เขาได้ทำความเคารพต่อร่างที่ใกล้ตายของโคจิโร่ ด้วยเหตุที่เขานั้น เป็นเหตุทำให้มูซาชิหมั่นฝึกฝนตนเองจนเป็นหนึ่งเดียวกับดาบ และฟ้าดินได้
และในที่สุดแล้ว วิชาดาบ นิเท็น อิจิริว เขาก็ได้พบความหมายที่แท้จริง
ดาบคู่ หาใช่สิ่งใด แต่คือดาบจริง และ ดาบใจ
หากสองดาบรวมเป็นหนึ่ง ก็ไม่ต่างอะไรจาก ฟ้า-ดิน รวมเป็นหนึ่ง
มูซาชิรู้ดี ในแง่ฝืมือ โคจิโร่เหนือกว่าเขา จึงเป็นสาเหตุให้มูซาชิ “เค้น” ศักยภาพในตัวออกมาได้
สุดท้ายนี้ วิถีดาบ ก็หาใช่สิ่งใดเลย นอกเสียจาก จิตใจ
เรื่องราวของมูซาชิในเล่มนี้ จบลงตรงที่ชัยชนะของมูซาชิ และเขาก็เดินจากไปสู่ท้องทะเลอันกว้างใหญ่เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะเขามี “ใจเป็นน้ำ” แล้วนั่นเอง
หนังสือเล่มนี้ เมื่อเทียบกับราคาที่แพงนิดๆ แต่สิ่งที่อยู่ข้างในนั้น มิอาจประเมินค่าได้เลย
ผมขอจบการรีวิวเพียงเท่านี้ ขอปิดท้ายด้วยวลีเด็ดของมูซาชิจาก คัมภีร์ห้าห่วง กล่าวว่า
“จงแสวงหาวิธีที่จะเปล่งพลังและศักยภาพของตัวเองออกมาจนถึงขีดสุด จงอย่ากลัวที่จะโดดเดี่ยว การฝึกฝนตนเองนั้นไม่มีวันสิ้นสุด และจงสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ”
เราต้องสู้ เมื่อรู้ว่าจะชนะ สวัสดีครับ
โฆษณา