ส่วนผู้สนับสนุนทฤษฎีสภาวะคงที่ เสนอคำอธิบายว่า การที่เอกภพขยายตัวนั้นเป็นเพราะมีอะตอมของไฮโดรเจนถูกสร้างขึ้นมาเป็นประจำ อะตอมของไฮโดรเจนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้เกิดจากกระบวนการที่พลังงานเปลี่ยนเป็นสสารตามทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ตามความสัมพันธ์ที่รู้จักกัน คือ E = mc2 (โดย E คือ พลังงาน m คือ มวลของสสาร และ c คือ อัตราเร็วของแสง)
2) การค้นพบควอซาร์ (quasar) ซึ่งเป็นวัตถุคล้ายดาว มีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กกว่ากาแล็กซี แต่มีพลังงานมากกว่า ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2505 และต่อมาก็มีการค้นพบควอซาร์อีกจำนวนมาก นักดาราศาสตร์เชื่อว่าอยู่แถบขอบนอกของเอกภพ ควอซาร์ที่ถูกค้นพบกำลังเคลื่อนที่หนีออกไปจากโลกด้วยความเร็วสูง นักดาราศาสตร์ที่สนับสนุนทฤษฎีบิกแบงเชื่อว่า ควอซาร์เกิดมาพร้อม ๆ กับการกำเนิดของเอกภพ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนทฤษฎีสภาวะคงที่ไม่มีคำอธิบายที่ดีของกำเนิดของควอซาร์
3) การค้นพบคลื่นรังสีพื้นหลังของเอกภพ (cosmic background radiation: CBR) ที่มีอุณหภูมิ 3 เคลวิน คลื่นรังสีนี้กระจายทั่วไปในเอกภพ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดที่สนับสนุนทฤษฎีบิกแบง
ปี พ.ศ. 2483 ยอร์จ กาโมว์ (George Gamow) และคณะนักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียได้ระบุว่า เอกภพในยุคเริ่มแรกมีความร้อนสูงมากและค่อย ๆ เย็นตัวลง ในเอกภพเกิดการแผ่รังสีที่เหลืออยู่ของเอกภพยุคเริ่มแรก และได้ทำนายว่า อุณหภูมิที่เกิดจากการแผ่รังสีนี้อยู่ระหว่าง 5–50 เคลวิน
ปี พ.ศ. 2491 ราฟ อัลเฟอร์ (Ralph Alpher) และโรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกา ได้ศึกษาผลงานของกาโมว์และคณะ และได้ทำนายว่า เอกภพกำลังขยายตัวและเย็นลงหลังจากที่มีอุณหภูมิสูงมาก และมีการแผ่รังสีอยู่ตลอดจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ปี พ.ศ. 2507–2508 อาร์โน เพนเซียส (Arno Penzias) และโรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกา ได้ค้นพบคลื่นรังสีความร้อนพื้นหลัง ซึ่งเป็นการพิสูจน์คำทำนายของกาโมว์และอัลเฟอร์ที่ว่า การแผ่รังสีเนื่องจากการขยายตัวของเอกภพนี้สอดคล้องตรงกับพลังงานของการแผ่รังสีของวัตถุดำ (black body) ที่อุณหภูมิประมาณ 3 เคลวิน หรือ -270 องศาเซลเซียส