4 เม.ย. 2020 เวลา 08:02 • สุขภาพ
🩸 เขิญชวนบริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ 🇨🇭
การหาเลือดสำรอง มีประโยชน์อย่างมากต่อชีวิตผู้ป่วย หลายๆโรค เช่นผู้ป่วยที่ไ้ด้รับอุบัติเหตุ ต้องการเลือดกระทันหัน เพราะผู้ป่วยมีการเสียเลือดอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว หากไม่ได้รับเลือดอาจเกิดการช็อค และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะซีดจากการเสียเลือด ผู้ป่วยโรคธาลัสเซียเมีย (Thalassemia) ซึ่งต้องมีการรับเลือดอยู่เสมอ บางคนอาจต้องรับเลือดตลอดชีวิต ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้เกร็ดเลือดจะต่ำทำให้ต้องได้รับเกร็ดเลือดเพื่อป้องกันการมีเลือดออกในร่างกาย ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นต้น และยังมีอีกหลายๆประการที่ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับเลือด
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัส Covid -19 จนเกิดมาตรการควบคุมสถานการณ์ ต่างๆ โดยเฉพาะการเน้นให้มีการอยู่ติดบ้าน ออกนอกบ้านเฉพาะเวลาที่จำเป็น เพื่อลดการแพร่กระจาย และสัมผัสเชื้อ
ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณเลือดสำรองในคลังเลือดของโรงพยาบาลหลายๆแห่งทั่วประเทศ เป็นอย่างมากเพราะการให้เลือดผู้ป่วยยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ไม่ได้ลดลงตามปริมาณเลือดสำรองที่ลดลงไป ทำให้เกิดการขาดแคลนเลือดที่จะนำไปให้ผู้ป่วย
โดยปกติทั่วไป การรับบริจาคโลหิต มีทั้งการรับบริจาคในสถานที่ คือบริจาคที่งานธนาคารเลือดของโรงพยาบาล
ภาพถ่ายก่อนมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อCovid-19
และการออกหน่วยรับบริจาคนอกสถานที่
ภาพถ่ายก่อนมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อ Covid-19
แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ต้องงดการออกหน่วยรับบริจาคนอกสถานที่ เพราะเป็นการชุมนุมของผู้คนจำนวนมากที่อาจทำให้เกิดระบาดของเชื้อ Covid-19 ได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลต่างๆเริ่มมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้มี่การบริจาคโลหิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นแหล่งสำรองเลือดเพื่อผู้ป่วยที่เป็นประชาขนทั่วไป และเพื่อสำรองเลือดแจกจ่ายตามโรงพยาบาลต่างๆ
สำหรับโรงพยาบาลขนาดทั่วไป (โรงพยาบาลใหญ่ประจำจังหวัด) ก็จะมีการสำรองเลือดสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและ ยังต้องสำรองเลือดเผื่อโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นลูกข่ายด้วย เพราะงานธนาคารเลือดไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้ต้องขอยืมเลือดจากโรงพยาบาลแม่ข่าย (โรงพยาบาลจังหวัด)หรือ ภาคบริการโลหิตในเครือข่ายของตนเอง
🚩จึงขอเชิญชวนประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรง มาร่วมบริจาคเลือดช่วยชีวิตผูป่วยในยามที่เลือดขาดแคลนกันเถอะค่ะ
🇨🇭คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต🇨🇭
1️⃣ เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
2️⃣ อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถึงอายุ 65 ปี
👉 ผู้บริจาคโลหิตหากอายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองตามกฏหมาย
👉 ผู้บริจาคโลหิตที่มีอายุ 60 ปีถึง 65 ปี
- ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติอื่นๆของผู้บริจาคโลหิต
- เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำมาโดยตลอดจนกระทั่งอายุ 60 ปี (อย่างน้อย 4 ครั้งใน 3 ปีล่าสุด)
- บริจาคโลหิตได้ทุก 6 เดือน
- ตรวจ CBC ปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มตรวจครั้งแรกตอนบริจาคโลหิตเมื่ออายุครบ 60 ปี และผ่านเกณฑ์ CBC
3️⃣ มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 48 กิโลกรัมขึ้นไป  
4️⃣ ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ, ยาป้องกันเลือดแข็งตัว, ยาเพิ่มการเจริญเติบโต (Growth Hormone), ยารักษาสิว Isotretinoin, ยารักษาต่อมลูกหมาก, ยาปลูกผม (Finasteride)
5️⃣ ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคโลหิต ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใดๆ ตามร่างกาย
6️⃣ ไม่มีประวัติโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
7️⃣ ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
8️⃣ ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหยุดให้บริจาคโลหิตได้
🇨🇭ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้🇨🇭
1️⃣ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก อัมพฤษ์ อัมพาต โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก โรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลินหรือคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
2️⃣ ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง (สามีหรือภรรยา) เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)หรือซิฟิลิส (Syphilis) 3️⃣ ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา
4️⃣ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
5️⃣ น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุมากกว่า 5 กิโลกรัม ในเวลา 2 เดือน มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
🇨🇭การเตรียมตัวก่อนการบริจาคโลหิต🇨🇭
👉 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในเวลานอนปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต
👉 สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะใดๆ เช่น ยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยาแล้วอย่างน้อย 7 วัน
👉 ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ภายใน 6 ชั่วโมง ก่อนมาบริจาคโลหิต ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
👉 การดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้
👉 งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
👉 งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
🇨🇭การเตรียมตัวขณะบริจาคโลหิต🇨🇭
👉 สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
👉 เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
👉 ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต
👉 ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
👉 หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยนอนพักบนเตียง 5-10 นาที ก่อนลุกจากเตียง หากมีอาการเวียนศีรษะเป็หรือเป็นลม ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง
🇨🇭การเตรียมตัวหลังการบริจาคโลหิต🇨🇭
👉 พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที ให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน
👉 ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
👉 หลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟท์ บันไดเลื่อน เพราะอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้
👉 ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
👉 หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ ไม่ใช้กำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น ยกของหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการบริจาคโลหิต
👉 ควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาทิ การเดินซื้อของ อยู่ในบริเวณที่แออัดหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
👉 ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน
👉 หลังจากบริจาคโลหิต ให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยโลหิตที่บริจาค
👉 รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด จนหมด ชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต และป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ
👉 การรับประทานธาตุเหล็กบำรุงโลหิต พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ยกเว้นชาเขียว เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก
ผู้บริจาคโลหิต และเจ้าหน้าที่ใส่หน้ากากป้องกัน
ในการบริจาคโลหิตงานธนาคารเลือดได้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการติดเชื้อCovid-19 ตามมาตรการที่ถูกต้อง มีการเว้นระยะห่าง มีการคัดกรองผู้บริจาคโลหิตก่อนทำการรับบริจาคโลหิต หากท่านใดเข้าเกณฑ์ จะต้องงดบริจาคโลหิตชั่วคราว
ที่นั่งรอบริจาคโลหิตเว้นระยะห่างกันไม่นั่งติดกัน
หากมีประโยชน์โปรดช่วยกันแชร์นะคะ
โฆษณา