5 เม.ย. 2020 เวลา 16:54 • ไลฟ์สไตล์
มีลูกเป็นเกย์ เป็นตุ๊ดส์ เป็นชายไม่แท้ แก้อย่างไรดี???
Photo by Valeria Boltneva from Pexels
มีพ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่เดือดร้อนใจกับปัญหานี้
บางคนก็รับได้ก็ปล่อยไป ลูกฉันเป็นอะไรก็รัก^^
พ่อแม่บางคนรับไม่ได้ อายเพื่อนบ้าน อายสังคม อายญาติมิตร ท้ายที่สุดตีตัวออกห่างลูกหรือซ้ำร้ายแก้ไขด้วยวิธีรุนแรงไปเลย...
หรือพ่อบางคนก็โทษว่าเพราะแม่แหละ เลี้ยงดูยังงัยประคบประหงมจนลูกเป็นตุ๊ดส์ เป็นเก้งกวาง ฯลฯ หรือถึงขั้นโทษโรงเรียน โทษเพื่อนที่ลูกคบ โทษทุกสิ่งอย่างที่อยู่รอบข้างตัวลูก
เครียดมากกับปัญหานี้ แก้อย่างไรดีให้เขากลับมาเป็นชายชาตรีที่ (พ่อ-แม่) ไม่ต้องอายใคร??
วันนี้ “คิดต่าง” มีทางออกให้ครับ
วิธีทำก็คือ......
คิด...ให้ถี่ถ้วน “ทำใจให้สบาย แล้วพูดคุยกับลูก”
ในสังคมบ้านเราพ่อแม่ อาจจะรู้สึกกระดากปาก กระดากใจที่จะคุยกับลูกเรื่องแบบนี้
แม่อาจจะพอรับได้บ้าง แต่ทางพ่อนี่อาจจะหนักหน่อย ไม่เข้าใจว่ามันเป็นไปได้ยังงัย ทำไม๊ ทำไม มันไม่รักผู้หญิง ฯลฯ
คุณพ่อ คุณแม่ครับ อาจจะจริงที่เพศสภาพบนร่างกายมนุษย์อาจมีเพียง “เพศหญิง” และ “เพศชาย” แต่ “รสนิยมทางเพศ” เป็นเรื่องของ “จิตใจ” มิใช่ “ร่างกาย” แต่ความรักคนเรานั้นออกแบบมันขึ้นมาเองจากความรู้สึกนึกคิด จากความผูกพันธ์ จากความถูกตาต้องใจ ทุกคนมีสิทธิที่จะมี “มีความรักต่างเพศ” “มีความรักในเพศเดียวกัน” หรือ “รักหมดทุกเพศ” เพียงแต่พวกเขาจะกล้า “เปิดเผย” ตัวตนที่แท้จริง หรือ “ปกปิด” ซ่อนเร้นเอาไว้เพื่อดำรงชีวิตให้เป็นไปตามครรลองของสังคม ซึ่งเดิมให้การเชิดชูว่า “รักต่างเพศ” เท่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม
เมื่อ “ความรักในเพศเดียวกัน” กลายเป็นสิ่งต้องห้ามของสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยในอดีต ชายรักชายหรือเกย์บางคนจึงตัดสินใจแต่งงานเพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าเป็น “คนวิปริตผิดเพศ” แต่หลังจากทำหน้าที่สามีและพ่อของลูกตามความคาดหวังของครอบครัวแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต บางคนไม่อาจทนเสียงเรียกร้องที่ซ่อนอยู่ก้นบึ้งของจิตใจได้อีกต่อไป พวกเขาจึงเลือกเดินตามเสียงหัวใจของตนเอง ด้วยการเปลี่ยนสถานะจาก “ชายรักหญิง” เป็น “ชายรักชาย” และนี่คือบทพิสูจน์ความรักที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของคนที่เกิดมาเพื่อเป็นเกย์นั่นเอง
ณ ปัจจุบันนี้เราจะเห็นตัวอย่างมากมายที่คนเป็นเกย์ เก้ง กวาง หรือจะนิยามใดก็ตามที่บ่งบอกถึงคนที่รักในเพศเดียวกัน เขาเหล่านั้นก็สามารถสร้างคุณงามความดีให้สังคม สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง หาเลี้ยงครอบครัว หรือแม้กระทั่งสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ
1
“พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงว่า คนที่เป็นเกย์จะทำให้เด็กคนอื่นลอกเลียนแบบ เพราะขนาดพี่น้องแฝดสายเลือดเดียวกัน คนหนึ่งเป็นเกย์ อีกคนไม่ได้เป็นเกย์ก็มี มันไม่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู แต่มันคือความเป็นตัวตนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไม่มีใครลอกเลียนแบบใครได้หากคนนั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเกย์”
เรายอมรับและส่งเสริม สั่งสอน "เกย์น้อย" ในวันนี้ให้เป็น "เกย์" ที่ดีในวันหน้าดีกว่ามั้ย อย่าไปยึดติดกับเพศสภาพ แต่เรามาให้ความสำคัญกับ "คุณภาพ" ชีวิตที่ดีของเขาภายหน้าผลจะดีกว่ามากมาย
ในทางกลับกัน หากเรายิ่งปิดกั้น บังคับขู่เข็ญหรืออาจถึงขั้นทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อให้เขาหายจากการเป็นเกย์ มันจะยิ่งส่งผลด้านลบเสียมากกว่า วันนี้เขาอาจจะเจ็บปวดร่างกายและจิตใจ จนต้องยอมปิดตัวเองเอาไว้ทำเป็นว่าหายจากการเป็นเกย์แล้ว แต่ผลร้ายมันอาจจะกลับมาเมื่อเขาออกจากการบังคับควบคุมเมื่อเติบโตขึ้นไป เขาอาจจะไปทำร้ายคนอื่นต่อ หรืออาจไปก่อปัญหาให้ครอบครัวของเขาเองในอนาคต ยิ่งโดนบังคับทำร้ายมามาก บาดแผลเขาจะฝังลึกจนยากที่จะแก้ไขทาง ออกสุดท้ายคือเอาแผลในใจไปฝังลงในคนอื่นแทน
เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เพศเหล่านี้ไม่ใช่ตัวปัญหาของสังคม แต่ความคิดของเราต่างหากที่สร้างปัญหา การทำร้ายจิตใจจากการไม่ยอมรับของพ่อแม่ และถูกคนรอบตัวมองด้วยอคติวิจารณ์ต่างหาก ที่สร้างปมด้อยให้กับเขาเหล่านี้
ไม่มีหลักประกันใดจะการันตีได้ว่าเฉพาะความรักของ "หญิงกับชาย" เท่านั้นที่มั่นคง
ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพศไหน เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมเดียวกับเราโดยปราศจากอคติทางเพศ เพราะเมื่อเขาเกิดมาเพื่อเป็นเกย์แล้ว...
รักของ “เขา” และ “เขา” ย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
--เป็นบทความแรกที่หัดเขียน มีคำชี้แนะใดๆ ขอรับไว้ด้วยความยินดียิ่งครับ--
โฆษณา