7 เม.ย. 2020 เวลา 12:58 • การศึกษา
📚 10 เคล็ดลับการเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ที่ใครๆก็ทำได้ !!
ลูกเพจหลายคนถามมานะครับว่าผมเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาจากไหน แล้วเริ่มฝึกจนอ่านคล่องได้ยังไง ผมขอออกตัวก่อนเลยว่าจริงๆแล้วตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าจะอ่านได้หรอกครับ แต่พอเราจับทางของมันได้ปุ๊ป กลายเป็นว่าผมแทบจะไม่อยากอ่านหนังสือภาษาไทย(แปล)อีกเลยครับ !!!
วันนี้ผมเลยอยากจะรวบรวมเคล็ดลับ 10 ข้อที่ทำให้ผมชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาแนะนำ เผื่อว่าถ้าใครอยากจะลองทำตามแล้วฝึกอ่านภาษาอังกฤษกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้เนื้อหาที่เหมือนกันแล้ว เรายังได้ฝึกภาษาและคำศัพท์ใหม่ๆตลอดเวลาอีกด้วย
*** จริงๆเคล็ดลับส่วนใหญ่ก็นำไปใช้กับการอ่านหนังสือภาษาอื่นก็ได้นะครับ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เรียกว่าเป็นเคล็ดลับการอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศก็ได้ แต่ผมอ่านภาษาพวกนั้นไม่ได้ 😂
2
เริ่มกันเล้ยยยย
(1)
เริ่มจากหนังสือที่ตัวหนังสือไม่เยอะ หรือ Font ใหญ่ๆก่อนครับ เพราะใน 1 หน้า จะมีตัวหนังสือน้อย นั่นหมายความว่าอ่านแปปเดียวได้หน้านึงแล้ว พออ่านหนังสือแบบนี้มันจะทำให้เรามีกำลังใจในการไปต่อ และไม่รู้สึกเหนื่อยกับการอ่านมากนัก
โดยหนังสือภาษาอังกฤษนั้นจะมีความหนาแน่นของตัวหนังสือที่ต่างกันแบบเห็นได้ชัดเลยครับ บางเล่ม 1 หน้ามีประมาณ 200-300 words จะเป็น Font ใหญ่ๆเว้นบรรทัดเยอะๆ แต่บางเล่มตัวเล๊กกกเล็ก แถมยังติดแน่นกันเป็นแผง 1 หน้ามีถึง 700-800 words ก็มีครับ
1
แปลว่าถ้าคุณอ่านเล่มแบบแรก ไปแล้ว 100 หน้า คุณจะอ่านอีกเล่มไปได้แค่ 30 หน้าเท่านั้นเอง กำลังใจต่างกันเย๊อะ 😂
(2)
เริ่มอ่านจากหนังสือแนว Fiction ก่อนครับ โดยเน้นไปที่หนังสือที่ถูกทำเป็นภาพยนตร์ และคุณต้องเคยดู !! ยิ่งถ้าเป็นหนังที่ชอบก็ยิ่งดี เพราะว่าเราจะคุ้นเคยกับเนื้อหา, ตัวละคร, สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆมาพอสมควรครับ ทำให้การอ่านรอบแรกมันจะ Flow ไปได้ดีมากแม้จะเป็นภาษาอังกฤษ
อย่างผมเริ่มที่ A Song of Ice and Fire ที่เป็นต้นแบบของ Game of Thrones อ่านไปอ่านมาเผลอแปปเดียวจบ 6 เล่มเลยครับ ที่สำคัญสนุกกว่าซีรี่ย์เย้อะ !! แบบซีซั่นหลังเทียบหนังสือไม่ติดแม้แต่ฝุ่นเลย
2
(3)
Google Translate คือของที่ขาดไม่ได้ครับ หรือถ้าใครมี Application Dictionary คู่ใจก็ใช้ได้ แต่บางทีนักเขียนจะชอบใช้คำยากๆหลายคำในประโยคเดียว ผมเลยเลือก Google Translate โดยพิมพ์มันไปทั้งประโยคเลย คำแปลอาจจะเพี้ยนๆหน่อยแต่มันก็เพียงพอที่จะจับใจความได้ครับ
3
(4)
ไม่ต้องเข้าใจความหมายของทุกประโยค / ทุกคำศัพท์ก็ได้ คำ Adverb Adjective บางตัวอาจจะข้ามๆไปบ้างเพื่อไม่ให้การอ่านมันหยุดชะงักบ่อยเกินไป แบบ 1 หน้าเปิด Dict 10 ครั้งก็ไม่ไหวอ่านได้ไม่ถึงไหนก็ท้อแล้วครับ
5
(5)
ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะอ่านให้ได้วันละกี่หน้า ไม่ต้องเยอะครับ วันละ 5-10 ก็ได้ หรือหนังสือส่วนใหญ่มีแบ่งเป็บบทๆก็ตั้งเป้าเป็นวันละ 1 บทก็ได้
ยิ่งถ้าเราอ่านนิยาย การอ่านจบบทมีข้อดีอีกอย่างคือเราจะอยากรู้ตอนต่อไป แล้วอ่านต่อไปอี้ก (เหมือนเวลาดู Netflix แล้วหยุดไม่ได้อ่ะครับ) ยิ่งทำให้เราอ่านได้เยอะขึ้นไปอีก เผลอแปปเดียว 3 บทเฉ้ยยย 😂😂
(6)
มีการกำหนดเวลาในการอ่านหนังสือไว้ให้ชัดเจนครับ เช่น ก่อนนอน หรือ หลังจากเลิกงาน 15 นาที เพื่อให้เป็นนิสัย
ขนาดเวลาเล่นเกมดูหนังเรายังแบ่งเวลาให้มันอย่างชัดเจนเลย ทำไมเราจะแบ่งเวลามาอ่านหนังสือไม่ได้ล่ะครับ 🤓
(7)
พกหนังสือไปทุกที่เลยครับ แล้วถ้าเป็นไปได้ ลองกลั้นใจเปลี่ยนเวลาการเล่นมือถือมาอ่านหนังสือแทน เช่น เวลาเดินทางบนรถสาธารณะ เวลารอเพื่อนที่มาสาย หรือ เวลารออาหารมาเสิร์ฟ
เพราะผมเชื่อว่าสามเวลาที่กล่าวไป ถ้าไม่มีอะไรทำ เกือบทุกคนต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นแน่นอน ลองคิดดูถ้าเราพกหนังสือแล้วหยิบมันขึ้มาอ่านแทนซัก 50% นอกจากจะลด Screentime ได้แล้วยังทำให้เราได้อ่านหนังสือเพิ่มด้วย
ส่วนช่วงนี้ไม่ได้ออกไปไหนก็อ่านอยู่บ้านไปแทนการเล่นมือถือละกันครับ 😂
1
(8)
ถ้าจะเริ่มเปลี่ยนแนวมาอ่านพวก Non-Fiction ที่จะมีระดับความยาก และเป็นวิชาการขึ้นมาหน่อย เช่น Principles หรือ Sapiens แนะนำว่าเริ่มจากเรื่องที่ตัวเองสนใจ หรือตามสาขาที่เรียนมาก่อน(แล้วก็ตามข้อ 1 อย่าเลือกเล่มหนาๆ อ่านยากๆ เพราะอาจจะยังอ่านไม่ไหว) แล้วค่อยออกนอกสาย
2
อย่างผมเองก็เริ่มจาก Economic และ Finance ก่อน พอเบื่อแล้ว (ซึ่งแปปเดียวก็เบื่อครับ แค่เรียนมา 4-5 ปีก็เอียนแล้ว 🤮) ก็ค่อยหันมาทางอื่น เช่นแนวจิตวิทยา หรือแนวประวัติศาสตร์ต่อครับ
2
(9)
ถ้าเกิดอ่านไม่ไหวขึ้นมา อย่าฝืนครับ หยุดก่อนแล้วไปอ่านเล่มที่ง่ายกว่า หรืออ่าน Fiction ที่ไม่เครียดก่อน ยิ่งฝืนอ่านไปยิ่งเครียดโดยไม่จำเป็น
อย่าง Intelligent Investor กับ Thinking Fast & Slow ที่ผมอ่านจบนี่คือเคยยอมแพ้ไปรอบนึงก่อนแล้วนะครับ แล้วกลับมาอ่านใหม่หลังจากรอบแรกประมาณ 1 ปีเลย ซึ่งพอมาอ่านรอบสอง อ่าว ทำไมมัน Flow ดีกว่าเดิมเยอะ แล้วก็อ่านจนจบเลยครับ
ส่วนตัวคิดว่าเพราะเราอ่านซ้ำส่วนเดิมๆที่เราเคยอ่านไปแล้ว มันจะทำให้เราทำเวลาในช่วงแรกได้ดีมาก เป็นส่วนช่วยให้อ่านจบได้ง่ายขึ้นครับ
3
(10)
หาอ่านสรุปหนังสือตามที่มีคนสรุปไว้ให้ก่อน (โดยเฉพาะจากเพจเล่า ขอ tie-in หน่อย 😂😂) แล้วถ้าชอบค่อยไปอ่านตัวเล่มจริงๆครับ เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่าเราเหมาะกับหนังสือเล่มนี้จริงๆรึเปล่าครับ
และที่สำคัญคือคุณจะได้รู้อะไรอีกมากกว่าที่เราสรุปไว้ให้ เพราะไม่มีสรุปไหนดีเท่ากับการอ่านเองหรอกครับ เหมือนสมัยเรียนคุณอ่านสรุปของเพื่อนก่อนเข้าสอบคุณก็ทำข้อสอบสู้เพื่อนคนที่ทำสรุปไม่ได้หรอกครับ ยังไงซะการอ่านเองก็ได้อะไรมากกว่าอยู่แล้ว 🤓
จบ ครบ 10 ข้อละครับ
จริงๆแล้วเป้าหมายในการเล่าหนังสือของผมก็เล่าเพื่อให้คนอยากไปอ่านต่อนะครับ เพราะมันไม่มีทางที่ผมจะสรุปทั้งหมดลงในโพสต์เดียวได้อยู่แล้ว อีกอย่างนึงการเล่าทั้งหมดมันก็ทำให้ผมรู้สึกผิดกับผู้เขียนด้วย
ผมจึงทำเพจนี้เพื่ออยากให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นโดยมีความอยากอ่านเริ่มต้นมาจากเพจเล่าครับ
3
อาจจะฟังดูเสี่ยวหน่อยแต่มันเป็นความตั้งใจของผม ซึ่งโพสต์นี้ก็เช่นกัน อยากให้หลายๆคนลองก้าวออกจาก Comfort Zone แล้วลองอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศดูบ้างครับ 😁
*** ที่เล่าไปเป็นเทคนิคที่ผมเองใช้ตอนเริ่มอ่านภาษาอังกฤษ ใครมีเทคนิคเคล็ดลับอื่นๆที่ไม่เหมือนกันสามารถมาแชร์กันได้นะครับ เปิดรับทุกความคิดเห็นจ้าา 🤓🤓
เครดิตรูป Instagram : @inquisitivebookworm ไอจีนี้เป็น Book Blogger ที่ถ่ายรูปหนังสือสวยมากๆครับใครชอบไปตามกันได้เลย
1
ในโพสต่อๆไปก็จะนำเรื่องน่าสนใจของหนังสือเล่มอื่นๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ สนใจก็กดติดตามเพจ “เล่า” ไว้เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาดีๆในอนาคต
ส่วนถ้าใครไม่อยากพลาดทุกโพสต์ของเพจ “เล่า” แอดมินแนะนำให้กด See First เอาไว้ด้วยครับ :)
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #EnglishBooks
โฆษณา