7 เม.ย. 2020 เวลา 15:10 • สุขภาพ
พลาสมา หรือน้ำเหลืองจากเลือด ช่วยรักษา Covid ได้
การใช้พลาสมา มาเพื่อการรักษาโรคไม่ใช่เรื่องใหม่ ในผู้ที่หายจากโรคติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมาต่อต้านเชื้อโรคนั้น เราสามารถใช้ภูมิต้านทานนั้นมาให้ผู้ป่วยใช้ช่วยในการรักษา เช่น เอามาทำเป็น เซรุ่ม โดยเซรุ่ม ที่เราใช้อยู่จะถูกสกัดมาอีกทีหนึ่งให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
ในทำนองเดียวกันพลาสมาในผู้ป่วยที่หายจากโรค โควิด-19 ก็จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส
เราจึงสามารถนำภูมิต้านทานนี้ มาช่วยเสริมในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ได้
วิธีการนี้เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก และได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติ ในการตรวจภูมิต้านทานเพื่อนำพลาสมามาใช้ในกรณีนี้ ในปัจจุบันวิธีที่เชื่อถือได้ที่สุดจะต้องตรวจแบบ neutralizing antibody คือใช้ไวรัส โควิด-19 มาทำปฏิกิริยากับพลาสมานั้นว่าจะมีปริมาณ neutralizing antibody ที่สามารถที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในปริมาณเท่าไหร่
วิธีการนี้ค่อนข้างซับซ้อน และต้องใช้ไวรัสเชื้อเป็นที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงระดับ 3
และแน่นอนจะต้องมีการตรวจเชื้ออื่นๆในพลาสมาตามมาตรฐานการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด
ห้องปฏิบัติการความปลอดภัยระดับที่ 3 (Biosafety Level 3 - BL3)
คือ ห้องปฏิบัติการใช้เพื่องานวิจัยในเชิงการแพทย์และการผลิตในโรงงานที่มีการทำงานกับเชื้อก่อโรค สารเคมี และการทดลองระดับสูง ในห้องปฏิบัติการระบบไหลเวียนอากาศควรเป็นระบบที่สามารถลดการเล็ดลอดของจุลินทรีย์ออกสู่อากาศให้มากที่สุด เข้มงวดการเข้าออกห้องปฏิบัติการเป็นพิเศษ ผู้ปฏิบัติการต้องผ่านการฝึกอบรมการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการระดับ BSL3 มาก่อน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ได้กล่าวถึงการนำพลาสมามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ดังนี้
พลาสมาของผู้ป่วยที่หายจากโรค โควิด-19 จะมีประโยชน์อย่างมาก ในการใช้รักษาผู้ป่วย โควิด-19 ที่มีอาการมาก ภูมิต้านทาน ที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วย เปรียบเสมือนเป็น เซรุ่มใช้รักษาโรค
มาตรการในการรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 อีกทางหนึ่ง ที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่หายแล้ว รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยภูมิต้านทานต่อไวรัส COVID-19 ที่ร่างกายสร้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นสูงหลังสัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ 4 จะช่วยยับยั้งไวรัส COVID-19 ไม่ให้เข้าไปทำลายเซลล์ปอดจนทำให้ปอดอักเสบรุนแรง และแพร่กระจายสร้างความเสียหายไปทั่วร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น
ขณะนี้ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีโครงการที่จะรับบริจาค พลาสมา จากผู้ที่หายจากโรค
ผู้ที่หายจากโรคแล้ว ถ้ามาบริจาค พลาสมา จะถูกเก็บ ไว้ใช้เป็นยารักษาโรค โควิด-19
ผู้ที่จะมาบริจาคได้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้ออกจากโรงพยาบาลหายแล้วมีร่างกายแข็งแรง แล้วอย่างน้อย 14 วัน ตรวจไม่พบเชื้อ โควิด-19 ที่ป้ายจากคอและในเลือด มีอายุระหว่าง17 ถึง 60 ปีและมีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม
การใช้พลาสมาหรือน้ำเหลืองของผู้ที่หายจากโรคมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากจากการติดเชื้อเดียวกัน ได้มีการทำกันมานานแล้ว ในการระบาดของโรคเกิดใหม่ เช่น สมัย SARS, MERS, Ebola
และก็เช่นเดียวกัน มีการนำมาใช้ในการรักษาโรค โควิด-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤตในประเทศจีน มีรายงานในวารสารที่มีชื่อเสียง ได้ผลดีในการรักษา
เช่นในวารสาร Chest, JAMA etc ขอยกตัวอย่างในวรสารJAMA
ดังนั้น ในกระบวนการเก็บ Plasma เราจะตรวจ อาสาสมัครที่เคยติดเชื้อ โควิด-19 ว่า ขณะที่บริจาค ไม่พบเชื้อทั้งในเลือด และจากการป้ายที่คอ รวมทั้ง จะมีการวัดภูมิต้านทาน ต่อเชื้อโควิด-19 ว่าท่านหายจากโรคดังกล่าวแล้วโดยสมบูรณ์และจะตรวจภูมิต้านทาน โดยถือตามมาตรฐานของ US CDC ที่มีระดับ มากกว่าหรือเท่ากับ 1:320
ในการทำดังกล่าวจะมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เป็นแกนนำ ร่วมกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล
พลาสมาที่ได้จะเป็นพลาสมาที่มีคุณภาพ ใช้ในการรักษาโรค โควิด-19
จึงอยากขอเชิญชวนผู้ที่ติดเชื้อหรือป่วยจากโรค Covid-19 ที่หายแล้ว มาลงทะเบียนเพื่อรับการตรวจกรอง ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และถ้ามีคุณสมบัติพร้อม ท่านจะเป็นส่วนหนึ่ง ในการทำคุณประโยชน์ ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤต
หากมีผู้ที่บริจาคพลาสมาพิเศษนี้จำนวนเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ผู้ป่วยในประเทศได้มีโอกาสการรักษาและรอดชีวิตจากโรค COVID-19 เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา