7 เม.ย. 2020 เวลา 23:55 • ประวัติศาสตร์
สงครามประหลาด ไทย-พม่า แย่งกันแพ้
ภาพเขียนอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี
สงครามครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี ก็คือสงครามครั้งที่ อะแซหวุ่นกี้ เป็นแม่ทัพเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรื่องราวในสงครามครั้งนี้เล่าขานกันมาก ก็เรื่องที่อะแซหวุ่นกี้ขอพักรบดูตัวเจ้าพระยาจักรี แม่ทัพไทย ทั้งยังทำนายไว้ว่าต่อไปจะได้เป็นกษัตริย์
ผลของสงครามครั้งนี้นับเป็นเรื่องประหลาดที่สุดของสงครามไทย-พม่า คือต่างฝ่ายต่างบันทึกในพงศาวดารไปคนละทิศอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ ไทยบันทึกว่าไทยแพ้ หรือเสมอไม่มีใครแพ้ใครชนะ แต่พม่ากลับบันทึกว่าพม่าเป็นฝ่ายแพ้อย่างน่าอับอาย ถึงกับไล่แม่ทัพคนดังออกจากราชการ
ตอนนั้น อะแซหวุ่นกี้ หรือ มหาสีหสุระ กำลังเป็นวีรบุรุษของพม่า หลังจากที่ไปทำสงครามยืดเยื้อกับจีนที่เชียงตุงถึง ๔ ปี ขนาดแม่ทัพจีนคุยว่า
“ทหารจีนแค่ถ่มน้ำลายคนละที น้ำก็ท่วมทหารพม่าตายหมดแล้ว”
แต่อะแซหวุ่นกี้ก็ตีทหารจีนกระเจิดกระเจิง บ้วนน้ำลายไม่ออก ยกเข้ามากี่ทีก็ถูกตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง ขนาดพระอนุชาของ เซียนหลงฮ่องเต้ เป็นแม่ทัพมาเอง ยังถูกทหารพม่าล้อมจนต้องปลงพระชนม์พระองค์เองหนีอาย ในที่สุดจีนก็เป็นฝ่ายขอสงบศึก ทำเอาอะแซหวุ่นกี้กลายเป็นวีรบุรุษของพม่า
1
ภาพวาดอะแซหวุ่นกี้
ขณะเดียวกัน ศึกติดพันของจีนกับพม่าก็ทำให้พระเจ้าตากสินมีโอกาสตั้งตัวได้ แม้พม่าจะส่งกองทัพเข้ามาระรานหลายละลอก แต่ก็ไม่กล้าส่งทัพใหญ่เข้ามา เพราะต้องคอยรับศึกทางเชียงตุง ฝ่ายไทยก็เกิดวีรบุรุษขึ้นเหมือนกัน เป็น ๒ พี่น้องทหารเอกของพระเจ้าตาก นั่นก็คือ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)
1
ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลพระเชษฐา พระยาสุรสีห์นั้นดูจะรบแบบเหี้ยมหาญจนเป็นที่ขยาดของทหารพม่าไปตามกัน ตั้งฉายาให้ว่า “พระยาเสือ”
พระเจ้าเสือ
อะแซหวุ่นกี้ทราบว่าทหารพม่าเกรงกลัวพระยาเสือกันมาก จึงจะสำแดงให้เห็นว่าวีรบุรุษอย่างอะแซหวุ่นกี้นั้นไม่ได้เกรงกลัวแต่อย่างใด ในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ หลังเสร็จศึกกับจีนแล้ว อะแซหวุ่นกี้เดินทัพจากเมาะตะมะเข้ามาทางด่านแม่ละเมา มุ่งไปเมืองพิษณุโลกที่เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นเจ้าเมืองอยู่ โดยผ่านมาทางเมืองตากและด่านลานหอย
จับได้กรมการเมืองสวรรคโลก ๒ คนสอบได้ความว่า ขณะนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปร่วมกับเจ้าพระยาจักรีตีเมืองเชียงใหม่จากพม่า แทนที่อะแซหวุ่นกี้จะถือโอกาสปลอดโปร่งตอนนี้ กลับสั่งให้ทัพหน้าตั้งค่ายที่บ้านกงธานี ส่วนทัพหลวงตั้งที่เมืองสุโขทัย บอกเหล่าทหารว่า
3
“เจ้าของเขาไม่อยู่ อย่าเพิ่งไปเหยียบเมืองเขาเลย”
เมื่อเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว กำลังเคลื่อนทัพจะไปตีเมืองเชียงแสนที่พม่าปกครองอยู่อีกแห่ง พอได้ข่าวว่าพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาจึงรีบยกทัพกลับมาทันที เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าพม่ามีกำลังพลมามาก จึงจะอาศัยเมืองพิษณุโลกเป็นที่ตั้งรับ
แต่เจ้าพระยาสุรสีห์ต้องการจะเข้าตีกองทัพพม่าก่อน จึงส่งทัพสุโขทัยเป็นกองหน้าเข้าตีค่ายบ้านกงธานี แต่ก็ถูกพม่าตีแตกถอยมา เจ้าพระยาสุรสีห์เข้ารับมือรบกันอยู่ ๓ วัน เห็นว่าทหารพม่ามากกว่านักจึงถอยเข้าเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้ตามมาตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ทั้ง ๒ ฟากแม่น้ำ แล้วต่างก็ส่งทหารออกรบกันทุกวัน
1
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงตอนหนึ่งของสงครามครั้งนี้ว่า.......
“รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง อะแซหวุ่นกี้ก็ยกพลทหารออกเลียบค่ายอีกเหมือนก่อน เจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นดูบนเชิงเทินแล้วให้พลทหารออกโจมตี ก็พ่ายถอยเข้าเมืองอีก เจ้าพระยาจักรีจึงว่า ฝีมือทหารเจ้าเป็นแต่ทัพหัวเมือง ซึ่งจะต่อรบกับฝีมือกองทัพเสนาบดีนั้นไม่ได้ พรุ่งนี้ข้าจะยกออกตีเอง
ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันคำรบสาม อะแซหวุ่นกี้ก็ยกออกมาเลียบค่ายอีก เจ้าพระยาจักรีก็ยกพลทหารออกจากเมือง เข้าโจมตีทัพอะแซหวุ่นกี้แตกถอยเข้าค่าย และอะแซหวุ่นกี้ก็ยกออกเลียบค่ายดังนั้นทุกวัน เจ้าพระยาจักรีก็ออกรบทุกวัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชำนะถึงเก้าวันสิบวัน อะแซหวุ่นกี้จึงให้ล่ามร้องบอกว่าเพลาพรุ่งนี้เราอย่ารบกันเลย ให้เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพออกมา เราจะขอดูตัว
1
อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี
ครั้นรุ่งขึ้น เจ้าพระยาจักรีขี่ม้ากั้นสัปทน ยกพลทหารออกไปยืนม้าให้อะแซหวุ่นกี้ดูตัว อะแซหวุ่นกี้จึงให้ล่ามถามถึงอายุเท่าใด บอกไปว่าได้สามสิบเศษ จึงถามถึงอายุอะแซหวุ่นกี้บ้าง ล่ามบอกว่าอายุได้เจ็ดสิบสองปี และอะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปลักษณะเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่า รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้
แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่งกับสักหลาดพับหนึ่ง ดินสอแก้วสองก้อน น้ำมันดินสองหม้อ มาให้เจ้าพระยาจักรี แล้วว่าจงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคง เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ ไปภายหน้าพม่าจะตีเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว และในเพลาวันนั้น ไทยเข้าไปกินอาหารในค่ายพม่าก็มิทำอันตรายแก่กัน แล้วต่างคนก็ต่างกลับไปเมืองไปค่าย”
ผลของสงครามครั้งนี้ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า อะแซหวุ่นกี้ล้อมเมืองพิษณุโลกจนเกิดขาดแคลนเสบียงอาหาร อยู่ต่อไปอาจจะถึงขั้นอดอยากได้ เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์จึงตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปรวบรวมพลที่เมืองเพชรบูรณ์ อะแซหวุ่นกี้จึงเข้าเมืองพิษณุโลกได้
2
อะแซหวุ่นกี้เข้าไปก็เจอแต่เปลือกเมืองไม่มีอะไรเหลือ จึงจัดกองทัพออกเป็น ๒ กอง กองหนึ่งให้มารวบรวมเสบียงอาหารที่เมืองเพชรบูรณ์ เมืองหล่มสัก ส่งไปให้กองทัพหลวง และให้ติดตามตีกองทัพไทยที่ถอยไปทางนั้นด้วย ส่วนอีกกองทัพให้มาตระเวนหาเสบียงทางกำแพงเพชร แต่เมื่อส่งกองทัพทั้ง ๒ ออกไปแล้ว
22
ก็ได้รับท้องตราจากกรุงอังวะว่า พระเจ้ากรุงอังวะสิ้นพระชนม์แล้ว ให้รีบกลับไปโดยเร็ว อะแซหวุ่นกี้จะให้คนไปตามกองทัพทั้ง ๒ ก็ไม่ทัน จะรั้งรออยู่ก็เกรงมีความผิด เลยกวาดต้อนครอบครัวไทยกลับออกไปทางด่านแม่ละเมา ปล่อยกองทัพตกค้างอยู่ในเมืองไทย ๒ กองทัพ เลยถูกไทยตีเสียยับเยิน
ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตั้งค่ายที่เมืองชัยนาท แล้วส่งกองทัพหน้าขึ้นไปตีค่ายพม่าที่นครสวรรค์ก่อนจะเสด็จตามไป พม่าก็ทิ้งค่ายหนีมาทางอุทัยธานี กองทัพไทยไล่ตีจนพม่าถอยไปทางสุพรรณบุรี กาญจนบุรี จนออกไปทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ จึงตามไปสมทบที่พิษณุโลก
พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า “การสงครามคราวอะแซหวุ่นกี้มาตีหัวเมืองครั้งนี้ ไทยกับพม่ารบกันมาตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ จนเดือน ๑๐ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ นับเวลาได้ ๑๐ เดือนจึงเลิกรบกัน ผลของสงครามครั้งนี้ ควรลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่า ไม่ได้ชัยชนะกันทั้ง ๒ ฝ่าย”
ส่วน “สามกรุง” พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยากรณ์ กล่าวเป็นบทกวีว่า ร่าย - ศึกพม่ากับไทย ในครั้งนั้นหลากหลายนัก ไม่ตระหนักแน่แท้ ใครพ่าย เป็นฝ่ายแพ้ ก้ำกึ่งกันอยู่ นะเอย ฯ
11
โคลง ๔- พม่าว่าพม่าแพ้ แก่ไทย ไทยว่าไทยปราชัย โช แปล้ สงครามสนามไหน กาลก่อน หลังฤา ต่างฝ่ายต่างพ่ายแพ้ พูดพ้องคำกัน ฯ
แต่ศาสตราจารย์ ขจร สุขพานิช นักประวัติศาสตร์ได้ค้นคว้าพบ “พงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้ว” กล่าวไว้ว่า เมื่ออะแซวุ่นกี้กลับไปเฝ้าพระเจ้าจิงกูจา กษัตริย์องค์ใหม่ แล้วถูกถอดออกจากตำแหน่ง “หวุ่นกี้” เนรเทศไปอยู่เมืองจักกาย ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับกรุงอังวะ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับราชการตลอดรัชกาล ในความผิดที่ระบุว่า “บังคับบัญชาผู้คนไม่เด็ดขาด มียุทธวิธีรบพุ่งที่เลว”
11
อะแซหวุ่นกี้ซึ่งเพิ่งเป็นวีรบุรุษจากสงครามกับจีนที่เชียงตุง แต่อีก ๓ ปีต่อมารบกับไทย วีรบุรุษหยกๆก็ต้อง “ถูกถอดจากตำแหน่ง ด้วยความอัปยศยิ่งนัก” ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องแปลกที่ไม่ค่อยได้พบเห็น สงครามที่ไม่มีผลเด็ดขาดแบบนี้ ต่างฝ่ายต่างมักจะอ้างตัวเองเป็นฝ่ายชนะทั้งนั้น ไม่มีใครแย่งกันเป็นฝ่ายแพ้เหมือนครั้งนี้ ...........
6
เครดิต โรม บุนนาค
โฆษณา