Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักเล่านิทรา
•
ติดตาม
9 เม.ย. 2020 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์
พระเจ้าปราสาททองเป็นลูกใครกันแน่?
ช่วงนี้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะทีเดียวทั้งประชุมคำให้การ 3 ฉบับ จดหมายเหตุของโยน เคราท์ จดหมายเหตุของวัน วลิต พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ก็พยายามหาเรื่องมาเล่าตามที่เคยเล่ากันเอามันมาตลอดนั่นล่ะครับ ซึ่งจริงแล้วก็มีเรื่องน่าพูดน่าคุยกันเยอะ แต่ยังคิดว่าก่อนบุพเพสันนิวาสจะปิดตัวลง ก็อยากจะได้ต่อยอดอาศัยกระแสที่เกี่ยวข้องกับประวัติยุคพระนารายณ์-พระเพทราชามาเล่ากันไป โดยทีแรกคิดจะเล่าเรื่องกบฏที่พระนารายณ์เกี่ยวข้อง แต่ก็มีเหตุแหกโค้งด้วยไปสนทนาในกลุ่มประวัติศาสตร์เรื่องพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นพระโอรสหรือแบบชาวบ้านเราว่าคือลูกใครกันแน่ ตรงนี้เลยคิดว่าเกี่ยวข้องกับพระนารายณ์เช่นกัน เลยขอหยิบมาเล่ากันก่อนเลยน่าจะดี
2
เริ่มที่พระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นใครกันก่อนดีกว่า เพราะหลายๆ คนก็อาจจะไม่รู้จักก็เป็นได้ ซึ่งพระเจ้าปราสาททองนี้เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาเป็นรัชกาลที่ 29 ครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ. 2172-2199 อยู่ในราชสมบัติรวม 26 ปี โดยทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง อันเกี่ยวข้องกับพระนารายณ์ก็ตรงที่เป็นพระราชบิดาของพระนารายณ์นั่นเอง โดยแม้จะเป็นผู้ชิงบัลลังก์มาจาการราชวงศ์สุโขทัยซึ่งเป็นเชื้อสายสมเด็จพระนเรศวร แต่ก็ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองต่อเนื่องมา ด้วยว่าฝรั่งทั้งโปรตุเกสและฮอลันดาเข้ามาค้าขายอย่างกว้างขวางต่อเนื่องมาจากแผ่นดินราชการก่อน ในสมัยของพระองค์ยังได้สร้างวัดไชยวัฒนารามที่แม่หญิงการะเกดตื่นเต้นหนักหนาที่ได้เห็น จนคนแห่ไปเยี่ยมเยือนจนล้นในตอนนี้อีกด้วย
ดังที่ได้เล่ามาก่อนแล้วว่าพระองค์นั้นชิงบัลลังก์มา ข้อต่อไปคือชิงมาจากใคร แล้วเหตุใดจึงสามารถล้มบัลลังก์กษัตริย์ลงได้ ก็ขอเล่าคร่าวๆ ว่าประวัติที่ชัดเจนของพระองค์เริ่มขึ้นเมื่อตอนอายุ 13 ปี ได้ถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในสมัยพระเอกาทศรถ ในกรมมหาดเล็ก จนเติมโตเป็นลำดับ อายุเพียง 17 ปีก็ได้เป็นที่จหมื่นศรีสรรักษ์ หน้าที่สนองพระโอษฐ์พระพันวษาหรือพระราชมารดาของพระเจ้าทรงธรรม โดยตำแหน่งจหมื่นในกรมมหาดเล็กนี้เทียบแล้วก็เป็นตำแหน่งใหญ่โตมิใช่น้อย เพราะมีศักดินาเทียบเท่าคุณพระ และอยู่ใกล้เจ้านายเชื้อพระวงศ์
1
โดยในช่วงที่รับราชการในรัชการนั้นได้เติบโตเป็นระยะจนถึงที่ออกญาศรีวรวงษ์ ตำแหน่งจตุสดมภ์ที่กรมวัง ดูแลเรื่องราวภายในพระราชวังทั้งหมด และเป็นที่วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าทรงธรรมมาก จนถึงได้รับการปรึกษาเรื่องจะขัดกฎมณเฑียรบาลมิยกราชสมบัติให้แก่พระอนุชาคือพระศรีศิลป์ตามพระไอยการเดิม โดยพระเจ้าทรงธรรมหวังจะให้พระโอรสคือพระเชษฐาธิราชได้เป็นกษัตริย์ต่อไป ซึ่งออกญาฯ ท่านก็สนับสนุน อาศัยความร่วมมือของออกญาจักรีและออกญาเสนาภิมุข(ยามาดะ นางามาสะ) ที่ร่วมให้สาบานกับพระเจ้าทรงธรรมว่าจะประคับประครองบัลลังก์ของพระโอรสให้ยืนยงต่อไป ทั้งสามร่วมกันกำจัดพระราชวังหน้าศรีศิลป์และออกญากลาโหมที่ไม่เห็นด้วยต่อการสืบต่อบัลลังก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้
ความดีความชอบนี้ทำให้ออกญาหนุ่มได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยากลาโหมที่นิยมเรียกกันว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ขณะที่น้องชายคือพระศรีสุธรรมราชา(พระนามเมื่อเป็นกษัตริย์)ได้เลื่อนเป็นออกญาศรีสุริยวงศ์ เจ้ากรมวังแทน อันทำให้ทั้งสองรุ่งเรืองในอำนาจราชศักดิ์ เมื่อคราวงานศพของมารดามีผู้มาร่วมกันช่วยงานมืดฟ้ามัวดิน พระเจ้าแผ่นดินจะเรียกใช้ใครก็ให้ไม่สามารถทำได้ พระราชมารดาจึงแจ้งแก่พระเชษฐาธิราชว่าเจ้าพระยาผู้นี้อำนาจมากมายในบ้านเมืองแลพระราชวัง เห็นจะก่อกบฏในวันหน้า คิดอ่านควรกำจัดเสียแต่ตอนนี้ เป็นการสมควร จึงเรียกทหารมาซุ่มในพระราชวัง ให้พระยาพระคลังไปตามตัวมาเข้าเฝ้าเพื่อจะกำจัดเสีย แต่ออกญาคลังไปแจ้งความแก่เจ้าพระยาท่านเสียก่อนจึงได้ดัดหลังล้มราชบัลลังก์และนำกษัตริย์น้อยและพระราชมารดาไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์
5
ในเหตุนั้นออกญาเสนาภิมุขไม่ทราบเหตุเพราะไปราชการที่เพชรบุรี ส่วนออกญาจักรีก็ทราบข่าวในภายหลัง เจ้าพระยาท่านได้แกล้งตกลงกับออกญาจักรีให้สนับสนุนตนในการปฏิวัติ ถึงฝากตัวเป็นลูกบุญธรรมด้วยสมุหนายกนั้นมีอาวุโสและสมบัติมาก แจ้งว่าหากบ้านเมืองสงบจะยกให้ออกญาชราเป็นกษัตริย์แทน ทำให้ได้รับความร่วมมือโดยความยินดี ถึงขั้นให้นำมงกุฎมาสวมให้ทันที หากแต่เจ้าพระยาท่านให้ยั้งไว้ก่อนเพื่อความสง่างามและลดการขัดแย้ง โดยให้เรียกออกญาเสนาภิมุขมาฟังความเห็นในการนี้ก่อน ก็ได้ความว่าเมื่อมีเจ้าชายอยู่ก็ต้องรักษาคำสาบาน ตรงนี้จะเอาไงล่ะ ตายล่ะหว่าพระเจ้าทรงธรรมมีโอรสเล็กๆ ตั้ง 11 พระองค์ ขืนเอาตามออกญาญี่ปุ่นนั่น ก็ไม่เป็นตามแผนกันพอดี จะไปงัดกับกองทหารอาสาญี่ปุ่นลือชื่อก็ไม่ไหว เสี่ยงเกิน จึงได้คิดแผนอันแยบยลและใจเย็นใหม่ขึ้นมา
3
เริ่มด้วยตั้งพระอาทิตยวงศ์โอรสวัย 10 ปี ให้ขึ้นสู่บัลลังก์โดยมี 3 สหายเป็นผู้สำเร็จราชการ แล้วตนเองและออกญาคลังได้ร่วมกันใส่ร้ายออกญาจักรี ยกเอาเหตุที่เรียกให้สวมมุงกุฎแก่ตนว่าเป็นกบฏ จนถึงต้องโทษถูกจับขังตรุ บ้านเรือนลูกเมียถูกริบถูกปล้น ฝ่ายออกญาชราคงไม่ทันคิดว่าเจ้าพระยาท่านจะดำเนินการในแผนที่โหดเหี้ยมและรวดเร็ว ถึงขนาดเจ้าพระยาท่านมาเยี่ยมยังเชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้พ้นภัย แต่เย็นวันนั้นเองก็ถูกประหาร เสียบร่างประจาร
ฝ่ายออกญาเสนาภิมุขทราบเรื่องก็โกรธเจ้าพระยาเป็นอันมาก รีบไปนำศพสหายลงมาฝัง ไม่ยอมพบหน้าแม้เจ้าพระยาท่านจะไปหาถึงบ้าน จนในที่สุดเวลาผ่านไปพอสมควรก็ตกลงกันได้ เจ้าพระยาได้เวนสมบัติของออกญาจักรีให้แก่ออกญาเสนาภิมุขไม่น้อย หลังจากนั้นก็ให้มีราชโองการให้ออกญาเสนาภิมุขนำกองทหารอาสาญี่ปุ่น 600 นายอันกล้าแข็งร่วมกับทหารไทยไปปราบกบฏเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอันว่าถึงตรงนี้แล้วเจ้าพระยาท่านก็เป็นผู้สำเร็จราชการคนเดียวในพระนครมีอำนาจเต็ม ข้าราชการทั้งหลายจึงยื่นฎีกาว่าพระอทิตยวงศ์นั้นเป็นเพียงเด็กน้อยไม่อาจประคับประครองบ้านเมืองได้ เห็นควรให้ปลดเสียแล้วเชิญเจ้าพระยาท่านที่เศวตฉัตร เจ้าพระยาท่านทำบ่ายเบี่ยงหลายคราวจนไม่อาจทานความต้องการได้ จึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ในพระนาม พระเอกาทศรถอิศวรฯ ต่อมาทรงสุบินว่ามีปราสาททองปรากฏในจอมปลวก จึงได้ให้ไปขุดหาก็พบดังในฝัน ผู้คนจึงได้เรียกพระนามว่าพระเจ้าปราสาททองนับแต่นั้น
1
ด้านออกญาเสนาภิมุขเมื่อปราบหัวเมืองใต้ลงได้ ก็มีม้าเร็วบอกข่าวมายังอยุธยา จึงได้ทราบเรื่องผลัดแผ่นดินเปลี่ยนฟ้าราชวงศ์เสียแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ พระเจ้าปราสาททองก็ปลอบใจโดยมอบทรัพย์สมบัติจำนวนมาก แล้วอวยให้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชปกครองหัวเมืองใต้ ให้ลูกชายคือโออินเป็นขุนเสนาภิมุขดูแลกรมทหารญี่ปุ่นอาสาแทน และพระทานหญิงสาวซึ่งตามจดหมายเหตุญี่ปุ่นระบุว่าชื่อจันทราเป็นพระราชธิดามาแต่งงานด้วย แต่ออกญากลับถูกวางยาโดยใครก็ไม่ทราบ บ้างว่าเป็นพระมะริดน้องออกญานครศรีธรรมราชคนเดิม บ้างก็ว่าจันทรานั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามโออินบุตรชายได้ตามสังหารจันทราเมียพระราชทานเสีย ก่อนสุดท้ายจะมีความวุ่นวายของกองทหารอาสาญี่ปุ่นจนถูกขับออกจากไทยไป
2
ในรัชกาลของพระองค์ดังที่บอกว่านอกจากการค้าจะรุ่งเรืองแล้ว ยังได้แสดงแสงยานุภาพต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งละแวกและล้านช้างจนเป็นที่กริ่งเกรงพระบารมี เมื่อถึงคราวสวรรคตนับว่ารัชสมัยของพระองค์นั้นหากตัดเอาเหตุทุรยศเมื่อต้นราชวงศ์และการกวาดล้างขุนนางใหญ่เป็นนิจ ถือได้ว่าบ้านเมืองเองมีความสงบสุขรุ่งเรืองทีเดียว
ไล่เรียงมาตรงนี้ก็ได้เวลาคุยเรื่องว่าทรงเป็นลูกใครกันแน่ตามหัวเรื่องเสียที โดยหลักฐานตามบันทึกที่พอมีชัดเจนก็เห็นจะเห็นจดหมายเหตุของวัน วลิต ซึ่งฟังชื่อไท๊ยไทย แต่ที่จริงแล้วเขาคือ เยเรมิส ฟาน ฟลีต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายในแผนดินพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเหตุการณ์ผลัดแผ่นดินไว้โดยละเอียด รวมถึงชื่อบิดาของกษัตริย์ใหม่ ซึ่งระบุว่าคือพระยานครศรีธรรมราช(นอกราชการ) อันเป็นพี่ชายคนโตของพระมารดาพระเจ้าทรงธรรม ทำให้พระองค์ทรงเป็นลูกพี่ลูกน้อยนั่นเอง ตรงกับคำการขุนหลวงหาวัดหรือขุนหลวงวัดประดู่นี่ล่ะผมจำไม่ได้ ที่ระบุว่าเป็นพระญาติฝ่ายมารดาพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งที่จริงควรจะได้ข้อยุติตามนี้ แต่ถ้าง่ายแบบนั้นผมจะมาเขียนทำไม จริงไหม
เพราะว่าดันมีอีกทฤษฎีหนึ่งแบบที่ใครหาอ่านประวัติศาสตร์คร่าวๆ เช่นตามวิกิพีเดียจะพบว่ามีข้อสันนิฐานว่าทรงเป็นพระโอรสลับของพระเอกาทศรถ หรือบางคนเลยเถิดไปถึงพระโอรสลับของพระนเรศเลยก็มี
1
โดยเกิดมีตำนานปรากฏว่าได้พบหญิงชาวบ้านชื่ออิน จนเป็นที่มาของชื่อบางปะอิน ถึงกับเกิดมีครรภ์ขึ้นพระองค์อับอายที่มีลูกนอกสมรสจึงให้ผู้อื่นเลี้ยงไว้เสีย เมื่อเติบใหญ่ก็ให้รับราชการจนเจริญเติบโต แล้วก็ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ต่อมา
ตรงนี้เป็นข้อสันนิฐานของนักวิชาการในยุคหลังที่นำเสนอสมมุติฐานนี้เอง ซึ่งกรมพระยาดำลงราชานุภาพได้วินิจฉัยว่าเรื่องโอรสลับก็เป็นเรื่องที่ร่ำลือกันในต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น ไม่ได้ปรากฏขึ้นในปลายสมัยอยุธยาเลย มิเช่นนั้นบรรดาคำให้การชาวกรุงเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องร่ำลือตำนานมากมาย เหตุใดไม่มีพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้เลย
1
จะมีข้อความหนึ่งที่ทำให้คนสงสัยกันมากมายเป็นนวงกว้างก็คงจะเป็น “คราว หนึ่งพระเอกาทศรถ ทรงล่องเรือเสด็จประพาส บางปะอิน เรือพระที่นั่งล่ม พระองค์ทรงว่ายน้ำไปพัก ณ.บ้านหญิงชาวบ้านบางปะอิน และเกิดได้เสียกัน ต่อมาหญิงคนนั้นอุ้มท้อง เลยทรงให้พระยาศรีธรรมราช คอยดูแล จนคลอดเป็นเด็กชาย เรียกชื่อว่า พระองค์ไล แล้วเติบใหญ่พระยาศรีธรรมราช ก็พาตัวเข้าไปถวายรับราชกาล ดำรงตำแหน่ง จมื่นศรีสรรักษ์...” ตรงนี้เองมองเผินคล้ายความในพงศาวดารแต่ที่จริงกลับเป็นตำนานพระราชวังบางปะอิน ซึ่งข้อความนี้ก็ให้น่าสงสัยว่าเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ และมีค่าในทางประวัติศาสตร์เท่าใด ด้วยว่าแม้แต่ในประชุมพงศาวดารที่รวมตำนานต่างๆ มากมายก็ไม่ได้รวมตำนานนี้ไว้
ซึ่งตรงนี้เองเสด็จในกรมฯ ได้มองว่าหากจะมีอออินจริงตามตำนาน ก็น่าจะเป็นพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรมที่ได้ไปพบเจอมากกว่า ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะหากพิจารณาตำนานว่าทรงอับอายที่มีลูกนอสมรสนั้น บริบทสังคมในยุคสมัยนั้นผู้ชายมีลูกเมียได้หลายคน แม้จะมีฐานะเมียทาสลูกทาสก็ปรากฏทั่วไป ยิ่งในความเป็นกษัตริย์มีสิทธิเด็ดขาด การจะรับหญิงชาวบ้านมาเป็นหม่อมห้ามก็ไม่ใช่จะไม่มีทางเป็นได้ แล้วทำไมจึงต้องทำให้วุ่นวายด้วยว่าอับอายเพียงแค่นั้น
โดยขอเดาเอาว่าเหตุร่ำลือนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากบันทึกของ โยน เคราท์ พ่อค้าฮอลันดาในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่เขียนว่า พระองค์เป็นสายพระราชวงศ์เดิม บวกกับพระองค์เป็นจหมื่นศรีสรรักษ์ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่เป็นสนองพระโอษฐ์พระพันวษา คือพระราชมารดากษัตริย์ ที่ว่ากันว่าจะได้เจริญก้าวหน้าง่าย และมักเป็นเชื้อพระวงศ์ แถมมีครั้งหนึ่งพระมเหสีของพระนเรศวรต้องมาขอพระราชทานโทษให้ ที่สำคัญพระนามเมื่อเป็นกษัตริย์เป็นการบอกใบ้อันใดหรือไม่ ทำให้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ตีความไปในทางโอรสลับได้อย่างนั้นหรือ
1
เอาว่าจริงๆ ถ้าลำพังข้อมูลตรงนี้เป็นสมมุติฐานที่ฟังได้ขนาดที่เลื่องลือกันเป็นวงกว้างขนาดนั้น
1
ลองมาพิจารณาข้อหักล้างตามกันไป จุดแรกถ้าตามจดหมายเหตุวัน วลิต หรือฟาน ฟลีต นั้นระบุว่าเป็นพระโอรสของพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพี่ชายพระมารดาพระเจ้าทรงธรรม ตรงนี้เป็นหลักฐานร่วมสมัยที่สอดคล้องกับบันทึกคำให้การ ที่ระบุว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระมารดาพระเจ้าทรงธรรม ตรงนี้ถือว่าเข้าเค้าตรงที่ว่าเคราท์ระบุว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์เดิมหรือไม่
1
ในประวัติศาสตร์ก็ยืนยัน ว่าพระยานครศรีธรรมราชถวายลูกชายคนนี้ให้พระมารดาพระเจ้าทรงธรรม เพื่อรับราชการแต่อายุ 13 ได้เจริญก้าวหน้าในกรมมหาดเล็กเสมอมา แต่มีนิสัยหยาบช้ากระทำผิดบ่อยครั้ง จนบิดาคือพระยานครศรีธรรมราชต้องรับโทษจำคุกแทนบุตรหลายรอบทีเดียว หากไม่เป็นบิดาแล้วทำไมทั้งพระเอกาทศรถและพระเจ้าทรงธรรมจึงได้ลงโทษพระยานครศรีธรรมราชแทน จนกว่าจะได้ตัวจหมื่นศรีสรรักษ์มารับโทษ
1
ด้านหน้าที่จหมื่นศรีสรรักษ์ ก็ดังปรากฎในเอกสารพงศาวดารทุกฉบับว่าเป็นพระญาติฝ่ายมารดา ดังนั้นเป็นเชื้อสายพระพันวษาเอง คือหลานแท้ๆ ลูกพี่ชาย จะให้รับตำแหน่งสนองพระโอษฐ์ตนเองก็เหมาะสม ใช้งานง่าย เชื่อใจได้
ในส่วนเจ้าขรัวมณีจันทร์มเหสีองค์ดำ ที่ในบันทึกฟานฟลีตว่ามาขอพระราชทานอภัยโทษให้จหมื่นหนุ่ม เป็นได้ไหมที่แม่พระเจ้าทรงธรรม ผู้เป็นหลานสะใภ้เจ้าขรัวมณีจันทร์ ซึ่งควรจะอยู่ฝ่ายในด้วยกันคงมีความใกล้ชิดในระดับหนึ่ง จะได้ร้องขอให้ออกหน้าช่วยเหลือหลานชายของตัวเองได้ไหม
จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทานุมาศ(เจิม) ที่ชำระในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์อันเป็นเค้าโครงในพงศาวดารหลายฉบับ ที่อ้างว่าอิงจากพงศาวดารฉบับที่พระนารายณ์ให้เรียบเรียงขึ้น ทำไมจึงไม่บันทึกการเป็นพระโอรสลับนี้เอาไว้ เพราะขนาดเรื่องที่ว่าทรงขึ้นไปช่วยดับไฟในพระบรมราชวังแล้ว พระญาติพระวงศ์เห็นว่าทรงมี 4 กร ก็ยังมีบันทึกในพระราชพงศาวดารนี้เลย แล้วเรื่องอันจะทำให้ความชอบธรรมของพระองค์และราชวงศ์มีความน่าเชื่อถือขึ้นแบบนี้กลับไม่บันทึก
1
สุดท้ายที่น่าสนใจคือพระนามของพระเจ้าปราสาททองเองคราวเฉลิมพระนามกษัตริย์ที่ สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร ตรงนี้เป็นข้อที่หลายคนเอามาเป็นส่วนตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าเป็นพระโอรสลับ ด้วยว่าพระนามขึ้นต้นมีคำว่าเอกาทศรถ ซึ่งส่วนตัวผมว่าเป็นปกติที่จะเลือกใช้พระนามของกษัตริย์ที่เป็นที่นับถือสืบต่อกันมา เช่นพระรามาธิบดี หรือพระบรมราชาธิราชก็มีอยู่หลายพระองค์ ตรงนี้ความนิยมในส่วนตัวพระเจ้าปราสาททองจะเลือกใช้พระนามพระเอกาทศรถ ที่ภายหลังจะนิยมเรียกลำดับเช่นพระเอกาทศรถที่ 2 ได้หรือไม่ ตรงนี้คงตอบไมได้ แต่ว่าก็เป็นไปได้ตามปกติ
บทสรุปของเรื่องเล่านี้ผมไม่อาจตัดสินใจให้ใครเชื่อได้ แต่ส่วนตัวแล้วผมยังเชื่อหลักฐานของฟานฟลีต(วัน วลิต) ที่ได้บันทึกลงในยุคสมัยว่าพระองค์เป็นเพียงพระญาติพระวงศ์ฝ่ายพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรมเพียงเท่านั้น
9 บันทึก
17
1
13
9
17
1
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย