9 เม.ย. 2020 เวลา 11:32 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์น่ารู้ : เรื่องราวแห่งแคว้น " สิบสองปันนา " และชีวิตของคนไทลื้อในมลฑลยูนาน
(Cr:www.silpa-mag.com/chinahightlight.com/bbrtv.com)
" สิบสองปันนา " หรือ " เมืองเชียงรุ้ง " เริ่มเป็นที่สนใจต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวและถูกกล่าวขานถึงมากขึ้น ในแง่ของเมืองที่มีศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติไทลื้อที่มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ในตัว
ภาพล่าง:ประตูสู่เมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนา /ภาพบน:วิทยาลัยสงฆ์ พุทธนิกายหินยาน(cr:www.tongindojeen.com)
ภายหลังจาก...สงครามเย็นระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีสงบลง พร้อมกับการสิ้นสุดของยุคสมัยแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน
ช่วงราวปี พ.ศ.2519 ระบบคอมมูนที่เคยเข้มงวดเริ่มผ่อนคลายลง ผู้คนในดินแดนสิบสองปันนาสามารถดำเนินชีวิตและทำมาหากินตามวิถีของตนมากขึ้น รวมทั้งได้ฟื้นฟูพิธีกรรมทางศาสนาและขนบประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบทอดแต่โบราณมา
สภาพบ้านเรือนในอดีตของชาวไทลื้อ ที่ทางการจีนให้อนุรักษ์ไว้(cr:www.dmc.tv)
หมู่บ้านกาหลั่นในปัจจุบัน(บน)และแบบบ้านดั้งเดิมของชาวไทลื้อ (ล่าง)ในสิบสองปันนา(cr:www.bloggang.com)
การเดินทางไปมาหาสู่หรือติดต่อค้าขายระหว่างคนไทกับสิบสองปันนา ซึ่งเปรียบเหมือนเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของชาวไทลื้อได้เริ่มขึ้นอย่างคึกคัก ดินแดนสิบสองปันนาจึงเริ่มเปิดตัวสู่โลกภายนอกมากขึ้น..
9 จอม 12 เจียง แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่จัดงานแห่งใหม่ในสิบสองปันนา(cr:www.silpa-mag.com)
ด้วยดินแดน " สิบสองปันนา "แห่งนี้ ยังคงมีวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทลื้ออย่างสมบูรณ์ยิ่ง ทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและความมั่นคงในการนับถือพระพุทธศาสนา
รวมทั้งภาษาพูดที่คนไทยบ้านเรากับสิบ สองปันนาแม้จะอยู่คนละประเทศ ก็สามารถพูดจากันรู้เรื่อง ด้วยรากฐานภาษาเดียวกัน
การแต่งกายของหนุ่มสาวชาวไทลื้อ(cr:www.dmc.tv)
ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักมนุษยวิทยา นักการศาสนา รวมทั้งชาวไทยล้านนาและคนทั่วไป จึงมีความต้องการไปเยือนดินแดนในฝันแห่งนี้...
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระบุว่า ชาวไทลื้อดำรงชนชาติมายาวนานกว่า 2,000 ปี เคยมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองมาแล้วถึง 45 พระองค์อาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางของชาวไทลื้อนั้น สถาปนาขึ้นมาราว 800 ปีก่อน
ผู้ปกครองที่มีนามว่า " ขุนเจือง " หรือ "พญาเจือง "ได้รวบรวมกลุ่มชนชาวไทลื้อกลุ่มเล็กๆ ให้เป็นปึกแผ่นและสถาปนาอาณาจักร " หอคำเชียงรุ้ง " ขึ้น ณ ดินแดนสิบสองปันนาแห่งนี้ ในปีพ.ศ.1723 และพญาเจืองได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรก มีพระนามว่า " สมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ้งองค์ที่ 1 "
สำหรับความเป็นมาของชื่อ " เชียงรุ้ง " นั้นในพุทธตำนานของชาวไทลื้อกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ ณ ดินแดนริมฝั่งโขงของชาวไทลื้อแห่งนี้ ก็เป็นเวลาเช้าพอดี จึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า เชียงรุ่งหรือ เชียงรุ้ง อันเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปในอนาคต
2
ส่วนที่มาของชื่อ " สิบสองปันนา " หรือ " สิบสองพันนา " หมายถึงอาณาจักรที่เกิดขึ้นจาก การรวมพื้นที่นาของชาวไทลื้อ หลายๆหมู่บ้านเข้าด้วยกัน รวมกันได้ 1 พันนา ก็ตั้งเป็น 1 เมือง รวมทั้งสิ้น 12 พันนา ก็ได้ 12 เมือง โดยมีเมือง " เชียงรุ้ง " เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ซึ่งมีแม่นำ้โขงไหลผ่าน ซึ่งเมืองจีนเรียกว่า " แม่น้ำหลานชาง "
ในประเทศจีน เมืองสิบสองปันนาแห่งนี้ มีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจาก ชาวจีนฮั่น ทั้งประชากร สถาปัตยกรรม ภาษาและวัฒนธรรม แต่กลับมีความคล้ายคลึงกับชาวไทยใหญ่ ชาวไต รวมทั้งชาวไทยล้านนา(ภาคเหนือของประเทศไทย)และชาวลาว
1
สิบสองปันนานั้น เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางที่ลุ่มหุบเขาริมแม่น้ำโขง (ที่ชาวไทลื้อเรียกว่าแม่น้ำหลานชาง) มีสภาพอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน ฝนตกชุกอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป แผ่นดินอุดมไปด้วยป่าไม้เขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุดมไปด้วยสัตว์ป่า อย่างเช่น ช้างและนกยูง (สัตว์ที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของดินแดนสิบสองปันนา)
สิบสองปันนาเป็นดินแดนที่มีความสวยงามทางธรรมชาติและมีป่าดงดิบในเมืองเชียงรุ้งมีการแสดงโชว์นกยูงที่ขึ้นชื่อ(cr:www.newviewtour.com/www.aumlucktour.com)
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งปลูกข้าว อ้อย ยางพารา กาแฟ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ส่งขายไปยังเมืองอื่นๆในประเทศจีน
เมืองสิบสองปันนาแห่งนี้จึงได้รับสมญานามว่าเป็น " อาณาจักรแห่งต้นไม้ " และเป็น " เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ " ของมลฑลยูนานที่จีนภาคภูมิใจ
โชว์พาราณสี การแสดงเลื่องชื่อ ในสิบสองปันนา(cr:photoontour.com)
ในอดีตนั้น ช่วงที่สิบสองปันนาอ่อนแอลงและตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน แต่ศูนย์กลางอำนาจอยู่ไกล ขณะที่อิทธิพลของพม่าและสยามประเทศในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (เมื่อราว 200 กว่าปีก่อน) เริ่มแข็งแกร่งขึ้น
1
อาณาจักรสิบสองปันนาจึงต้องยอมอ่อนน้อม....ส่งเครื่องบรรณาการให้กับทั้ง 3 ฝ่าย คือพระเจ้ากรุงจีน เจ้ากรุงศรีอยุธยา(อันหมายถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)และเจ้ากรุงอังวะแห่งพม่า ....สิบสองปันนาในยามนั้น จึงถูกเรียกว่า " เมืองสามฝ่ายฟ้า" คือต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของเมืองที่แข็งแกร่งกว่าถึง 3 อาณาจักรในเวลาเดียวกัน
ในสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น หลังจากที่พระองค์ได้ส่งกองทัพมาปลดปล่อยเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาจากพม่าแล้ว ได้โปรดให้พระเจ้ากาวิละ ยกทัพไปตีเมืองพน เมืองหย่วน เมืองล่าและกวาดต้อนชาวไทยขึนจากเชียงตุง ชาวไทยใหญ่ จากเมืองฉานในพม่า
มาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และน่าน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียกยุคนั้นว่า " ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง " อันเป็นการฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาวิธีหนึ่ง เพราะเนื่องจากพม่าช่วงที่มายึดครองเชียงใหม่ ก็ได้กวาดต้อนชาวล้านนาไปอยู่ที่พุกามและมัณฑเลย์จำนวนมาก
1
อาณาจักรสิบสองปันนาถูกยื้อยุดฉุดดึงโดยอาณาจักรที่แข็งแกร่งกว่าอยู่นาน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม(ช่วงรัชกาลที่4-5ของไทย) อังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้ามามีอิทธิพลและขีดเส้นแบ่งจัดสรร ให้พม่าอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ สิบสองปันนาขึ้นอยู่กับจีน เชียงตุงขึ้นกับพม่า และให้ฝรั่งเศสมีอิทธิพลอยู่ในลาวและอินโดจีน
1
ในช่วงที่ เหมาเจ๋อตุง ขึ้นเป็นผู้นำจีน ได้ปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ.2492 และต่อมาในปี พ.ศ.2493 จีนได้เข้ามายึดครองสิบสองปันนา กษัตริย์องค์สุดท้าย คือ " เจ้าหม่อมคำลือ " แห่งราชวงศ์เชียงรุ้งถูกปลดเป็นเป็นสามัญชนและต้องทำงานให้กับรัฐบาลจีนใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันชนชาติส่วนน้อยแห่งมลฑลยูนาน
1
ภาพในวัยหนุ่มของ " เจ้าหม่อมคำลือ " กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวไทลื้อ(สิบสองปันนา)(cr:www.oknation)
" เจ้าหม่อมคำลือ "(เด็กที่ยืนหน้าสุด)กับพระเจ้าหอคำเชียงรุ่ง องค์ที่ 43 ซึ่งเป็นพระบิดาบุญธรรมถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกในครอบครัว(cr:www.oknation)
และเชื้อพระวงค์คนอื่นๆก็ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็นภาษาจีน โดยให้ใช้แซ่ " เตา " เป็นคำนำหน้าชื่อ
ส่วนชาวไทยลื้อในสิบสองปันนาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างจำกัด ถูกกีกกันในเรื่องการนับถือศาสนาพุทธ แต่เดิมโบราณนั้นชาวไทยลื้อจะยึดมั่นในระบบกษัตริย์และศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ขบวนการเรดการ์ดเห็นว่า วัฒนธรรมของชาวไทลื้อเป็นสิ่งที่ล้าหลัง และต้องการสร้างความเป็นจีนให้กับชาวไทลื้อ จึงได้ทำการเผาทำลายวัดทั่วทั้งแผ่นดินสิบสองปันนา เพราะต้องการลบล้างคติความเชื่อที่ชาวไทลื้อยึดถือกันมาแต่โบราณ
ช่วงนั้นนอกจากการปิดกั้นเรื่องการนับถือศาสนาแล้ว ชาวไทลื้อยังถูกห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมหรือประกอบพิธีกรรมใดๆ อีก เช่น จัดพิธีสงกรานต์ การทำบุญตักบาตร และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องก้บศาสนา จึงทำให้วัฒนธรรมที่ดีงามค่อยๆเลือนหายไป
หลังจากระบบคอมมูนถูกยกเลิก หลังผ่านช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ชาวไทลื้อได้สิทธิที่นากลับมาเป็นของตนเหมือนเดิม ชาวไทลื้อ ได้มีโอกาสกลับมาจัดกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญต่างๆและได้ฟื้นฟูส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามที่เคยมีมาแต่ก่อนให้กลับมาอีกครั้ง......🌷🌷
เมืองสิบสองปันนาแห่งนี้ จึงถือว่า เป็นดินแดนแห่งมนต์เสน่ห์ ในด้านของความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทลื้อ รวมทั้งวัดวาอารามที่แสดงออกถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา หากวันหนึ่งมีโอกาส...คงได้ไปเยือนสักครั้ง..🌷🌷🌷
😊😊ขอบคุณที่ติดตามอ่านเรื่องราวนะคะ
🙏🏼🙏🏼🌸🌸 ฝากกด like & share
🙏🏼ฝากติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจ นำเสนอเรื่องราวสาระและความรู้ดีๆกันต่อๆไปค่ะ😊😊😊
Dent-jasmine เรียบเรียง
Reference .
-www.oknation.nationtv.tv
-www.silpa-mag.com/culture/article_6863
-www.oceansmile.com/China/SibsongpannaHistory.htm
โฆษณา