9 เม.ย. 2020 เวลา 17:15 • ข่าว
เจาะอากาศยานแก้ไฟป่าเชียงใหม่ : รัฐต้องลงทุนเชิงป้องกัน Forest Fire Management ในอนาคต
การใช้อากาศยานแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันที่เกิดขึ้นรุนแรงสุดในรอบ 30 ปี ของจังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
แต่ก็ถือว่าการระดมอากาศยานไปดับไฟในพื้นที่เป็นการบริหารจัดการไฟป่าที่โหมได้ดีที่สุด และลดการสูญเสียชีวิต บุคลากรที่ต้องเข้าไปปะทะหน้างานได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจที่ในปีนี้เราได้สูญเสียบุคลากรที่เข้าร่วมดับไฟป่าถึง 3 ท่าน
สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อย่างต่อเนื่องนับเดือน สร้างความเสียหายจากไฟป่าแล้วไม่ต่ำกว่า 2,500 ไร่รวมถึงเกิดมลพิษกระทบกับประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ค่า PM 2.5 สูงต่อเนื่องในระดับอันตราย ค่าอากาศมลพิษเชียงใหม่อยู่ในเกณฑ์ปอดแตกต่อเนื่องขึ้นอันดับหนึ่งของโลก
กระทั่งต้นเดือนเมษายนก็ยังไม่มีวี่แววว่าค่าอากาศจะดีขึ้น ยิ่งสัมทับกับการระบาดของไวรัส COVID-19 คนเชียงใหม่โดน 2 เด้งเต็ม ๆ และไม่น่าเชื่อว่าต้นเหตุของไฟป่าเกิดจากฝีมือจุดไฟของมนุษย์!
เนื้อหาบทความของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง “เครื่องบินดับไฟป่า สำคัญกว่าเรือดำน้ำ” ได้ตั้งประเด็นน่าสนใจไว้ว่า ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะต้องจัดหาเครื่องบินดับไฟป่า หรือเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ดัดแปลงมาดับไฟป่า โดยให้ข้อมูลว่า กรณีการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ได้ใช้เครื่องบินต่าง ๆ มากมายกว่า 500 เครื่อง ประกอบด้วยเครื่อง DC-10 เป็นเครื่องบินลำ เลียงขนาดใหญ่ ดัดแปลงมาบรรทุกน้ำได้เที่ยวละ 44,000 ลิตร
เครื่องบินดับไฟป่าโดยเฉพาะ airtanker หลายขนาด บรรทุกน้ำได้ครั้งละ 15,000 ลิตร เฮลิคอปเตอร์ชนิดต่าง ๆ บรรทุกน้ำได้ตั้งแต่เที่ยวละ 900- 7,000 ลิตร และระดมเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ที่ถูกฝึกมาโดยเฉพาะ 3,700 คน ทหารจากกองทัพบก กองทัพอากาศประมาณ 3,000 คน เข้าดับไฟป่าราวกับทำสงคราม
“หากจะจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ยามนี้ บางทีรถถัง เรือดำน้ำ รถหุ้มเกราะอาจจะไม่จำเป็นเท่ากับ เครื่องบินดับไฟป่า airtanker”
ณ วันที่ 9 เมษายน 2563 ได้รับข่าวดีว่ากระทรวงกลาโหม ได้ให้เหล่าทัพพิจารณาความจำเป็นในแต่ละโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เอง ไม่ว่าจะเป็นชะลอโครงการ ทบทวน เจรจากับคู่สัญญา โดยให้คำนึงถึงการดำรงความพร้อมขั้นต่ำของกองทัพเท่าที่ทำได้ ย่อ ๆ กองทัพบกประมาณ 10,000 ล้านบาท กองทัพเรือ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท กองทัพอากาศประมาณ 8,000 ล้านบาท
ข้อมูลส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การใช้อากาศยานสนับสนุนงานดับไฟป่า ที่บอกจุดยืนชัดเจนว่า
“เครื่องบินเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและมีประโยชน์อย่างมหาศาลในงานดับไฟป่า อย่างไรก็ตามจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เครื่องบินไม่ใช่เทพเจ้า เครื่องบินไม่สามารถทำให้ไฟดับได้ แต่เครื่องบินสามารถให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดับไฟป่าได้อย่างยอดเยี่ยม ถ้ามีงบประมาณเพียงพอที่จะใช้งานเครื่องบิน”
เครื่องบินสามารถสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าได้ในแทบทุกภารกิจ โดยใช้เป็นกองบัญชาการลอยฟ้า (Command Post) ใช้ในการลาดตระเวนตรวจหาไฟ ประสานงานการดับไฟ ขนส่งพนักงานดับไฟป่าและเครื่องมือดับไฟป่า ส่งกำลังบำรุง กู้ภัย และทิ้งสารหน่วงไฟ (Fire Retardant)
ทั้งนี้ อากาศยานที่ใช้ในงานไฟป่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เครื่องบินปีก (Fixed wing) และเครื่องบินปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์ (Rotary wing)
เครื่องบินปีก มีทั้งเป็นเครื่องบินทิ้งสารหน่วงไฟ (Fire retardant) และทิ้งน้ำ ที่นิยมใช้เครื่องใหญ่ C-130 มาดัดแปลงเพื่อใช้ในการทิ้งสารเคมีหน่วงไฟ โดยออกแบบถังสำหรับใส่สารหน่วงไฟเป็นพิเศษ (Modular Airborne Fire Fighting System, MAFFS) เพื่อติดตั้งกับเครื่องบินดังกล่าว โดยสามารถบรรทุกน้ำหรือสารหน่วงไฟได้ถึง 3,000 แกลลอน (ประมาณ 11,355 ลิตร)
ส่วนเครื่องบินสะเทิ้นน้ำสะเทินบกที่มีชื่อเสียงในด้านการดับไฟป่า คือ เครื่อง CL-215 ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 60 (1960s) บรรทุกน้ำได้ 5,443 ลิตร สามารถปฏิบัติงานสนับสนุนการดับไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีใช้งานอยู่ในประเทศแคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน กรีซ ยูโกสลาเวีย เวเนซูเอล่า และประเทศไทย
ในระยะหลังได้มีการปรับปรุงพัฒนาเครื่องให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและบรรทุกน้ำได้มากขึ้น กลายเป็นเครื่องรุ่น CL-415 เริ่มบินครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2536 สามารถบรรทุกน้ำได้ถึง 6,124 ลิตร โดยมีประตูเปิดทิ้งน้ำ 4 ประตู ทำให้ปรับรูปแบบการทิ้งน้ำได้ตามต้องการ
สำหรับประเทศไทย ได้นำเครื่องบินปีกจากกองบินเกษตร ปัจจุบันยกฐานะเป็นสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาใช้สนับสนุนงานดับไฟป่า ตั้งแต่ช่วงปี 2530 โดยได้ทดลองใช้เครื่องบินปีกขนาดเล็กเครื่องยนต์เดียว คือ เครื่อง Cessna ในการลาดตระเวนตรวจหาไฟ และใช้เครื่อง Porter เครื่อง Flasher และเครื่อง Air Truck ซึ่งบรรทุก น้ำได้ ระหว่าง 300-500 ลิตร ในการทิ้งน้ำดับไฟป่า
ในปี 2533 ได้นำเครื่อง Flasher มาบินทิ้งน้ำดับไฟป่าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วหรือเมื่อ 20 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบกับสมรรถนะของเครื่องไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานทิ้งน้ำดับไฟในพื้นที่ลักษณะดังกล่าว จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินหมายเลข กษ 606 ตกในระหว่างปฏิบัติงานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2533 บริเวณใกล้บ้านแม้วดอยปุย นักบินได้รับบาดเจ็บกระดูกสะบ้าหัวเข่าแตก เครื่องบินได้รับความเสียหายทั้งลำ
ถัดมาเพียงเดือนเศษ คือในวันที่ 28 มีนาคม 2533 เครื่องบินปีกหมายเลข กษ 609 ประสบอุบัติเหตุตกในระหว่างปฏิบัติงานดับไฟป่าบริเวณใกล้วัดศรีโสดา นักบินเสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ไฟป่าประจำเครื่องได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากนั้นก็ไม่มีการนำเครื่องบินปีกขนาดเล็กมาใช้ในการดับไฟป่าอีกเลย
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเคยนำเครื่องบิน CL-215 ของกองทัพเรือ ซึ่งซื้อมาตั้งแต่ปี 2521 มาใช้ในการดับไฟป่า โดยมีการทดลองใช้ครั้งแรกในช่วงปี 2533-2534 ที่จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนเฮลิคอปเตอร์ ชนิดของเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการทิ้งน้ำหรือสารหน่วงไฟ แบ่งออกเป็น 3 ขนาดตามความสามารถในการบรรทุกน้ำ ดังนี้คือ
- เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก เช่น เฮลิคอปเตอร์ขนาด 5-6 ที่นั่ง จะสามารถหิ้วถังน้ำที่มีความจุประมาณ 400-500 ลิตร
- เฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง เช่น เครื่อง Bell 205 (Huey) ของอเมริกา และเครื่อง Mi 17 ของรัสเซีย สามารถหิ้วถังน้ำแบบพับได้ ชนิดแบมบี้ (Bambi bucket) ขนาด 1,500 ลิตร ในขณะที่เครื่อง Kamov 32 ของรัสเซียเช่นกัน หิ้วน้ำได้ 3,000 ลิตร
- เฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่อง CH-47D (ชีนุค) ของอเมริกาสามารถหิ้ว Bambi bucket ขนาดความจุสูงสุด 9,800 ลิตร (ภาพที่ 9.5) หรือเครื่อง Mi 26 ของรัสเซีย ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถหิ้ว Bambi bucket ขนาด 9,800 ลิตร ได้พร้อมกันถึงสองใบ หรือเครื่อง Sky Crane ของอเมริกาซึ่งบรรทุกน้ำใน Belly tank ใต้ท้อง ได้ถึง 2,300 แกลลอน (ประมาณ 8,705 ลิตร)
การใช้เฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย ได้มีการทดลองนำเฮลิคอปเตอร์จากสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาทดลองใช้ในภารกิจดับไฟป่าตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งงานควบคุมไฟป่าในประเทศไทยใหม่ๆ รุ่นแรกเป็นแบบ Jet Ranger ขนาด 5 ที่นั่ง พร้อมถังน้ำดับไฟป่าขนาด 500 ลิตร ที่โครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2526 ปรากฏว่าได้ผลดี คือสามารถปฏิบัติงานได้เร็วกว่าภาคพื้นดินถึง 7 เท่า และลดความเสียหายจากไฟป่าลงได้ถึง 12 เท่าตัว โดยปัจจุบันถือว่าเฮลิคอปเตอร์เป็นเครื่องมือสนับสนุนงานดับไฟป่าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในช่วงรอยต่อเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน ที่ผ่านมาน่านฟ้าเชียงใหม่ แถบ “ดอยสุเทพ-ปุย” มีความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้น ด้วยอากาศยานหลายรูปแบบมีความทันสมัยขึ้น และสนับสนุนการดับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ
The Analyzt สำนักข่าวออนไลน์ “กระตุกการวิเคราะห์ข่าว”ขอนำเสนอและประมวลเครื่องมืออากาศยาน ทั้งที่เป้นเครื่องบินปีก (Fixed wing) และเครื่องบินปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์ (Rotary wing) ที่ช่วยสนับสนุนดับไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ
KA – 32 “เจ้าปักเป้าสีส้ม” พระเอกแห่ง ปภ.
เฮลิคอปเตอร์ Ka-32A ฉายาปักเป้าสีส้ม เป็น เฮลิคอปเตอร์ ที่ผลิตโดยบริษัท Kamov ประเทศรัสเซีย Upgrade จาก Ka-27มีอุปกรณ์ กู้ภัยเพิ่มเติม คือ ปืนฉีดน้ำและสารเคมีดับเพลิง ถังน้ำขนาด 3,000 ลิตรสามารถเติมน้ำ และปล่อยนำได้โดยไม่ต้องลงจอด ถังโฟม 150 ลิตร กระเช้าตักนำ 5,000 ลิตรรอกกู้ภัยไฟฟ้า และเปลพยาบาล พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ทำการบินได้นาน 2 ชั่วโมง 45 นาทีอัตราสิ้นเปลือง 860 ลิตรต่อชั่วโมง
คุณลักษณะของอากาศยาน KA-32
• ประเทศผู้ผลิต สหพันธรัฐรัสเซีย
• บริษัทผู้ผลิต Kamov Russia Helicopter industy
• รูปแบบเครื่องยนต์ แก๊สเทอร์ไบน์ TV3-117VMA
• แรงม้า 2,225 แรงม้า จำนวน 2 เครื่องยนต์
• น้ำหนักรวมสูงสุด 11,000 กิโลกรัม (24,520 ปอนด์)
• น้ำหนักเครื่องเปล่า 6,800 กิโลกรัม (14,991 ปอนด์)
• น้ำหนักบรรทุกภายใน 3,700 กิโลกรัม (8,157 ปอนด์)
• น้ำหนักบรรทุกภายนอก 5,000 กิโลกรัม (11,023 ปอนด์)
• จำนวนที่นั่งผู้โดยสาร 10 นาย
• ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง, 140 ไมล์ทะเล
• ความเร็วเดินทาง 222 กิโลเมตร/ชั่วโมง, 120 ไมล์ทะเล
• พิสัยบิน 622 กิโลเมตร, 336 ไมล์ทะเล
• เพดานบินสูงสุด 5,000 เมตร, 16,400 ฟุต
• บินได้นาน 2 ชั่วโมง 45 นาที
• ประเภทเชื้อเพลิง เจ.พี.8
• ความจุเชื้อเพลิง 2,450 ลิตร
• อัตราสิ้นเปลือง 860 ลิตร/ชั่วโมง
• ประจำการ พฤษภาคม 2562
อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ดับเพลิง/บรรเทาสาธาณภัย - ติดตั้งถังน้ำความจุ 3,000 ลิตร และ ถังโฟมความจุ 150 ลิตร
- กระเช้าตักน้ำความจุ 5,000 ลิตร
ภารกิจกู้ภัย/การขนย้ายผู้ป่วย - ชุดรอกกู้ภัยแบบไฟฟ้า รับน้ำหนักได้ 300 กิโลกรัม
- เปล อภิบาลสำหรับผู้ประสบภัย จำนวน 1 ชุด
- อุปกรณ์การกู้ภัยแบบกระเป๋า (SAR Pack) จำนวน 4 ชุด
- อุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉินแบบกระเป๋า (Jump Bag ALS Kit)
- Searchlight ขนาดไม่น้อยกว่า 1,600 วัตต์
BT – 67 จอมโปรยละอองน้ำลดฝุ่นควัน
เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2ก " Basler Turbo-67 " (BT - 67) เป็นเครื่องของกองทัพอากาศ ที่ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท Basler Turbo Conversions LLC. ประเทศสหรัฐอเมริกา ดัดแปลงเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 Douglas C-47 จำนวน 3 ลำ ในปี 2539 ให้เป็น Basler Turbo-67 หรือ BT-67 เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจลำเลียง ภารกิจดับไฟป่า และ ภารกิจฝนหลวง ในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของรัชกาลที่9
โดยการดัดแปลงนั้นมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ลูกสูบดาว Pratt & Whitney R-1830-90C 1200 แรงม้า เป็น เครื่องยนต์เทอร์โบพรอป Pratt & Whitney PT6-67R 1425 แรงม้า ระบบอวิโอนิคและระบบต่างๆของเครื่องบินใหม่มีความทันสมัยและทนทานมากขึ้น ให้กำลัง 1,424 แรงม้า จำนวน 2 เครื่อง เพดานบิน: 25, 000 ฟุต ความเร็วสูงสุด: 398 กม./ชม มีการยืดลำตัวส่วนหน้าออกไปอีก ๑ เมตร โดยการดัดแปลงตกราคาเครื่องละประมาณ 200ล้านบาท ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้เครื่องสามารถประจำการต่อไปได้อย่างน้อย 25 ปี
ปัจจุบันเป็นเครื่องบินที่กองทัพอากาศใช้ในการสนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง การบินควบคุมไฟป่า และการบินโปรยน้ำลดฝุ่นละอองในอากาศ เครื่องบินสามารบรรทุกน้ำได้เที่ยวละประมาณ 3,000 ลิตร ทั้งนี้ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จะมาประจำการอยู่ที่ กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนจบภารกิจ
เครื่อง Peacemaker (AU-23) เจ้าปากฉลาม
สำหรับเครื่องบินฝึกแบบ 41 หรือ บ.ฝ.41 Peacemaker (AU-23) ประเทศผู้ผลิต สหรัฐอเมริกา บริษัทผู้ผลิต Fairchild Aircraft พัฒนามาจาก เครื่องบิน Pilatus PC-6 Porter เป็นเครื่องบินฝึก 4 ที่นั่ง มีระยะทำการบิน 700 กิโลเมตร ความสูง 16,500 ฟุต บินได้นานถึง 4 ชั่วโมงเป็นเครื่องบินเล็กที่สามารถ เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ภารกิจในวิกฤติไฟป่าหมอกควันภาคเหนือครั้งนี้คือการลาดตระเวนตรวจจุดความร้อน เพื่อประสิทธิภาพของการตรวจสอบสภาพอากาศ และภูมิประเทศที่เกิดจุดความร้อน คือ มาตราการหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่งพิกัดให้หน่วยกำลังพลดับไฟป่าภาคพื้นดินเข้าควบคุมจุดความร้อน ตลอดจนใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำหากจุดความร้อนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบาก เพื่อเข้าถึงจุดความร้อนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนอกจากนี้เครื่องนี้มีภารกิจเน้นการโจมตีทางอากาศ การลาดตระเวนทางอากาศ การบินปฏิบัติการทางจิตวิทยา การบินทำฝนหลวงสนองโครงการพระราชดำริ และครั้งหนึ่ง เครื่องบินแบบนี้ เคยถูกนำมาใช้ในภารกิจ แจ้งเตือนล่วงหน้าทางอากาศ
เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 (C130) จอมพลังเฮอร์คิวลิส “หมูหิน”
จะใช้เครื่องแบบนี้กรณีหากไฟป่าขยายวงกว้าง สามารถบรรทุกน้ำช่วยภารกิจ ซึ่งจะทำได้มากกว่าเครื่อง BT-67 ถึง 4 เท่า C-130 ของไทยจะบรรทุกน้ำด้วยระบบ PCADS ได้ประมาณ 15,000 ลิตรต่อเที่ยว ชื่อเต็มคือ Lockheed C-130 Hercules เป็นเครื่องบินลำเลียงใช้เครื่องยนต์เทอร์โบใบพัด 4 เครื่องยนต์ ในประเทศไทย ซี-130 เป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศเข้าประจำการในปี พ.ศ. 2523 ให้บริการสำหรับขนส่งข้าราชการของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องไปราชการหรือปฏิบัติภารกิจตามหัวเมืองต่าง ๆ และภารกิจอื่นอีกมากมาย เช่น ภารกิจลงตรวจพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติธรรมชาติ รับ-ส่งคณะ ครม. สับเปลี่ยนกำลังพล ลำเลียงผู้เสียชีวิต ฯลฯ มีชื่อเรียกอย่างติดตลกในหมู่นักข่าวว่า "หมูหิน"
เครื่องบินไร้คนขับตรวจการณ์แบบที่ 1 RTAF U1
โดรนรุ่นนี้ สามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง ในรัศมีปฏิบัติการ 100 กิโลเมตร และสามารถวิ่งขึ้นและร่อนลงสนามบินด้วยระบบอัตโนมัติ มีสมรรถนะ และขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหาร และการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม พร้อมทั้งการถ่ายภาพจุดความร้อน ความสูงอยู่ที่ 10,000 ฟุต บินได้นาน 6-8 ชั่วโมง เพื่อยืนยันเป้าหมายให้ผู้ดำเนินการดับไฟป่าหรือเฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำ เข้าถึงจุดอย่างถูกต้อง
เฮอริคอปเตอร์ MI 17
เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงทั่วไป ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 จากประเทศรัสเซีย ผลิตในโรงงานในคาซานและอูลัน-อูเด และมีอีกชื่อหนึ่งว่า Mi-8M ในกองทัพรัสเซีย เป็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดกลางแบบแกนใบพัดเดี่ยว ใช้เครื่องยนต์ Klimov TV3-117MT 2 เครื่องยนต์และปรับปรุงลำตัวให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น และสามารถใช้เครื่องยนต์ Isotov TV3-117VM สำหรับการใช้งานในพื้นที่สูงและร้อน สมรรถนะและขีดความสามารถ Mi 17 มีน้ำหนักรวม 28,700 ปอนด์ น้ำหนักบรรทุก 8,800 ปอนด์ ระบบอาวุธ ปืนกลอากาศ จรวด จรวดนำวิถี วางทุ่นระเบิด ความเร็วสูงสุด 139 ไมล์/ชม. ความเร็วเดินทาง 127 ไมล์/ชม.พิสัยบิน 358 ไมล์ เพดานบิน 20,000 ฟิต บินได้นาน 3:10 ชม ติดตั้งเปลพยาบาลภายในลำตัวได้ 12 เปล จำนวนที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร 36 ที่นั่ง
เครื่องรุ่นนี้สามารถบินได้นาน 3 ชั่วโมง 20 นาที ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟ เฮอริคอปเตอร์รุ่นนี้มีสมรรถนะเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง เครื่องยนต์เทอร์โบ ใช้กำลังเครื่องยนต์ 2,000 แรงม้า สามารถติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟ Bambi Bucket บรรจุน้ำได้ 5,000 ลิตร
เฮลิคอปเตอร์ EURO COPTER AS350Squirrel :เจ้าแมลงปอสีแดงกรมทรัพย์
เฮลิคอปเตอร์ รุ่น Eurocopter AS350Squirrel สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เครื่องยนต์เดี่ยว ผลิตโดยบริษัท Aerospatiale ประเทศฝรั่งเศส ขึ้นทำการบินเป็นครั้งแรกในปี 1974 เป็นอากาศยานแบบปีกหมุนของยุโรปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแบบหนึ่ง นำอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ หมายเลขทรัพยากร 1117 และ หมายเลขทรัพยากร 1106 เป็นเฮลิคอปเตอร์ของศูนย์ปฏิบัติการบินที่ 2 เชียงใหม่ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถติดตั้ง Bambi Bucket ขนาด 500 ลิตร ความเร็วสูงสุด 248 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วบินเดินทาง 230กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบินสูงสุด 8,360 ฟุต พิสัยบิน(บินไกล). 670กิโลเมตร – 362 นอลติเคิลไมล์
น้ำหนัก 1175กิโลกรัม ราคาลำละ 1,500 ล้านบาท
เฮลิคอปเตอร์ ฮท.72 UH-72A (LAKOTA)
สำหรับ ฮ.ท.72 เพดานการบินอยู่ที่ 18,000 ฟุต หรือ 5,486 กิโลเมตร บินได้นานถึง 2 ชั่วโมง 45 นาที เฮลิคอปเตอร์ 72 UH-72A (LAKOTA) ใช้ในการลาดตระเวนสำรวจจุดความร้อน และสภาพอากาศในพื้นที่ เป็นเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป บรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุดไม่เกิน 7 นาย( ไม่รวมนักบิน ) น้ำหนักบรรทุก 3,953 ปอนด์ เครื่องยนต์ GASTURBINE แบบ TURBOSHAFT ยี่ห้อ TURBOMECA รุ่น ARRIEL 1E2 กำลัง 738 SHP จำนวน 2 เครื่อง ความเร็วเดินทาง 131 KNOT พิสัยบิน 670 กม. (370 NM) ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 868 ลิตร ( 229 GAL ) ความสิ้นเปลือง สป. 3 380 ลิตร/ชม. ( 100 GAL/ชม. )
เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๑๑ (EC-725)
EC725 พัฒนามาจากเฮลิคอปเตอร์ในตระกูล Super Puma / Super cougar สำหรับใช้ในกองทัพ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์ปจำนวนสองเครื่อง สามารถติดตั้งเบาะผู้โดยสารได้ 29 ที่นั่ง มีลูกเรือประจำเครื่องสองนาย และถูกส่งออกสู่ตลาดเฮลิคอปเตอร์ทหารเพื่อใช้เป็น ฮ. ขนส่งลำเลียงทหาร อพยพทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบ รวมไปถึงการทำหน้าที่บินค้นหาและกู้ภัยช่วยเหลือทางยุทธวิธี มีอุปกรณ์ รอกกว้าน แบบ single Hoist สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 600 ปอนด์ สมรรถนะของเฮลิคอปเตอร์แบบ EC-725 Maximum Endurance 4:26 hr (80 kts) Maximum Range 491 NM ความเร็วปฏิบัติการ 0 – 145 kts รัศมีปฏิบัติการ 200 NM Military transport up to 28 seats MEDEVAC 11 stretchers
อนาคตอากาศยานดับไฟป่าที่ไทยต้องมีประจำการ
บทความของ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาปริญญาเอก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้เขียนบทความเรื่อง ไฟป่าและหมอกควัน: ทางออกด้วยเทคโนโลยีที่เพียงพอ โดยเสนอ รัฐบาลไทยสามารถนำมาใช้หรือจัดซื้อใหม่ ซึ่งสามารถนำมาช่วยลดความรุนแรงของไฟป่าและปัญหาหมอกควัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ถึงแม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นวิถีทางแนวคิดที่จำเป็นต่อการช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกปีของประเทศเรา โดยระบุอากาศยานที่น่าสนใจดังนี้
เครื่องบินทิ้งระเบิดน้ำ (Water Bomber)
เครื่องบินทิ้งระเบิดน้ำในแบบ fixed-wing เป็นตัวเลือกที่สำคัญในการจัดการกับไฟป่าขนาดใหญ่ ในระดับที่ชาวเหนือกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เช่น เครื่อง Viking Canadiar CL-515 Amphibious Water Scooping Aircraft ซึ่งเป็นเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถขึ้นลงในแหล่งน้ำได้
เครื่องบิน CL-515 สามารถตักน้ำได้ 7,000 ลิตร ภายในเวลา 14 วินาที จากแหล่งน้ำที่ใช้บินขึ้นลงและยังสามารถบรรทุกสารเคมีหน่วงไฟได้อีกด้วย ซึ่งมีการประเมินการว่าเครื่องบิน CL-515 1 ลำ สามารถบรรทุกน้ำได้ทั้งหมด 700,000 ลิตรต่อวัน (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 100 เที่ยวต่อวัน) หากมีแหล่งน้ำที่ใกล้พอ หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำสูง 1 ซม. บนพื้นที่กว่า 45 ไร่ ในกรณีนี้ หากเรามีการจัดซื้อเครื่องบิน CL-515 1 ฝูงบินเป็นจำนวน 10 ลำ จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ในการช่วยดับไฟได้มากถึง 450 ไร่ต่อวัน ราคาประเมินของเครื่องบิน CL-515 จะอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทต่อลำ หากเราจัดซื้อ 10 ลำจะคิดเป็นราคารวม 9,000 ล้านบาท
ระยะความยาวของรันเวย์บนน้ำที่เครื่องบิน CL-515 ต้องใช้คือ 1.05 กิโลเมตร ในกรณีที่รัฐบาลไทยจัดซื้อเครื่องบินชนิดนี้ และให้ประจำการอยู่ที่ภาคเหนือ ก็จะสามารถใช้แหล่งน้ำหลายที่เป็นจุดประจำการ เช่น เขื่อนแม่กวง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก อ่างเก็บน้ำแม่ต๊าก จังหวัดเชียงราย หรือกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา รวมถึงที่อื่นๆ ในภูมิภาคที่มีความเหมาะสม
นอกจากนั้นก็จะมี เครื่องบินน้ำ Beriev Be-200 ของรัสเซีย ที่สามารถบรรจุน้ำหรือสารหน่วงไฟได้ 12,000 ลิตร หรืออาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องบิน C-130 จำนวนหนึ่ง ของกองทัพอากาศไทย (จากทั้งหมด 12 ลำ) มาใส่อุปกรณ์โปรยน้ำ Modular Airborne FireFighting System (MAFFS)เพื่อนำมาบรรทุกน้ำหรือสารหน่วงไฟที่ความจุ 15,000
เครื่องบินดับไฟป่าอีกรุ่นจากค่ายหมีขาว รัสเซียรุ่น Briev Be-200 เครื่องบินล้ำนี้สามารถบรรทุกน้ำได้ 12,000 ตันในแต่ละเที่ยว
เฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง (Helitankers)
แน่นอนว่าในสถานการณ์ไฟป่าที่เครื่องบิน fixed-wing สามารถเข้าถึงได้ยาก เช่น พื้นที่ลาดชัน หรือระยะขอบเขตระหว่างป่ากับชุมชน อากาศยาน rotary-wing (หรือเฮลิคอปเตอร์) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะความคล่องตัวในการบิน และความแม่นยำในการทิ้งน้ำ
สถานการณ์ที่เชียงใหม่ในปัจจุบัน เราเห็นการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรฯ ในการช่วยดับไฟป่า ด้วยการใช้กระเช้าตักน้ำ “Bambi buckets” ห้อยมาจากตัวเฮลิคอปเตอร์ ข้อดีของกระเช้า Bambi คือการที่เราสามารถแปลงเฮลิคอปเตอร์ประเภทใดก็ได้ ให้เป็นเครื่องมือในการช่วยดับเพลิง แต่ปัญหาที่สำคัญคือ การมีปริมาณความจุน้ำที่น้อย เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ส่วนใหญ่ในบ้านเรามีขนาดเล็ก
Erikson S64 Skycrane
Skycrane เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ปกติแล้วถูกนำออกมาเพื่อใช้ยกของหนัก และสามารถใส่แทงก์บรรจุน้ำหรือสารเคมีหน่วงไฟได้กว่า 10,000 ลิตรต่อครั้ง และใช้เวลาประมาณ 45 วินาทีในการดูดน้ำเข้าแทงก์จากแหล่งน้ำตื้นได้ นอกจากนั้น ยังสามารถติดปืนใหญ่ฉีดน้ำ ทำให้การควบคุมทิศทางในการปล่อยน้ำมีความแม่นยำกว่าเดิม และไม่จำเป็นต้องทิ้งน้ำพร้อมกันหมด สามารถช่วยดับไฟในชุมชน ในเมือง หรือตัวอาคารสูง นอกฤดูกาลไฟป่าได้อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น Skycrane สามารถนำไปใช้งานการยกของหนักต่างๆ ได้สูงสุดถึง 10 ตัน จุดอ่อนของ Skycrane ไม่สามารถบรรทุกคนได้เกิน 5 คน และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อลาดตระเวนหรือทำกิจกรรมกู้ภัยต่างๆ
ราคาประเมินของ Skycrane ต่อลำคือ 900-1200 ล้านบาท หากเรามี Skycrane เป็นฝูงบินจำนวน 10 ลำ (ราคารวมเท่ากันเรือดำน้ำ 2 ลำจากจีน) ภายในหนึ่งวัน เราจะมีกำลังทิ้งน้ำได้ถึง 12 ล้านลิตร หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำสูง 1 ซม. บนพื้นที่กว่า 750 ไร่ นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าทางบริษัทผู้ผลิตเปิดให้เช่า Skycrane ในราคา 45 ล้านบาทต่อการใช้งาน 3 เดือน วิกฤตการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียมีการเช่าใช้เป็นจำนวนหลายลำ ส่วนประเทศที่มี Skycrane ประจำการในปัจจุบัน คือ อิตาลี เกาหลี และสหรัฐฯ
เครื่องบินทั่วไป GA-ร่มบิน และโดรน :อากาศยานทางเลือก
นอกจากการซื้อเครื่องบินผจญเพลิงที่ใช้งบประมาณสูงแล้ว วิกฤติไฟป่าเชียงหม่ครั้งนี้ มีกลุ่มร่มบินอาสาเชียงใหม่ กลุ่มโดรนจิตอาสา และกลุ่มจักรยานยนต์วิบาก ได้อาสาเข้าช่วยเหลือภาครัฐ ที่จัดทีมขึ้นบินสำรวจจุดเกิดไฟป่า เพื่อบอกพิกัดทหารส่ง "เฮลิคอปเตอร์" นำน้ำเข้าไปดับได้รวดเร็วแม่นยำ พร้อมเฝ้าระวัง ออกค้นหาผู้ต้องสงสัยลักลอบเผาป่าด้วย เป็นทางเลือกของการใช้อากาศยานทั่วไป General Aviation ที่หมายรวมถึงเครื่องบินขนาดเล็ก โครนที่จะเป็นอากาศยานอาสาสนับสนุนการดับไฟป่าได้รวดเร็วและงบประมาณไม่สูงนักด้วย
บทสรุป
อากาศยานเพื่อการสนับสนุนการดับไฟป่า และแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ หรือทั่วประเทศแม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุแต่ก็ถือว่ามีความจำเป็นสูงสุดอย่างยิ่งยวด ตราบใดที่เรายังไม่สามารถแก้ไขต้นเหตุ วิธีแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จได้ และนับวันความรุนแรงจะทวีทบขึ้นทุกปี ยิ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์แล้วก็ยิ่งอันตราย การใช้เครื่องมือที่มีสมรรถนะสูงเป็นปลายทางของ Forest Fire Management ที่มีความจำเป็นหากประเมินความเร่งด่วนกับยุทโธปกรณ์ทางการทหารที่สามารถหน่วงเวลาการจัดซื้อได้ เพราะวิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ครั้งนี้ ได้ระดมอากาศยานเต็มพิกัดมาแก้ไขปัญหาก็ยังเอาไม่อยู่ สร้างมลภาวะทางอากาศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงในพื้นที่มหาศาล นอกจากนั้นอีกทางหนึ่งคือการส่งเสริมอากาศยานทางเลือก ได้แก่อากาศยานทั่วไป (General Aviation) ทั้งร่มบิน ไจโลคอปเตอร์ หรือเครื่องบินเล็ก มาเสริมทัพให้เข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายขึ้นด้วย
อ้างอิง :
1. เครื่องบินดับไฟป่า สำคัญกว่าเรือดำน้ำ https://judprakai.bangkokbiznews.com/social/1716
2. การใช้อากาศยานสนับสนุนงานดับไฟป่า http://www.dnp.go.th/forestfire/web/frame/lesson9.html
3. ไฟป่าและหมอกควัน: ทางออกด้วยเทคโนโลยีที่เพียงพอ https://thaipublica.org/2020/04/fuadi-14/
5. ทบ.จับมือปภ.ส่ง KA-32 ฮ.รัสเซีย แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ http://oknation.nationtv.tv/blog/akom/2020/01/28/entry-5
โฆษณา