10 เม.ย. 2020 เวลา 06:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“สยามโมคีลีส เพนินซูลาริส”
สยามโมคีลีส เพนินซูลาริส (Siamochelys peninsularis) จัดเป็นเต่ารุ่นดั้งเดิม (Premitive Testudines) พบซากดึกดำบรรพ์ส่วนกระดองหลังและกระดองท้อง พร้อมกระดูกเชิงกรานและกระดูกขา สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ในหมวดหินคลองมีน ยุคจูแรสสิกตอนกลาง อายุประมาณ 174 – 163 ล้านปีก่อน ที่บ้านมาบชิง ตำบลเขาขาว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช การศึกษาในปี 2545 พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก โดยตั้งชื่อสกุลตามสถานที่พบ คือ ประเทศไทย หรือสยาม (Siam) ประสมกับคำว่า chelys (“คีลีส” คำอ่านตามหลักภาษากรีก) แปลว่า เต่า และตั้งชื่อสปีชีส์ตามแหล่งที่พบ คือ คาบสมุทร ในภาษาละติน Paeninsula หมายถึงแผ่นดินที่ยื่นออกไปในทะเล หรือใกล้กับทะเล ซึ่งหมายถึงภาคใต้ของไทยนั่นเอง
สยามโมคีลิส เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืด มีขนาดกระดองยาวประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกในยุคเดียวกัน กระจายอยู่หลายจังหวัดในภาคใต้ เช่น กระบี่ ชุมพร เช่น หอยน้ำจืด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ปลาเลปิเทส ปลาปอด ฉลามน้ำจืด รวมทั้งไดโนเสาร์ด้วย บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมในอดีตที่เป็นแบบบนบก มีหนองน้ำ และทะเลสาบ สยามโมคีลีสยังมีลักษณะใกล้เคียงกับเต่าโบราณที่พบทางประเทศจีนและเอเชียกลาง มีอายุใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าในช่วงยุคจูแรสสิกประเทศไทยฝั่งตะวันตกไปถึงตอนใต้ ที่เรียกว่า ไซบูมาสุ (Sibumasu) ได้รวมกับแผ่นดินใหญ่ทางฝั่งตะวันออก ที่เรียกว่า อินโดจีน (Indochina) แล้ว ทำให้สัตว์บกอพยพเคลื่อนย้ายลงมาทางตอนใต้ได้
อ้างอิง :
TONG, H., BUFFETAUT, E., & SUTEETHORN, V. (2002). Middle Jurassic turtles from southern Thailand. Geological Magazine, 139(06): 687-697.
โฆษณา