10 เม.ย. 2020 เวลา 14:54 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ขยะพลาสติกจะไม่ล้นโลกแล้ว!!?? 😃👍
2
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเอนไซม์ที่ช่วยให้การรีไซเคิลพลาสติกทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กองขยะพลาสติกเหรอมาเลย จะรีไซเคิลให้หมดเดี๋ยวนี้แหละ
ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกกำลังเป็นวาระเร่งด่วนของโลก จะเห็นได้จากความพยายามลดการใช้ถุงพลาสติกรวมถึงภาชนะที่ทำจากพลาสติก
แต่ความพยายามเหล่านั้นดูจะผิดทางหรือเปล่าก็ยังเป็นคำถามอยู่ อย่างเช่นการใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษแทนนั้นมันรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าจริงหรือ?
การใช้ภาชนะจานชามกระดาษละ นี่เราต้องกลับไปตัดต้นไม้กันอีกรอบหรือ หลังจากความพยายามในการปลูกและรักษาผืนป่า??
มันใช่ทางออกจริง ๆ เหรอ
เพราะจุดกำเนิดตั้งเดิมของพลาสติกนั้นถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อลดการใช้กระดาษลดการตัดไม้ทำลายป่ามิใช่หรือ?
พลาสติกนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้ซ้ำได้ และเมื่อใช้งานจนกรอบ เปื่อย ขาด หรือถูกทิ้งจากการใช้งานครั้งแรกเช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พวกมันยังสามารถนำมาทำการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ได้
ปัจจุบันการจัดการขยะพลาสติกนั้นใช้การฝังกลบครึ่งหนึ่ง ซึ่งกว่าพลาสติกจะย่อยสลายก็ 400 ปี อีก 25% ใช้งานเผาซึ่งก็ก่อให้เกิดมลพิษ มีเพียง 25% ที่นำมารีไซเคิล
แต่พลาสติกที่ใช้งานอยู่ทั้งหมดนั้นก็มีบางประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้ และแม้จะรีไซเคิลได้ ขั้นตอนการรีไซเคิลก็มีค่าใช้จ่าย ต้องใช้เวลาจัดการและที่สำคัญ มันรีไซเคิลกลับมาใช้งานได้แค่ 25%
และเม็ดพลาสติกรีไซเคิลก็จะเป็นเม็ดพลาสติกเกรดต่ำลง นำไปผลิตได้ก็แค่พวกเสื้อผ้าหรือไม่ก็พรมเช็ดเท้า ไม่อาจนำมาผลิตขวดบรรจุภัณฑ์ได้อีก
มาวันนี้ทีมนักวิจัยจาก Carbios บริษัทเอกชนที่เป็นหุ้นส่วนกับทั้ง Pepsi และ L'Oréal ได้พัฒนาเอนไซม์พิเศษเพื่อย่อยสลายโครงสร้างโพลิเมอร์ของพลาสติกให้กลายเป็นสารประกอบมอนอเมอร์
โดยพลาสติกนั้นประกอบขึ้นมาจากการนำมอนอเมอร์มาต่อกันเป็นสายจนกลายเป็นสารประกอบโพลิเมอร์สายยาว
ซึ่งเจ้าเอนไซม์ที่ว่านี้จะเข้าไปตัดสายโครงสร้างโพลิเมอร์ให้กลับมาเป็นมอนอเมอร์อีกครั้งซึ่งจะถูกนำกลับไปสร้างเป็นเม็ดพลาสติกตามแบบที่ต้องการใหม่ได้
โดยพลาสติกที่รีไซเคิลใหม่นี้แทบจะมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับพลาสติกผลิตใหม่เลยทีเดียว
ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกไว้แต่ต้นให้สามารถถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์ของแบคทีเรียที่มีในธรรมชาติก็ทำให้พลาสติกนั้นย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วในธรรมชาติ หรือก็คือ พลาสติกแบบ Bio Degradable Plastic นั่นเอง
ใช่แล้วครับ เอนไซม์ของสิ่งมีชีวิตประเภทผู้ย่อยสลายในธรรมชาตินี่แหละสามารถย่อยสลายพลาสติกได้
โดยก่อนหน้านี้ไม่นานก็ได้มีการวิจัยพบว่าหนอนบางชนิดสามารถกินและย่อยพลาสติกได้เช่นกัน
ผู้ย่อยสลายหรือ Decomposers มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารอย่างมากในการหมุนเวียนมวลสารจากซากพืชซากสัตว์กลับสู่ระบบนิเวศน์
ทั้งนี้ทีมนักวิจัยค้นพบว่าเอนไซม์จากแบคทีเรียที่พบในกองใบไม้เน่าเปื่อยในสวนหลังบ้านนี่แหละย่อยพลาสติกได้ดีที่สุดแล้ว แต่เรามองข้ามมันไปในตอนแรก
2
เจ้าเอนไซม์ที่ว่านี้รู้จักกันในชื่อ Leaf-branch compost cutinase หรือ LLC
ซึ่งทีมได้คัดเลือก LLC ที่เหมาะสมในการย่อยสลายพลาสติกประเภท PET ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมกว่า 10,000 เท่า จากการคัดเลือกพันธ์ุของเห็ดราบางชนิด
กระบวนการรีไซเคิลโดยใช้เอนไซม์ธรรมชาติ
โดยทีมวิจัยได้ทดสอบการย่อยสลายขวดพลาสติก 200 กรัมในบ่อหมักทดสอบพบว่าสามารถย่อยสลายขวดพลาสติกให้กลับไปเป็นมอนอเมอร์ตั้งต้นได้กว่า 90% ภายในเวลา ไม่ถึง 10 ชั่วโมง
และเอนไซม์ที่พัฒนาใหม่นี้ยังสามารถทำงานได้ถึงที่อุณหภูมสูงถึง 72 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมที่พลาสติกเริ่มละลายพอดีทำให้ง่ายต่อการย่อยสลายมากขึ้น
แล้วในกรณีที่ขวดถูกผลิตจากพลาสติกหลายชนิดละจะรีไซเคิลยังไงดี?
(ปกติก็เป็นงานยากอยู่แล้วในการแยกประเภทพลาสติกก่อนเอาไปรีไซเคิล)
ซึ่งสำหรับการใช้เอนไซม์นี้ก็ไม่ยากเพียงเราหาเอนไซม์ที่เหมาะสม ย่อยบดพลาสติกแล้วให้เอนไซม์ทำงานของมันไปก็จะสามารถย่อยและแยกพลาสติกแต่ละชนิดกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนใหม่กันเลยทีเดียว 😉👍
ขวดพลาสติกเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
ทั้งนี้ทีมวิจัยประเมินว่าต้นทุนในการรีไซเคิลพลาสติกรูปแบบใหม่นี้อยู่ที่ 4% ของการผลิตพลาสติกใหม่เองจ้า 😮👍
โดยทางบริษัทตั้งเป้าในการพัฒนากระบวนการรีไซเคิลให้สามารถนำมาใช้งานจริงในตลาดให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า
อยากให้สำเร็จเร็ว ๆ เลยครับ รีไซเคิลได้เกือบหมดจด แถมรวดเร็วและต้นทุนต่ำ น่าจะมาช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกและทำให้พลาสติกได้กลับมาอยู่ในจุดที่มันควรจะเป็นซะที 😃

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา