11 เม.ย. 2020 เวลา 03:18
วิธีการลงทุน สำหรับมนุษย์เงินเดือน
การสะสมเพื่อเป้าหมายระยะยาวและใช้วิธีการทยอยสะสมเงินทุกเดือน ในจำนวนเท่าๆกัน มีอะไรกันบ้างนั้นไปดูกันเลยครับ
สำหรับแนวคิดและวิธีการของวิธีนี้ การเก็บเพื่อเป้าหมายในระยะยาว ใช้วิธีค่อยๆทยอยสะสมเงินทุกเดือน ในจำนวนเท่าๆกัน หรือที่เข้าใจกันดีกว่า DCA ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับการทำงานของมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เข้ามาเป็นประจำและต่อเนื่อง และเพิ่มเติมด้วย "วินัย" ในการลงทุนเท่านั้นเองครับ
1. ฝากประจำ / กองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้น
เป็นวิธีการง่ายๆ เพียงแค่ การตัดบัญชีเงินฝาก (บัญชีเงินเดือน) ในทุกๆเดือน เพื่อสะสมไปเรื่อยๆ โดยมี 2 กลุ่มที่อยากจะแนะนำครับ นั่นคือ เงินฝากประจำปลอดภาษี กับ กองทุนตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้น
ใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นแบบไหน กรณีเงินฝากฯ แนะนำว่าลองเดินไปที่ธนาคารที่เราสะดวก และติดต่อขอเปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีได้เลยครับ
ส่วนกองทุนตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้นนั้น สามารถเลือกกองทุนที่ดีและเหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการ ผลตอบแทนพอใจไหม รับความเสี่ยงได้เท่าไร ซึ่งถ้ายังไม่แน่ใจก็สามารถแวะมาพูดคุยสอบถามกันได้ที่กลุ่มพูดคุยของรายการกองทุนไหนดี ได้เลย
2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ตัวที่สองนี่ อยากเรียกว่าเป็น Highly Recommend กันเลยทีเดียวครับ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่บริษัทมีสวัสดิการ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ไว้ให้ เพื่อให้พนักงานออมเงินและลงทุน (ส่วนข้าราชการจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราช หรือ กบข. ) โดยกองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณนั่นเองครับ
โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนสามารถเลือกสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตั้งแต่ 2-15% ครับ (ส่วนนายจ้างจะสมทบเท่าไรให้กับเรานั้น ขึ้นอยู่กับความใจดีของนายจ้างครับ บ้างบริษัท ก็สูงถึง 10% ครับ) โดยตรงนี้อยากจะแนะนำให้ตัด % ที่มากที่สุดเท่าที่ไหวครับ เพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมเงินได้เป็นอย่างดีครับ และเงินก้อนนี้ถือว่าเป็นเงินก้อนที่ไม่ได้ใช้แน่ๆครับ เพราะตัดก่อนที่จะเข้าบัญชีเราเสียอีกครับ
3. สหกรณ์ออมทรัพย์
ถ้าหากที่ทำงานของเรานั้น มีสหกรณ์ออมทรัพย์ การเลือกสะสมหุ้นของสหกรณ์ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจครับ (แต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงให้ดีครับ) โดยผลตอบแทนที่ได้รับนั้นจะมาจากเงินปันผลในแต่ละปี ซึ่งอัตราผลตอบแทนนั้นดีกว่าเงินฝากธนาคารและกองทุนตราสารหนี้แน่นอนครับ
แต่! อย่าลืมตรวจสอบการบริหารงานและการจัดการสหกรณ์ของที่ทำงานเราด้วยว่า ดีแค่ไหน มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ลงทุนอย่างปลอดภัยครับ อย่ามองเพียงแต่ผลตอบแทนอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นด้วยครับ
4. กองทุนรวม
สำหรับเรื่องกองทุนรวม จะเน้นไปที่กองทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่เราพูดถึงกองทุนรวมในส่วนแรกที่ไว้ใช้พักเงินหรือรับผลตอบแทนระยะสั้นกันไปแล้วในข้อแรก แต่ข้อนี้จะพูดถึงกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับที่ 4 ขึ้นไป ซึ่งตรงนี้ต้องดูจากความเสี่ยงที่ยอมรับได้และผลตอบแทนที่ต้องการของแต่ละคนประกอบกันครับ
แต่ถ้าหากใครต้องการประหยัดภาษีด้วย ในส่วนของการลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือนในข้อนี้ อยากแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แทนครับ แต่ถ้าใครไม่ได้เสียภาษีหรือไม่ต้องการสิทธิประโยชน์แล้วล่ะก็ การลงทุนในกองทุนรวมปกติจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ
5. ออมหุ้น
สำหรับทางเลือกสุดท้ายนั้น ถือว่าเป็นการลงทุนและมีความเสี่ยงค่อนข้างมากครับ โดยหลักการนั้นคือการเลือกออมหุ้นรายตัวครับ (เริ่มต้นขั้นต่ำที่ 1,000 บาท/เดือน) ซึ่งตรงนี้แนะนำให้เลือกหุ้นให้ดี มองเห็นการเติบโตที่เหมาะสม และสามารถอดทนลงทุนเป็นระยะเวลานานได้ครับ และอย่าทุ่มเทลงทุนในหุ้นตัวเดียวมากเกินไปครับ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากๆครับ
ทุกวันนี้มีให้บริการออมหุ้นอยู่หลายแห่งครับ เข้าใจว่าเร็วๆนี้จะมีให้เลือกมากขึ้นอีกครับ ซึ่งตรวจสอบเงื่อนไขของแต่ละที่ได้ตามใจเลยครับ (ลองค้นหาคำว่า ออมหุ้น ใน Google ก็ได้นะครับ มีหลายเจ้าอยู่)
การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นมีข้อดีอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือ เรามีกระแสเงินสดที่เข้ามาต่อเนื่องในทุกๆเดือน ทำให้สามารถวางแผนการลงทุนและออมเงินได้อย่างมีระบบ และเป็นการสร้างวินัยในตัวเองได้ด้วย
ซึ่งทั้ง 5 วิธีที่แนะนำมานี้ ไม่มีวิธีไหนดีที่สุดนะครับ แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสีย ความเสี่ยง และผลตอบแทนต่างกันไป ทั้งนี้อยากให้ทุกๆ คนลองปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองครับ เพื่อที่จะได้มีเงินออมและเงินลงทุนได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมีความสุขครับ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก www.aommoney.com
ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้กันต่อไปน่ะครับ
โฆษณา