11 เม.ย. 2020 เวลา 05:16 • ความคิดเห็น
Food Delivery : ความสะดวกสบาย ที่สุดท้ายคนขายต้องจ่าย (ภาคต่อที่คนสั่งอาหารอาจไม่เคยรู้)
ยุคนี้หิวขึ้นมา อยากทานอะไร เปิดแอพจิ้มเลือกร้าน สั่งอาหาร จ่ายเงิน รอคนมาส่ง แหม มันช่างแสนสะดวกสบาย ไม่ต้องออกไปเอง ไม่ต้องรถติด ไม่ต้องเดินทาง ร้านได้ออร์เดอร์ เราได้อาหาร คนส่งได้ค่าแรง Platform ได้ค่าดำเนินการ
ฟังดูแล้วน่าจะ Win กันหมด แต่ทราบไหมว่าในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ถ้าหลักการของแอพสั่งและส่งอาหาร คือ ความสะดวกสบายที่ผู้ซื้อได้รับ มันก็น่าจะเป็นความรับผิดชอบที่ผู้สั่งต้องเป็นคนจ่ายค่าส่ง เหมือนการจ้างใครไปซื้อแล้วมาส่งให้เรา
แรกๆแอพพวกนี้ก็คงคิดแบบนี้ คือคิดค่าส่งตามระยะทางผู้ซื้อออก และกิน% จากคนส่งอีกทีเข้า Platform แต่การใช้วิธีนี้กว่าจะติดตลาดมันช้า ค่าส่งมันจะแพง คนส่งของก็คงไม่อยากโดนหักมาก และคนสั่งเองก็คงไม่อยากเสียค่าส่งแพง ค่าส่งเป็นร้อยไม่กินก็ได้ ไม่ก็ไปเองแล้วกัน
จึงเกิดการคิดรูปแบบหัก GP จากร้านค้า โยนปัญหาค่าส่งเอาไปไว้ที่ร้านค้าจึงเกิดขึ้น แต่ละเจ้าแข่งกันประกาศว่าค่าสั่งฉันถูก จนลดค่าส่งลงไปบางทีเหลือแค่ 10 บาท ซึ่งคนขี่มาส่งไม่ได้ 10 บาทหรอก เพราะว่า Platform เขาหักเงินจากยอดค่าอาหาร 30-35%
นั่นแปลว่า เราซื้ออาหาร 1,000 บาท ร้านค้าได้ 650 บาท Platform ได้ 350 บาท Platform ก็เอา 350 บาทนั้นไปบริหารจัดการเช่นจ่ายค่าวิ่งรถ ทำคอมมิชชันวิ่งเยอะยิ่งได้เยอะ เอาไปทำการตลาด ค่าจัดการแอพ ฯ
ดูเหมือนจะได้ประโยชน์ร่วมกันไปหมด แต่ท่านจะลองเดาไหมว่ากำไรสุทธิของร้านอาหารโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณเท่าไหร่จากยอดขาย ?
คำตอบคือ 30-40% ดังนั้นการหักค่า GP ไป30-35%เท่ากับร้านจะเหลือกำไรแค่ 5-10% เท่านั้นเอง !!
ตอนนี้เวลาเราจะสั่งอาหาร เราจะเปิดแอพหาร้าน หาราคาอาหาร หาค่าส่ง เลือกอาหารที่ถูกใจ เลือกค่าส่งที่ถูกที่สุด โดยที่เราในฐานะคนสั่งไม่ได้สนใจเลยว่าร้านจะเหลือเท่าไหร่ คนส่งได้เท่าไหร่ ที่เราสนใจคือ ราคาเท่าไหร่ ค่าส่งเท่าไหร่ และฉันจะได้กินมันเมื่อไหร่
ที่เป็นแบบนี้เพราะมุมมองต่อค่าส่งอาหารถูกปรับให้บิดเบี้ยวไปจากความตั้งใจของ Platform ให้เป็นแบบนั้น
เปล่า ผมไม่ได้โทษคนสั่งแบบพวกเราว่าเห็นแก่ตัว แต่ผมบอกว่ามันเป็นการสร้างพฤติกรรมนี้ให้เกิดขึ้นจาก Business model ของความต้องการเป็นผู้ชนะที่เหลือรอดอยู่คนเดียวในตลาดนี้
ทุกเจ้ายอมขาดทุนมหาศาลเพื่อทำให้ติดตลาดไม่ว่าจะการโฆษณาหรือโปรโมชั่น ทำแม้กระทั่งเอาเปรียบคนที่บอกว่าเป็น Partner ซึ่งคำว่า PARTNER มันคือการเป็นส่วนเดียวกันหรือเรียกว่าคู่ชีวิตก็ไม่ผิดนัก
ดังนั้นสารพัดแอพทั้งหลาย โปรดพิจารณาตัวเอง ว่าปัจจุบันนี้คุณกับคู่ชีวิต ได้มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่ายหรือเปล่า หรือเอาแต่สุขคนเดียว เวลาทุกข์ให้อีกฝ่ายรับไป ?
คุณอาจจะมีกำไร คุณอาจจะได้เปรียบ คุณอาจจะเหนือกว่าร้านค้า เหนือกว่าคนสั่ง คนส่งที่เขาทำงานให้คุณในตอนนี้
แต่เชื่อเถอะว่าคนเขาจะจำคุณแบบไม่ลืมว่าคุณเป็นอย่างไร คุณฉวยโอกาสแบบไหนในตอนที่เขาลำบาก
สุดท้ายแล้ว อย่างหนึ่งที่คุณจะไม่มี และจะไม่มีวันมี คือ ความภูมิใจในการทำธุรกิจ
ปัจจุบันนี้ผมเลิกสั่ง เลือกทานร้านแถวบ้านใกล้ๆ ขับไปซื้อกลับมาทานเอง ไม่ต้องอยากกินอะไรไกลๆ อย่างน้อยก็ขอช่วยร้านค้าก่อนครับ
ล่าสุดร้านไหนมีบริการส่งอาหารเองแล้วเขาทราบ ร้านนั้นจะหายไปจากแอพอีกด้วย..
โฆษณา