12 เม.ย. 2020 เวลา 08:22 • ประวัติศาสตร์
อะไรคือ “ประวัติศาสตร์” ?
ว่าด้วยเรื่องของ “ประวัติศาสตร์” กันครับ ซึ่งสิ่งๆ มักจะเป็นที่คุ้นเคยกันทั้้งวิชาที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมที่เราอาจเคยเรียนๆ กัน สิ่งที่เราเห็นได้ทั่วๆ ไปสื่อหลายช่องทางหรือหนังสือที่เขียนคำๆ นี้ลงไปในหนังสือที่วางตามแผงหนังสือทั่วๆ ไป ซึ่งมันก็จะมีลักษณะทั่วๆ ไปที่เรารู้สึกได้ครับว่า “มันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับอดีต” หรือ “การเล่าเรื่องที่เคยเกิดขึ้น”
แต่หากมามองกันดีๆ ประวัติศาสตร์” มันเป็นเพียงแค่ “เรื่องราวในอดีต” จริง ๆ หรือ
เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันดีกว่าครับ
หากมามองกันที่รากศัพท์ คำว่า History เองนั้นก็มาจากภาษากรีกโบราณครับ นั่นก็คือคำว่า “ἱστορία” หรืออ่านมันง่ายๆ ก็คือ Historia ซึ่งมันก็แปลไปอย่างตรงๆ ก็จะหมายถึง “inquiry” ซึ่งแปลว่าการไต่สวน ตรวจสอบ หรือในบางครั้งก็สามารถตีความได้ถึงคำว่า “knowledge from inquiry” (ความรู้จากการสอบสวน”) ได้ด้วย ซึ่งต่อมา คำนี้ก็ถูกยืมใช้ในภาษาละตินเป็นคำว่า Historia ซึ่งก็จะตีความหมายถึง “Reseach” (วิจัย) หรือคำว่า “account” (เรื่องราว) และคำว่า “narrative” (การเล่าหรือบรรยายเหตุการณ์) สามารถหมายความว่า recorded knowledge of past events (การบันทึกความรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา) ซึ่งในช่วงที่ภาษาฝรั่งเศสโบราณที่แตกมาจากภาษาละตินนั้นก็เพี้ยนไปเป็นคำว่า istorie estoire และ historie ซึ่งมันก็ไปเป็นคำว่า “History” ในภาษาอังกฤษสมัยกลาง (Middle English) จนถึงปัจจุบัน
จากความหมายเราก็จะเห็นชัดครับความหมายมักจะสื่อไปในความหมายที่มี Keyword ประมาณคำว่า “การบันทึก”, “เรื่องราวในอดีต” และ “การไต่สวน” (จริง ๆ จะหมายถึง “การเสาะหาข้อเท็จจริง”) และนั่นเองก็ทำให้นิยามของประวัติศาสตร์มักจะถูกให้ความหมายในลักษณะที่ยอมรับกันทั่วไปจะหมายถึง “การศึกษา ค้นหา รวบรวมเรื่องราวในอดีตของมนุษยชาติ”
เราจะ “ศึกษาประวัติศาสตร์” ได้อย่างไร ? ในการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น เราก็จะศึกษาโดยใช้แหล่งข้อมูลต่างๆ จากสิ่งที่เราเรียกกันว่า “หลักฐาน” ครับ ซึ่งมันก็คือสิ่งใดก็ตามที่มันเคยเกิดขึ้นและยังคงมีการทิ้งร่องรอยไว้ ในการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น “การหาหลักฐาน” ในการทำงานของนักประวัติศาสตร์นั้น ควรเป็นการค้นคว้าหลักฐาน “ทุกอย่าง” ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ ซึ่งมันมีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งสิ่งที่มีอักษรหรือเป็นแค่วัตถุ สิ่งที่เกิดในช่วงเวลานั้นหรืออาจเกิดหลังจากนั้นก็ได้ แต่กระนั้น การหยิบหลักฐานจากหลากหลายแหล่งนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ตรวจสอบ” และ “เปรียบเทียบ” หลักฐานเหล่านั้นว่ามันเป็นในทิศทางไหนบ้าง และจึงนำมาวิเคราะห์และสรุปเป็นคำอธิบายชุดใหม่ และในจุดของการค้นคว้า สังเคราะห์และอธิบายนั้นมันทำให้ความเป็น “ประวัติศาสตร์” นั้น ถูกแยกออกจาก “เรื่องเล่าในอดีต”
ประวัติศาสตร์นั้นควรจะถูกอธิบายอย่างไร ?
เราก็อาจเข้าใจว่าการอธิบายประวัติศาสตร์นั้นก็เสมือนการเขียนเรื่องเล่านั้นก็คือ ใคร ? ทำอะไร ? ที่ไหน ?
อย่างไร ? และก็จบเรื่อง
แต่แท้ที่จริงแล้วมันจะมีมากกว่านั้นครับ
การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นมันไม่ใช่เพียงแค่การอธิบายสรุปเพียงเหตุการณ์เท่านั้นครับ สิ่งที่เรามักจะมองข้ามกันไปนั่นก็คือคำว่า “เพราะอะไร” ซึ่งเพราะอะไรนี้เป็นส่วนที่เราจะต้องอธิบาย “สาเหตุ” ที่ส่งผลทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ และการอธิบายนั้นเราก็อาจต้อง “เชื่อมโยง” ทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นแวดล้อม ปัจจัยทางสังคมศาสตร์ และหลักทางวิชาการอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับนั้นออกมารับรองด้วย
ที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้น การอธิบายทางประวัติศาสตร์นั้น ต้องอธิบาย “อย่างครอบคลุม” ทุกสิ่งอย่างที่สามารถจะเชื่อมโยงหรือเป็นฐานที่ก่อให้เกิดมันได้ และสิ่งที่เราได้มานั้นก็จะมีเป้าหมายเพื่อให้เรานำความรู้ที่เราได้นั้นมาตีความ วิเคราะห์เป็นบทเรียนต่อเราต่อไป
ซึ่งที่ผมกล่าวมา มันเป็นจุดที่เราค่อนข้างเข้าใจผิดและสับสนทำให้เกิดปัญหาในประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งผมขอจะยกตัวอย่างนะครับ
“นาย A ขับชนรถนาย B ที่กลางสี่แยก” ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นนั้น ผู้อ่านประวัติศาสตร์ก็มักจะเอนเอียงหรือสร้างคำอธิบายขึ้นมาว่า นาย A ผิดหรือนาย B นั้นผิดที่ทำให้เกิดรถชนกัน ซึ่งให้ในกรณีเลวร้ายที่สุดนั้น ก็อาจเป็นกรณีสร้างความเกลียดชังไปเลย เช่น “นาย A นั่นชั่วที่มันขับรถชน” หรือว่า “นาย B นั่นแหละเซ่อซ่า โง่หรือบกพร่องเอง”
แต่ในการศึกษาในมุมมองประวัติศาสตร์นั้น มันควรจะมีคำอธิบายแบบนี้ เช่น ศึกษาปัจจัยของนาย A และ B ที่เป็นคนขับ จังหวะและเหตุการณ์ ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกอย่างที่ทำให้เกิดเหตุการณ์รถชนชึ้น ซึ่งมันควรจะออกมาในลักษณะคำอธิบายนี้
“เนื่องด้วยสภาพการจราจรที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาจัด เลยทำให้นาย A มองทางข้างหนาเห็นไม่ชัดและขับรถด้วยความเร็วก็ไม่สามารถเบรคทันจริงไปรถนาย B เข้า ซึ่งนายบีนั้นกำลังขับรถอยู่กลางสี่แยกพอดี” ซึ่งการอธิบายแบบนั้นมันจะอยู่ในลักษณะที่ความครอบคลุมที่มีมากกว่าครับ
หากโดยสรุปแล้ว เราต้องเข้า Concept ของประวัติศาสตร์อย่างสั้นๆ ครับว่า “ประวัติศาสตร์” คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตก็จริง แต่กระนั้นการศึกษานั้นก็ต้องใช้ตัวการที่เป็นหลักฐานออกมาใช้ในการเปรียบเทียบทั้งทิศทาง มุมมองและนำทุกอย่างมาสรุปเป็นคำอธิบายที่ครอบคลุมอย่าง “ทุกๆ ด้าน” ซึ่งมันต่างจาก “เรื่องเล่าในอดีต” ที่มีเพียงการเล่าแค่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเป้าหมายในกรณีศึกษาเลย
“ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่เกิดและจบในอดีตเท่านั้น แต่มันเป็น “กรณีศึกษา” ที่ทำให้เราเกิดความรู้ บทเรียนเพื่อทำให้เราและมนุษยชาติเดินหน้าต่อไป
@Chairman
#DefnetHistory
โฆษณา