12 เม.ย. 2020 เวลา 09:43 • ไลฟ์สไตล์
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร จาริกธุดงค์มาถึงจันทบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2478
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ท่านปักกลดที่ป่าช้าสาธารณะบ้านคลองกุ้ง โดยการแนะนำโดยขุนอำนาจอำนวยกิจ
วัดป่าคลองกุ้งจึงเริ่มก่อตั้งนับแต่บัดนั้น โดยเป็นวัดกัมมัฏฐานสายวิปัสสนาธุระ และเป็น 1 ในวัดป่าปฏิบัติกรรมฐานสายป่าหลวงปู่มั่น
ท่านพ่อลีเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้งนานถึง 14 ปี
เจ้าอาวาสรูปที่ 2 คือมหาเข้ม จิตธมฺโม ท่านอุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี
เมื่อท่านมหาเข้มอายุ 40 ปี แม่พาผมไปฝากเป็นเด็กวัดป่าคลองกุ้ง หลังจากนั้น ผมได้รับการอุปการะดูแลจากมหาเข้ม ซึ่งตอนนั้นเป็นพระครูเขมากรวิสุทธิ์
เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 15 ปี จนถึง พ.ศ. 2535 เมื่อผมไปอยู่มอสโก ผมกราบนมัสการท่านมหาเข้มไปเยือนรัสเซีย
ท่านมหาเข้มนำพระพุทธรูปสีดำองค์หนึ่งมามอบให้ผู้ดูแลสำนักงานของผมที่กรุงเทพก่อนเดินทางไปกรุงมอสโกในเดือนเมษายน และกลับวันที่ 6 พฤษภาคม 2535
อยู่รัสเซียนาน 22 วัน โดยท่านและคณะพักที่บ้านของผมที่เมโตรยูซนายา
หลังจากนั้นไม่ถึง 4 ปี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 ผมก็เริ่มเขียนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับแรก
วันหนึ่งผมไปสำรวจพระพุทธรูปที่บูชาไว้จำนวนมาก พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งสีดำ ก็เลยคิดว่าจะนำไปลงรักปิดทองให้เหลืองอร่าม จึงนำไปที่เสาชิงช้า
เจ้าของร้านที่รับลงรักปิดทองถามว่า “น้องได้พระองค์นี้มาจากไหน หายากมากนะ”
ผมบอกว่า “เจ้าอาวาสวัดที่จันทบุรีมอบให้ แต่ไม่ทราบว่าเป็นพระอะไร”
เจ้าของร้านบอกว่า ชื่อพระไทยรัฐ ผมฟังไม่ถนัด บอกว่า “อ๋อ พระไตรรัตน์”
เจ้าของร้านบอกว่า “ไม่ใช่ไตรรัตน์ แต่เป็นพระไทยรัฐ”
แล้วก็ชี้ไปที่หนังสือพิมพ์ที่วางอยู่บนโต๊ะ
“น้องเห็นหนังสือพิมพ์ที่วางอยู่นั่นไหม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พระองค์นี้คือพระไทยรัฐ สร้างโดย ผ.อ.กำพล วัชรพล”
ผมขนลุกซู่ ผมเรียนมาทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ มีอาชีพเดิมเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษกับรับราชการตำรวจ
ไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ ไม่เคยเกี่ยวดองหนองยุ่งกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
แต่ด้วยบารมีแห่งพระไทยรัฐ วันดีคืนดีผมก็มาเป็นนักเขียนประจำของไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ที่สุดและมียอดจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ
โดยเขียนทุกวัน วันละ 2 คอลัมน์ที่หน้า 2 ด้านต่างประเทศและหน้าการศึกษา
เมื่อทำงานการเมือง ผมต้องเกณฑ์ลูกๆ มาช่วยเขียนและใช้นามปากกาว่า ‘นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย’ ซึ่งคอลัมน์นี้ก็ต่อเนื่องยาวนานจนถึงบัดนี้ 23 ปีแล้ว
หลังจากที่ผมรับพระไทยรัฐสีทองกลับมาประดิษฐานที่บ้าน ผมก็อัญเชิญท่านเป็นพระประธานของห้องพระในบ้าน
ผมอัญเชิญท่านไปลงรักปิดทองเป็นระยะ รวมทั้งเปลี่ยนข้อความบนฐานด้านหลังขององค์พระ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ทราบความสำคัญและความเป็นมาของพระองค์นี้
ผมกลับไปจันทบุรี จะหาโอกาสไปกราบท่านพ่อลีที่ศาลาวัดป่าคลองกุ้ง และกราบพระมหาเข้มซึ่งปัจจุบันคือ พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์
เป็นเวลามากกว่า 40 ปีแล้ว ที่ผมเป็นศิษย์วัดป่าคลองกุ้ง
ภาพขาวดำทั้ง 3 ภาพที่ท่านเห็น ภาพที่ 1 เป็นภาพของท่านพ่อลี
ภาพที่ 2 เป็นภาพหมู่พระภิกษุทุกรูปที่เมตตาผมในช่วงที่เป็นเด็กวัด
ภาพที่ 3 เป็นภาพท่านมหาเข้มกับผมซึ่งตอนนั้น ผมเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศจันทบุรี
วันนี้ วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2563 ผมทำความสะอาดพระและห้องพระ
พรุ่งนี้จะสรงน้ำพระไทยรัฐเช่นที่เคยทำเป็นประจำทุกปี
วันนี้จึงขอนำเรื่องพระไทยรัฐมาเล่ารับใช้กันครับ.
โฆษณา