12 เม.ย. 2020 เวลา 12:47 • ความคิดเห็น
ขออย่าเจออภิพญามหาภัย
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
คนที่มีหน้าที่เขียนเรื่องต่างประเทศ ต้องติดตามการกระดิกพลิกตัวของประเทศต่างๆ อย่างชั่วโมงต่อชั่วโมง ข้อมูลทุกอย่างจึงมาสุมอยู่ในหัว เมื่อสุมมากพอแล้วก็สามารถเอาต่อเป็นจิ๊กซอว์พอเป็นภาพที่บอกได้ว่าเป็นภาพอะไร
ส่วนคนที่ไม่ได้ตาม มีข้อมูลเพียงชิ้นสองชิ้น หรือมองโลกแค่มิติเดียว ก็ไม่มีข้อมูลมาต่อทำให้เห็นภาพได้
ผู้คนในทุกประเทศต่างบ่นว่าโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจแย่ แท้ที่จริง เศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศแย่มาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของ พ.ศ. 2562 แล้วครับ
Cr. Pixabay
การค้าสินค้าในภาพรวมของไตรมาสสุดท้ายขยายตัวในอัตราต่ำกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 1
ขอยืนยันว่า ปีที่แล้วที่เศรษฐกิจแย่เพราะนโยบายการค้าของทรัมป์ ถ้าผู้อ่านท่านยังจำความหลังได้ พ.ศ.2562 ทรัมป์มุ่งแต่จะเอาชนะคะคานจีน
ถึงแม้ไม่มีโควิด-19 แต่ไอ้สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกเดี้ยงอยู่แล้ว
วิกฤติโควิด-19 เหมือนเป็นการโยนถังน้ำมันเข้าไปในกองเพลิง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไหม้หมด ทุกประเทศต้องไปค้นเงินก้นกระเป๋ามาใช้
ที่ทำนายทายทักว่าพฤษภาคมจะดี ตุลาคมจะดี ผมอยากจะถามว่าคุณใช้พื้นฐานอะไรมาทำนาย คุณก็เพียงแต่พูดให้กำลังใจกันไปวันๆ เป็นเพียงไอ้พวกโลกสวย
เศรษฐกิจจะดีมันต้องช่วยกันฟื้นการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศจะช่วยขยับขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกโงหัวขึ้นมาได้ใหม่
เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจแย่เพราะไอ้ปื๊ดมันไปทำลายบรรยากาศตลาดเสรี เที่ยวไปตั้งกำแพงภาษีโน่นนี่นั่น กีดกันประเทศโน้นประเทศนี้
ถ้าจะให้รอด หลังวิกฤติโควิด-19 ทุกประเทศ ทุกคน จะต้องช่วยกันประคับประคองบรรยากาศตลาดเสรี ประเทศใหญ่ก็ต้องอย่ารังแกประเทศเล็กชาติน้อยด้วยการตั้งกำแพงภาษีกีดกันอย่างที่ทรัมป์ทำมาตลอด
ต้องยอมรับว่าตอนนี้ตลาดหดตัวรุนแรง ไม่มีใครทำนายทายทักได้ว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจจะอยู่นานเท่าไหร่
คนกลัวการแพร่ระบาดจึงต้องอยู่บ้าน พออยู่บ้านก็ไม่มีการเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็หดลดลงไป ทั้งภาคบริการและภาคการผลิตไม่ว่าประเทศไหนนิ่งหมด
ผมเกิดไม่ทัน พ.ศ. 2472 แต่ต้องเรียนเรื่องเกรทดีเพรสชั่น ซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ตอนนั้นตกต่ำอยู่นานถึง 10 ปี
ใครที่อยากจะสัมผัสความรู้สึกของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ต้องไปอ่านนิยาย The Grapes of Wrath ที่เขียนใน พ.ศ.2482 ปีที่เศรษฐกิจตกต่ำสิ้นสุด คนเขียนคือ จอห์น สไตน์เบก
https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Grapes_of_Wrath
สไตน์เบกเอาข้อมูลที่เขียนมาจากการเดินทางและการใช้ชีวิตร่วมกับชาวนาจากโอกลาโฮมาผู้อพยพไปหางานทำที่แคลิฟอร์เนีย
สไตน์เบกถ่ายทอดความรู้สึกขมขื่นและสิ้นหวังของชาวนา เล่าถึงการเอารัดเอาเปรียบ ความขัดแย้งที่เกิดจากการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของผู้คนที่มีชีวิตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ
ใครอ่าน The Grapes of Wrath แล้วไม่สะเทือนใจ คนนั้นใจนิ่งมาก คนที่เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ต่างยกย่องว่า The Grapes of Wrath เป็นนิยายแต่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดสังคมอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ถูกต้องที่สุด
ผมมีชีวิตอยู่ในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ บางคนเรียกว่าวิกฤติซับไพรม์ ผมอยากจะเรียนว่าวิกฤติซับไพรม์ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2551 เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2472 หรือเมื่อ 91 ปีที่แล้ว แฮมเบอร์เกอร์นี่เป็นวิกฤติทารกไปเลย
สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า วิกฤติโควิด-19 จะลากยาวเหมือนวิกฤติ พ.ศ. 2472 หรือเปล่า ถ้าลากยาวถึง 10 ปี มีหวังมนุษย์อดตายกันล้านคนแน่
Cr. Pixabay
ไทยยังดีที่ประเทศของเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แผ่นดินเรามีความหลากหลายของพืชและสัตว์สูง ถึงตกงานไม่มีเงิน ก็ยังเดินดุ่มไปไม่เหลียวหลัง ไปเก็บผักหญ้าหาปลามาประทังชีวิตได้
นึกถึงพวกที่อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือหรือยุโรป ทวีปที่ผลิตอาหารการกินได้เฉพาะบางฤดูกาล พอหน้าหนาวเข้ามาเยือน ผู้คนก็คงจะล้มตายคล้ายเมื่อ 91 ปีที่แล้ว
โฆษณา