13 เม.ย. 2020 เวลา 04:12 • การศึกษา
โหมโรงสามประสาน ดนตรีสามวัฒนธรรมในชุมชนภาคใต้
ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - สินนภา สารสาส
ชมการแสดงโหมโรงสามประสานดนตรีสามวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ได้ที่
การพัฒนาการแสดงโหมโรงสามประสาน วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้
ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
ผู้วิจัยอยากจะสร้างสรรค์ผลงานวิจัยการแสดงที่เป็นการทำงานที่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้วิจัยคุ้นเคย เพื่อสร้างดนตรีลักษณะใหม่ที่จะช่วยประสานวัฒนธรรมของชุมชนปัตตานี ผู้วิจัยได้นำการแสดงโนราจากมหาวิทยาลัยทักษิณไปแสดงร่วมกับคณะโนราของโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานีทุกปีที่ผู้วิจัยไปช่วยสอน จึงมีแนวคิดการทำงานด้านดนตรีโดยว่าหากลองบรรเลงเพลงใหม่ โหมโรงให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวฟังก่อนการแสดงโนราในทุกคืนของวันเชงเม้ง น่าจะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศเงียบเหงา ก่อนการแสดงโนราได้ ถ้ามีบทเพลงโหมโรงที่ไพเราะอาจจะทำให้ผู้คนในชุมชนละแวกนี้เมื่อได้ยินเสียงดนตรีโหมโรงก็จะเกิดแปลกใจและเดินเข้ามาดู ได้ชมโนราในลำดับต่อไปด้วย
นำการแสดงโนราจากมหาวิทยาลัยทักษิณไปแสดงร่วมกับคณะโนราของโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและโนรา
ในอดีตคนภาคใต้เมื่อจะมีงานสมโภชรื่นเริงต่างๆ มหรสพที่นิยม กันอย่างแพร่หลาย สำหรับคนไทยคือ หนังตะลุงและโนรา ส่วนคนเชื้อ สายจีน จะนิยมนำงิ้วและโนรามาร่วมแสดงในงานสมโภช จากเอกสารและคำสัมภาษณ์ผู้จัดงาน ทำให้เข้าใจถึงความผูกพันของคณะโนรากับศาลเล่งจูเกียงที่ได้มาช่วยแสดงงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและประกอบพิธีกรรมทุกปี กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความศรัทธาและเป็นหน้าที่ของคณะโนรา ซึ่งต่อมากลายเป็นความเชื่อ ความเข้าใจและถ่ายทอดกันว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวชื่นชอบการแสดงโนรา จึงต้องมีคณะโนรามาแสดงถวายเป็นประจำทุกปี
ในสามจังหวัดภาคใต้จะมีศิลปะการแสดงที่หลากหลาย เช่น การแสดงรองเง็ง และการแสดงลิเกฮูลู ของชาวไทยมุสลิม แต่การแสดงเหล่านั้น ไม่สามารถจะนำมาแสดงหรือแสดงในงานที่มีลักษณะสัมพันธ์กับพิธีกรรม หรือการแสดงกึ่งความเชื่อให้กับเทพเจ้า ในกรณีนี้ ถวายแค่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การแสดงโนรา จึงเป็นการแสดงที่ในทางประวัตินั้นสัมพันธ์กับพิธีกรรมได้ และในพื้นที่ร่วมสมัยก็เป็นมหรสพที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวไทยพุทธ
สำหรับวงดนตรี โนรานักเรียนของโรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล มีเยาวชนนักดนตรีสามารถบรรเลงปี่ทับกลองโหม่งร่วมกันได้ และมีนักเรียนมุสลิมที่เติมโตจากพื้นฐานครอบครัวที่มีบิดาเป็นลิเกฮูลูที่มีชื่อเสียง และมีนักเรียนที่มีองค์ความรู้ด้านดนตรีจีน โนรา และลิเกฮูลูเป็นฐานสำคัญและเป็นกำลังขุมทรัพย์ทางปัญญาของเยาวชน ผู้วิจัยจึงคิดว่าเป็นพื้นฐานทางดนตรีที่เกิดขึ้น และอยู่ในสังคมของเยาวชนในโรงเรียนและชุมชนที่เกิดขึ้นจริงน่าจะเป็นแบบอย่างของดนตรีที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมต่างกันของคนในสังคมแต่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อชีวิตทุกคนได้
โหมโรงสามประสาน งานวิจัยการแสดง ข้ามศาสตร์ ข้ามวัฒนธรรม
โหมโรงสามประสานในความคิดของผู้วิจัยเป็น ‘พื้นที่ใหม่’ เป็นการทำงานงานสร้างสรรค์ดนตรีในเชิงการทำงานข้ามศาสตร์ และข้ามวัฒนธรรม ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์สินนภา สารสาส ผู้มีความรู้ในการแต่งเพลงแบบตะวันตก และทำงานแบบร่วมสมัยที่ใช้สำเนียงแบบประเพณีมาเป็นผู้ร่วมวิจัย เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ให้กับบทเพลงโหมโรง เพื่อให้เกิดการประสานดนตรีต่างวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมและสัมพันธ์กันได้ ในแนวคิดที่ได้กลวิธีแบบสากลมาช่วยในการกำหนดแนวทางและลำดับในการพัฒนา
บทส่งท้าย
1. การทำงานข้ามศาสตร์ด้วยโครงสร้างแบบตะวันตก เรียกเพลง โดยนักดนตรีไทยโดยเฉพาะนักดนตรีพื้นบ้าน 3 วัฒนธรรมนั้น สามารถ ทำได้ถ้าหากผู้สร้างโครงเพลงแนวตะวันตกอธิบายให้ศิลปินทุกคนเข้าใจ โครงสร้างและเพลงเป็นเบื้องต้นว่าเกี่ยวข้องเรื่องใด จะได้คิดไปในทางทิศทางเดียวกัน
2. แนวคิดแบบนี้ดี เพราะเปิดโอกาสให้ศิลปินดนตรีแต่ละประเภท เลือกเพลงและตัดสินใจได้ว่า แนวเพลงที่บรรเลงสอดคล้องกับโครงของ เพลงหรือไม่ และถ้าหากเพลงจังหวะสั้นหรือยาวเกินไป ศิลปินเพลง พื้นบ้านก็สามารถเพิ่มเติมตัดทอนได้ด้วยทักษะความคิดของตนและ สมาชิกวงได้เลย ทำให้ศิลปินยังคงตัวตนไว้ได้สูง ผู้สร้างโครงเพลงไม่ต้องชี้แนะหรือบังคับค้นหาเพลง เพลงที่บรรเลงจะซับซ้อนหรือมีความตื่นเต้นขึ้นอยู่กับความรู้ที่ได้สะสมฝีมือและทักษะในการบรรเลงของศิลปินเอง
3. การทำวงโหมโรงกับเยาวชนจะต้องมีการวางแผนจัดการให้เป็นระบบที่โรงเรียน และชุมชนที่เกี่ยวข้องภายในโรงเรียน ให้สามารถรับรู้ส่งเสริม ร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการได้ สำหรับการทำงานในครั้งนี้
4. การทำงานโหมโรงกับศิลปินระดับครูนั้น แม้เกิดขึ้นในช่วงเวลา สั้นๆ แต่เป็นการทำงานที่มีการสัมฤทธิผลที่สูงมาก และในกระบวนการทำงาน ทำให้ผู้วิจัยได้เรียนรู้ไปด้วย การทำงานกับศิลปินมืออาชีพ ควรจะเกิดขึ้นก่อนเริ่มการทำงานกับเยาวชน เพราะสามารถช่วยค้นหาแนวทางทิศทาง สำเนียงเพลง จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสำเนียงของชาติพันธุ์โดยเฉพาะพื้นที่ปัตตานี จึงขยายการทำงานไปสู่เยาวชนต่อไป
ท้ายที่สุดผู้วิจัยค้นพบว่า การทำงานลักษณะนี้มีความเป็นไปได้และควรมีการสร้างผลงานลักษณะนี้เพิ่มขึ้นที่ชุมชนที่มีหลากวัฒนธรรม และอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน การนำเอาเทพ-ผู้มีอิทธิพลต่อจิตใจของชุมชนแม้อยู่ในตำนานและเป็นศรัทธาชุมชนมาเป็นจุดเริ่มต้น สามารถนำพาให้เกิดการทำงานร่วมกันในพื้นที่ที่แตกต่าง จากพื้นที่ประเพณีตามแบบฉบับได้ดี
โหมโรงสามประสาน ด น ต รี ป ร ะ ส า น สามวัฒนธรรมภาคใต้
สินนภา สารสาส
การสร้างสรรค์บทเพลงชิ้นนี้มีความน่าสนใจที่โจทย์ของงาน คือ
การนำดนตรีสามขนบที่มีมิติทางวัฒนธรรมที่ทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่เมืองปัตตานีมาประสานบรรเลงด้วยกันอย่างลงตัวโดยนักดนตรีไทยทางขนบ ในการทำงานต้องนำเอาการวางโครงเพลง (contour) ที่เป็นวิถีตะวันตกมาใช้เป็นกลไกที่จะวางโครงสร้างของเพลงให้มีเรื่องราวมีชีวิตที่จับต้องได้ งานนี้จึงเป็นงานที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจกันของ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการยอมรับนับถือกันในความรู้ที่แตกต่าง โดย แนวคิดสำคัญ เป้าหมายของงานบทเพลงโหมโรงสามประสานของ ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ไม่ใช่การแสดงบทเพลงในแบบแผนดั้งเดิมของวง ดนตรีทั้ง 3 รูปแบบแต่เป็นผลงานตั้งต้น ที่จะทำให้เกิด ‘พื้นที่ใหม่’ ให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีจากนักดนตรีเยาวชนในชุมชนในท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาผลงานร่วมกันได้ อีกทั้งเป็นผลงานใหม่ที่ใช้วิถีตะวันตกมาช่วยสร้าง "พื้นที่ดนตรี" ที่เปิดรับสำเนียงเพลงต่างขนบให้ทำงานประสานกันได้ด้วย
การสร้างและร้อยเรียงเพลง
วิธีการทำงานดนตรี โหมโรงสามประสาน
การสร้างดนตรีโหมโรงสามประสานนี้ ถึงแม้จะเป็นงานใหม่โจทย์ ใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่วิธีการทำงานยังคงต้องใช้กระบวนการเริ่มต้น เหมือนงานอื่นๆ ที่ทำมา คือ การตีโจทย์ (approach) การตีความและ สร้างธีม (interpretation and creating theme) การเลือกเครื่องดนตรีและ นักดนตรี (instrumentation) และการให้บทบาทตัวละครแก่เครื่องดนตรี (characterisation) เมื่อกระบวนการเริ่มต้นลงตัวแล้ว การลงมือปฏิบัติ ซ้อม และปรับแก้จึงตามมาได้
การตีโจทย์ (approach)
ด้วยโจทย์จากครธูรรมนิตย์ เพลงที่ครูต้องการทำคือเพลงที่สร้างจากการประสมประสานของวงสามแบบสามวัฒนธรรมใต้ คือ โนรา กลอง จีน และ รองเง็งกับฮูลู เนื่องจากงานนี้เป็นงานที่ทำกับดนตรีท้องถิ่นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ศึกษาในรายละเอียดของวงแต่ละวัฒนธรรม วัฒนธรรมของดนตรี ลักษณะเฉพาะ บทบาทหน้าที่ วัฒนธรรมวง วัฒนธรรมเครื่องดนตรี วัฒนธรรมคำร้อง กาลเทศะของเพลงที่เล่น ความหมายของเพลง เป็นต้น รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะเฉพาะและบทบาทหน้าที่ในวงและในเพลงของเครื่องดนตรีในแต่ละวัฒนธรรม
เมื่อศึกษาพิจารณาลักษณะดนตรีของวงทั้งสามแบบแล้ว พบว่ามีจุดเด่นคล้ายกัน คือ เครื่องจังหวะ และหน้าทับจังหวะ จึงกำหนดว่าเครื่องดนตรีที่จะเป็นตัวกลางและตัวหลักในเพลงนี้คือกลอง และคิดดนตรีขึ้นจากกลองของแต่ละวงเป็นหลัก ความคล้าย ความต่าง อัตลักษณะ และบทบาทหน้าที่ในวงของเครื่องอื่น ๆ แต่ละชิ้น รวมถึงเพลงที่แสดงอัตลักษณ์ชัดและงดงามที่สุดของแต่ละวง
โจทย์อีกข้อหนึ่งคือ ต้องมีการขับรองโดยนักดนตรีในวง จึงวางความคิดไว้ที่ ฮูลู และโนรา ที่มีการร้องเดี่ยวและร้องรับคล้าย ๆ กัน และคัดเลือกเพลงร้อง คำร้องของท้องถิ่นเดิมมาเป็นตัวอย่างเพื่อครูของทั้งสองวงได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ให้เข้ากับโจทย์และเนื้อเรื่อง
บทสรุป
หัวใจของงานดนตรีร่วมสมัยแบบนี้อยู่ที่นักดนตรี (musicians) เป็นสำคัญ ผู้ประพันธ์ดนตรี (music composer) ผู้กำกับดนตรี (music director)จะเก่งหรือมีประสบการณ์มากมายหรือประสบความสำเร็จในอาชีพมา อย่างไร หากไม่ได้นักดนตรีที่ ‘เก่ง ดี ใช่’ ก็ไม่สามารถทำงานบรรลุจุดหมายได้เลย เช่นเดียวกับงานนาฏศิลป์ร่วมสมัย หากไม่ได้นาฏศิลปิน ที่ ‘เก่ง ดี ใช่’ ผู้ออกแบบลีลา หรือผู้กำกับ ก็ไม่สามารถทำงานบรรล ุจุดหมายได้เช่นกัน
‘เก่ง ดี ใช่’ คืออะไร
‘เก่ง’ คือ มีความสามารถ มีฝีมือ มีรสมือ รวมถึงความรู้เรื่อง วัฒนธรรมของตน ที่อยู่ในขั้นสูงหรือขั้นครู
‘ดี’ คือ มีความดีงามในหัวใจ มีความรักศิลปะ มีความนิ่ง (สมาธิ) และความรัก (หัวใจ) ให้กับสิ่งที่ทำ มีความเข้าใจให้กับเพื่อนศิลปินที่ ทำงานแบบนี้ด้วยกัน มีความเคารพผู้ชมผู้ฟัง
‘ใช่’ คือ มีความสนใจและเปิดกว้างกับสิ่งใหม่ วิจารณญาณที่จะคัดกรองสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่ ที่จะทำร้ายหรือทำลายวัฒนธรรมออกไป และรู้จักพลิกแพลงความรู้ที่มีนำมาใช้ให้เกิดผลงานที่จะช่วยส่งเสริมศิลปะที่เป็น ของเก่าให้เด่นชัดและเป็นที่เข้าถึงของคนในปัจจุบัน รวมทั้งถา่ยทอดความรู้ และประสบการณ์เหล่านี้ต่อศิลปินอื่นหรือศิลปินรุ่นเยาว์ต่อๆ ไปได้
ความหมายของคำ "โหมโรง" และ "overture"
เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเรื่องความหมายของคำว่า
‘โหมโรง’ และคำว่า ‘overture’ ไม่ตรงกันนัก จึงขออธิบายความหมาย ไว้ดังนี้
‘โหมโรง’ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)
น. การประโคมดนตรีก่อนมหรสพลงโรง
น. เพลงเริ่มต้นของการบรรเลงหรือการแสดง เพื่อบอกให้ทราบว่าพิะีหรืองานนั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว แบ่งเป็นหลายชนิดตามลักษณะของงานมหรสพที่แสดงและการบรรเลง เช่น โหมโรงเย็น โหมโรงเช้า โหมโรงเทศน์ โหมโรงละคร โหมโรงเสภา
‘overture’ noun (Oxford Living Dictionary)
An orchestral piece at the beginning of an opera, play, etc. ‘the overture to Mozart’s ‘Don Giovanni’; Overture and Incidental Music for ‘A Midsummer Night’s Dream’’
An independent orchestral composition in one movement. ‘Tchaikovsky’s ‘1812 Overture’’
Origin
Late Middle English (in the sense ‘aperture’) : from Old French, from Latin apertura ‘aperture’.
คำแปลของคำว่า "โหมโรงมีอยู่คำเดียวคือ 'overture' จะใช้เป็นคำอื่นแทนก็จะไม่ตรงความหมาย แต่ทั้งคนดนตรีและคนที่ไม่ได้ทำงานด้านดนตรียังมีความเข้าใจเกี่ยวกับ 'โหมโรง' หรือ "overture" ที่จำกัดอยู่และบ้างก็ผิดเพี้ยนไป
ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นเพลงสั้น ๆ เล่นก่อนเปิดม่านละคร/บัลเล่ต์/ละครร้อง แต่ความจริงทั้งโหมโรงและ overture เป็นดนตรีที่มีความสั้นยาวที่ต่างกันมาก ของไทยโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 2 นาทีไปจนเป็นสิบกว่านาทีไปถึงหลายสิบนาที เช่น ‘โหมโรงเช้า’ ‘โหมโรงเย็น’ ส่วน overture มักจะ อยู่ที่ 4-5 นาที และที่ยาวกว่านั้นก็จะประมาณสิบกว่านาที เช่น ‘Flying Dutchman Overture’ ของ Richard Wagner 10:28 นาที ‘William Tell Overture’ ของ Gioacchino Rossini 12:07 นาที
ส่วนใหญ่จะคิดว่าในความเป็นโหมโรงหรือ overture คือต้องเป็น เพลงที่รวม themes ที่มีอยู่ในตัวเรื่องไว้ครบ และเป็นเพลงบรรเลงที่ไม่ดุเดือดตื่นเต้นมากมายนัก แต่ ‘Flying Dutchman Overture’ ของ Richard Wagner เป็นเพลงที่ตื่นเต้นเร้าใจ (thrilling) ตลอดทั้งเพลง
‘โหมโรงสามประสาน’ ถือว่าเป็นเพลงที่มีลักษณะและหน้าที่สอง แบบในตัว
หน้าที่ (function) ปรกติของเพลงประเภทโหมโรง คือ ทำหน้าที่นำและเรียกคนให้มาดูการแสดงที่จะมี ณ สถานที่นั้น คือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
หน้าที่ (function) ของคอนเสิร์ต (concert) คือ เป็นการแสดงดนตรีที่มีเรื่องราวเล่าสู่ผู้ชม มีส่วนที่เป็นการร้องคำเป็นเพลงโดด (stand-alone) ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพลงนำให้เพลงหรือการแสดงใดๆ และยังเป็นดนตรีที่มีความใหม่ในการเรียบเรียงและร้อยเพลง เพราะเป็นเพลงที่ประสานสามวัฒนธรรมดนตรีในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี
โหมโรงสามประสาน ดนตรีสามวัฒนธรรมในชุมชนภาคใต้
ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ - สินนภา สารสาส
สนใจอ่านบทความเต็ม ๆ ได้ที่หนังสือ "ปรากฏการณ์การแสดง"
โฆษณา