13 เม.ย. 2020 เวลา 14:04 • ประวัติศาสตร์
สงกรานต์มีทุกเดือน แล้วทำไมต้องเมษา?
สวัสดีวันสงกรานต์ (ที่ไม่ได้หยุดสงกรานต์) ครับทุกท่าน
ปกติช่วงนี้ของทุกปี เป็นวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ แต่ปีนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด ปีนี้ก็เป็นอันว่างดไป ก็เป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในไทยและทั่วโลกครับ
อย่างที่ขึ้นหัวข้อไว้ สงกรานต์มีทุกเดือน
สงกรานต์ คำนี้ไม่ใช่ภาษาไทย รับมาจากอินเดีย เป็นภาษาสันสกฤต สงฺกฺรานฺติ Saṅkrānti แปลว่า การผ่าน การย้ายเข้าไป (ของดวงอาทิตย์)
เวลาที่เราสังเกตตำแหน่งดวงอาทิตย์จากโลกในแต่ละเดือน ดวงอาทิตย์จะโคจรผ่านเข้าไปในกลุ่มดาวจักรราศีต่าง ๆ ประมาณ 1 เดือน 1 ราศี
เวลาที่ดวงอาทิตย์ “ย้าย” จากราศีหนึ่ง เข้าไปสู่อีกราศี คนอินเดียเรียกปรากฏการณ์ตรงนี้ว่า “สงกรานต์”
เพราะฉะนั้นแล้ว สงกรานต์จริง ๆ จึงมีทุกเดือน (ในความหมายที่คนอินเดียใช้)
มีการขยายความแต่ละสงกรานต์ให้เฉพาะเจาะจงไปอีก เช่น สงกรานต์เมื่อดวงอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ เรียกเมษสงกรานต์ ย้ายเข้าราศีพฤษภ เรียกพฤษภสงกรานต์ เป็นต้น
แต่สงกรานต์ที่มีความสำคัญที่สุดในรอบปี คือเมษสงกรานต์ เมื่อดวงอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ ช่วงกลางเดือนเมษายนในปัจจุบัน กลายเป็น “มหาสงกรานต์” สงกรานต์ใหญ่ ที่คนไทยใช้เรียก
ทำไมราศีเมษถึงมีความสำคัญ ระดับที่ว่าพอดวงอาทิตย์ย้ายเข้า ถึงกลายเป็น event ใหญ่
มันมาจากเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วครับ สมัยที่ตำแหน่งจุด vernal equinox ยังอยู่ที่ตอนต้นของกลุ่มดาวราศีเมษ
เมื่อดวงอาทิตย์มาอยู่ตรงตำแหน่งนี้จากการสังเกตบนโลก ตำแหน่งบนโลกที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จะอยู่บนเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ระยะกลางวันกลางคืนทั่วทั้งโลกก็จะเท่ากัน เป็นที่มาของชื่อ equinox (equi เท่า + nox กลางคืน)
หลังจากนั้น โลกจะเริ่มหันซีกเหนือเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น สำหรับคนซีกโลกเหนือที่สร้างวิชาดาราศาสตร์แบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ขึ้นมา หลังจากผ่านฤดูหนาวที่ยากแค้น ตอนนี้ “ชีวิตของโลก” กลับมาสู่ภาวะปกติ มีสีสันอีกครั้ง เป็นฤดูใบไม้ผลิ จึงเป็นโอกาสดีที่จะเฉลิมฉลองการ “เริ่มต้นใหม่” อีกครั้ง
ในสมัยโบราณ เมื่อดวงอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ก็เท่ากับว่าเป็นวัน vernal equinox ทำให้กลุ่มดาวแกะ ราศีเมษ ได้รับเกียรติกลายเป็นจักรราศีอันดับ 1 ใน 12 จักรราศี ไปโดยปริยาย
แต่ทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นวันเดียวกันแล้ว
vernal equinox 20-21 มีนาคม
มหาสงกรานต์ 13-14 เมษายน
เหตุผลคือการส่ายของแกนโลก ทำให้ตำแหน่งของจุด vernal equinox เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อสองพันปีที่แล้วมันเคยอยู่ระหว่างกลุ่มดาวราศีมีนกับราศีเมษพอดี แต่ตอนนี้มันถอยหลังเข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวราศีมีน และจะถอยหลังไปอีกเรื่อย ๆ ใช้เวลาราว ๆ 26,000 ปี กว่าที่จุด vernal equinox จะวนรอบกลับมาตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
เมื่อมันมีความแตกต่างกันแบบนี้ จากที่เคยฉลองพร้อมเพรียงกันทั้งโลก ก็เริ่มมี “เสียงแตก” ขึ้นมา
คนยุโรปและคนจีน ให้ความสำคัญกับจุด equinox มากกว่ากลุ่มดาวที่อยู่ข้างหลัง
แต่กับคนอินเดีย ก็ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มดาว แม้ว่าจุด equinox จะไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดิมอีกแล้ว
เมื่ออารยธรรมไทยรับหลักดาราศาสตร์ (และโหราศาสตร์) ยุคแรกเริ่มมาจากอินเดีย (ผ่านทางมอญ) เราจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มดาวมากกว่า รวมไปถึงเรื่องวันสงกรานต์ ที่เราก็เรียกตามเขาทั้งดุ้นเหมือนกัน
แต่ที่แน่ ๆ เราไม่ได้ฉลองสงกรานต์กันทุกเดือน (ซึ่งคนอินเดียก็ไม่ได้ฉลองสงกรานต์ทุกเดือนเหมือนกัน) เมษสงกรานต์ที่อินเดียตอนเหนือกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ พอเข้ามาไทย ก็เลยกลายเป็นหน้าร้อนแบบร้อนจัด ๆ คนไทยก็เลยสาดน้ำกัน กลายเป็นสงกรานต์ไทย ๆ ที่ทั้งโลกรู้จัก
จริง ๆ เรื่องของวันสงกรานต์ ยังมีประเด็นต่ออีก เรื่องที่ว่าวันสงกรานต์จะขยับออกไป 1 วัน ทุก ๆ 60-61 ปี
ถ้าไปอ่านตามประกาศสงกรานต์หลายปีหลัง ๆ ก็จะเห็นว่าไปตกวันที่ 14 เมษายนซะส่วนใหญ่ เรื่องนี้อาจจะดูไม่สลักสำคัญอะไร แต่เคยมีคนเทียบปฏิทินจันทรคติย้อนหลังผิด เพราะนับวันสงกรานต์ช้าไป 1 สัปดาห์มาแล้ว
อันนี้ ค่อยว่ากันต่อครับ
โฆษณา