14 เม.ย. 2020 เวลา 09:05 • ธุรกิจ
อนาคตธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยหลัง COVID-19 : Education Hub สะเทือนหนัก
ตัวชี้วัดอนาคตหลังวิกฤติโควิด 19 คือแนวโน้มการเคลื่อนย้ายประชากร ที่ปัจจุบันประชากรแต่ละสัญชาติได้คืนสู่ถิ่นเดิมมากกว่า 90%
ในช่วง Pre-COVID 19 รอยต่อกลางปีถึงต้นปี 2563 ในตัวเลขอัตราการขยายตัวของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยถือว่าเป็นดาวรุ่งที่มีอนาคต และหากไม่มีวิกฤติการแพร่กระจายของไวรัสวายร้านนี้แล้วอัตราการขยายตัวน่าจะอยู่ที่เลขสองหลัก ด้วยมูลค่าการตลาดที่ก้าวกระโดดถึงหลัก 100,000 ล้านบาทต่อปี
เป็นเทรนด์ของการส่งลูกหลานออกไปเรียนต่างประเทศที่สูงโดยเฉพาะจากประเทศจีน รวมกับกำลังส่งภายในประเทศที่สวิงกลับไม่ส่งลูกหลานไปต่างประเทศ ส่งเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ไทยนี่แหละ
ข้อมูลจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ระบุว่าโรงเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12% (ย้อนหลัง 8 ปี) ในปี 2560 มีจำนวนโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นถึง 18-20% นับเป็นการขยายตัวแบบก้าวกระโดด มีตัวเลขตลาดรวมของธุรกิจ 60,500 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็นมูลค่าตลาดทางตรง 26,000 ล้านบาท/ปี มูลค่าตลาดทางอ้อม 28,000 ล้านบาท/ปี และครู 7,200 คน โดยประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด 175 โรงเรียน และเป็นสมาชิกของสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยทั้งหมด 127 โรงเรียน โดยสัดส่วน 2 ใน 3 เป็นโรงเรียนนานาชาติในเขตกรุงเทพมหานคร
ตัวเลขของกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนธุรกิจการศึกษาในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รัสเซีย และอังกฤษ
ไม่รวมถึงกลุ่มทุนยักษ์ในไทย ที่ปรับพอร์ตมาลงทุนตลาดโรงเรียนนานาชาติ ได้แก่ กลุ่มคันทรีกรุ๊ป กลุ่มสหพัฒน์ และกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานบริหาร King’s College International School Bangkok ที่ร่วมกับทางสหพัฒนาลงทุนไปกว่า 3-4 พันล้านบาท ได้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติ เป็นที่ต้องการของตลาด พบว่ามี 7 ประเด็นสำคัญ คือ 1.คุณภาพหลักสูตร ต้องได้รับมาตรฐานทั้งไทยและต่างชาติ 2.มีความร่วมมือกับโรงเรียนในต่างประเทศที่ได้รับความนิยม 3.ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน ต้องสะดวกต่อการเดินทาง 4. ครูผู้สอน ต้องเป็นครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นผู้ถ่ายทอดและพร้อมช่วยเหลือนักเรียนในทุกเรื่อง 5.เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน 6.สภาพแวดล้อม อุปกรณ์การเรียนการสอน และ7.จุดเด่นจุดเด่นของการจัดการเรียนการสอน เช่นการปลูกฝังในเรื่องของความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย เป็นต้น
เช่นเดียวกัย บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CGD) ก็ได้ทุ่มงบลงทุน 3,742 ล้านบาท สร้างโรงเรียนนานาชาติ บนที่ดินขนาด 16 ไร่ 2 งาน 18.6 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท บริเวณถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ตำบลช่องนนทรีย์ อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีศักยภาพรับนักเรียนได้มากกว่า 1,700 คน โดยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย บริษัทฯได้เล็งเห็นถึงความต้องการของโรงเรียนนานาชาติในไทยที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างสูงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และการลงทุนสามารถสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับบริษัทฯ
อีกค่าย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ (VERSO) บนที่ดิน 168 ไร่ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยร่วมลงทุนกับบริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ จำกัด นักลงทุนจากฮ่องกง ในสัดส่วน50:50 ถือว่าเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในภาคการศึกษาระบบโรงเรียนนานาชาติของประเทศไทยสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้ถึง 1,800 คน ตามกำหนดการจะเปิดเรียนในเดือนส.ค.2563
บริษัท ‘SISB’ จำกัด(มหาชน) เป็นโรงเรียนนานาชาติที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีเครือข่ายโรงเรียน 5 แห่งรวมนักเรียนมากกว่า 4,000 คน
 โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ ความจุสูงสุด 2,170 คน
 โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์สุวรรณภูมิ ความจุสูงสุด 640 คน
 โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ธนบุรี ความจุสูงสุด 900 คน
 โรงเรียนนานาชาติสิงค์โปรเอกมัย ความจุสูงสุด 155 คน
 โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เชียงใหม่ ความจุสูงสุด 310 คน
SISB แจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเรื่องของผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 2/2562 พบว่ามีกำไรสุทธิสูงขึ้นมากถึง 52.04 ล้านบาท มีการเพิ่มปริมาณมากขึ้นถึง 150.20% จากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 20.80 ล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
เช่นเดียวกับการตื่นตัวในภูมิภาค สถานศึกษานานาชาติเร่งขยายไปยังจังหวัดที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราการเติบโตสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดอุดรธานี และอุบลราชธานี เป็นทำเลที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการสถานศึกษานานาชาติจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่ลาว และกัมพูชา
1
นอกจากนี้ ในบางจังหวัดที่มีโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่จะมีสถานศึกษานานาชาติเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี และขอนแก่น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีชาวต่างชาติเข้ามาทางานหรือประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาติที่เข้ามาศึกษามากที่สุด ได้แก่ นักศึกษาจีน คิดเป็น 44% ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด รองลงมาเป็นนักศึกษาพม่า เกาหลีใต้ และเวียดนาม ทั้งนี้ สาขาวิชาที่นักศึกษาต่างชาติให้ความสนใจเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการจัดการ และศิลปะศาสตร์
ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่เองมีการขยายตัวที่สูงมากเช่นกัน โดยนางอัมพร กมลโกมุท เจ้าของโรงเรียนนานาชาติในเครือ “Ambassador Project” กล่าวว่า ธุรกิจการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติในจังหวัดเชียงใหม่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลากว่า 10 ปี ได้สร้างโรงเรียนนานาชาติ 6 แห่ง และปีนี้อยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างใหม่อีก 2 แห่ง รวมเป็น 8 แห่ง มีมูลค่ารวมมาก กว่า 600 ล้านบาท
แผนงานในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทางเครือเตรียมลงทุนสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษา หลักสูตรภาษาอังกฤษโดยเฉพาะเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ International Vocational College เพื่อสร้างมาตรฐานให้เด็กนักเรียนที่สนใจเรียนเฉพาะทางด้านอาชีพมีขีดความสามารถด้านภาษา ทั้งนี้ แนวโน้มของตลาดธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมีทิศทางที่ดีมาก ในรอบกว่า 10 ปี พบว่ามีการขยายตัวสูงมากของฐานลูกค้าทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ ซึ่งสัดส่วนนักเรียนคนไทยประมาณ 50-60% นักเรียนชาวจีนประมาณ 30-50% และที่เหลือ คือ สหรัฐอเมริกา เกาหลี และอื่น ๆ
การเปิดตัวโรงเรียนนานาชาติของ SISB ที่จังหวัดเชียงใหม่
อัตราค่าเล่าเรียนที่เชียงใหม่เฉลี่ยระดับชั้นเตรียมอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 ค่าเล่าเรียนต่อเทอมอยู่ระหว่าง 42,350-86,350 บาทต่อเทอม ส่วน Unity Concord International School (UCIS) เป็นโรงเรียนนานาชาติในระบบหลักสูตรอินเตอร์ ระดับชั้น Nursery-G 12 ค่าเล่าเรียนต่อเทอมอยู่ที่ 71,500-137,500 บาท เฉลี่ยเด็กนักเรียน 1 คนของ UCIS มีค่าเล่าเรียนต่อปีอยู่ที่ 143,000-275,000 บาท เป็นต้น
หากวิเคราะห์ตัวเลขจำนวนนักเรียน นักศึกษาต่างชาติ ที่เข้ามาศึกษาในไทย ข้อมูลหน่วยงานด้านอุดมศึกษาระบุ เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต่างชาติ สนใจ จากสถิติพบว่านักศึกษาจากจีนมีจำนวนมากที่สุด 35.4% ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติในไทย รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และ กัมพูชา คิดเป็น 62.5% ส่วนใหญ่ใช้ทุนตนเอง กว่า 69 % และทุนจากรัฐบาลไทย 16.4 %
สำหรับโรงเรียนนานาชาติในจังหวัดภูเก็ต 12 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงเรียนนานาชาติมอนเตสโซรี่เฮาส์ ภูเก็ต 2.โรงเรียนนานาชาติบริติชภูเก็ต 3.โรงเรียนนานาชาติเฮดสตาร์ทภูเก็ต 4.โรงเรียนนานาชาติปาล์มเฮ้าส์ 5.โรงเรียนนานาชาติอิแมจิเนชั่นแพสชั่น 6.โรงเรียนขจรเกียรตินานาชาติ 7.โรงเรียนนานาชาติคิว เอสไอ 8.โรงเรียนนานาชาติยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย 9.โรงเรียนนานาชาติโอ๊ค มีโดว์ 10.โรงเรียนนานาชาติบัดส์ ภูเก็ต 11.โรงเรียนนานาชาติเบอร์ดา คล๊อด ภูเก็ต และ 12.โรงเรียนอนุบาลนานาชาติเรนโบว์ โดยแต่ละแห่งมีค่าเทอม แยกตามระดับชั้นการเรียนโดยเฉลี่ย/ปี (3 เทอม) ประกอบด้วย เตรียมอนุบาล 218,000 บาท ระดับอนุบาล 259,000 บาท ระดับประถมศึกษา 292,000 บาท และระดับมัธยมศึกษา 358,000บาท
บทสรุป
หากประมวลตัวเลขการลงทุนของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ทั้งกรุงเทพ ในหัวเมืองเศรษฐกิจหลักในภูมิภาค ตัวเลขรวมในระดับ 2 หมื่นล้านคือการทุ่มลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของการเคลื่อนย้ายนักเรียน นักศึกษาระดับนานาชาติที่มีแนวโน้มทะลักเข้าไทยในอัตราเร่ง ทว่าไม่มีนักลงทุนใดล่วงรู้ว่าแรงกระเพื่อมกระทบจาก COVID19 ได้ทำให้โลกการศึกษานานาชาติ ในภาวะปกติการเคลื่อนย้ายนักเรียนข้ามพรมแดนมาพำนักในต่างประเทศ เพื่อเรียนตามหลักสูตรนานาชาติเป้นไปได้ง่ายกลับกลาย เป็นอุปสรรคที่ทำให้การตัดสินใจ รวมถึงขั้นตอนการเรียนมีอุปสรรคขึ้น และการเรียนในระบบออนไลน์กำลังมีผลต่อการเรียนในยุคหลัง COVID อย่างแรง การอ่านพฤติกรรมตลาดหลังจากนี้น่าสนใจยิ่งใน 2 ทางคือจำนวนนักเรียนที่จะเคลื่อนย้ายมาเรียนในโรงเรียนนานาชาติจะลดวูบเพราะการปิดกั้นในระยะยาว ทางที่สองคือหากสถานการณ์ที่คลี่คลายขจัดได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีการศึกษาที่ทางโรงเรียนนานาชาติที่มีฐานลูกค้าจากต่างประเทศ รวมถึงคนไทยที่มีกำลังซื้อสูงจะกลับเข้าสู่ระบบได้ จึงถือว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่บนความเสี่ยงในยุคหลัง COVID19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะสะเทือนนโยบายการเป็น Education Hub ของไทยที่จะต้องปรับกระบวนใหม่แน่นอน
อ้างอิง
• โรงเรียนนานาชาติ เติบโตเฉลี่ย 12 % ตลาดรวมของธุรกิจ 60,500 ล้านบาท/ปี https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/837945
• กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848424
• รายชื่อโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย http://isat.or.th/th/schools
• ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/local-economy/news-382280
หน่วยงาน / สมาคมที่เกี่ยวข้อง
• สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
• สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
• สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย
• สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย
โฆษณา