15 เม.ย. 2020 เวลา 10:28 • บันเทิง
Ouya ตำนานเครื่องเกมขายฝันสู่ตำนานเครื่องเกมลวงโลก EP2
ถึงแม้ Ouya จะมีก้าวแรกที่ดี ประสบความสำเร็จจากการระดมทุน กลายมาเป็นเครื่องเกมเครื่องแรกของโลกที่เกิดจากปวงชนเพื่อปวงชนอย่างแท้จริงมิใช่จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้เครื่องนี้ถูกคาดหวังจากทั้งนักพัฒนาและผู้คน ในฐานะสัญลักษณ์ต่อต้านลัทธิทุนนิยมผู้ขาด แต่ว่าเค้าลางของความล้มเหลว และความจริงที่ถูกซ่อนไว้ได้เริ่มปรากฏออกมาสู่สาธารณชน ณ งาน South by Southwest (SXSWคืองานประชุมสัมมนาและโชว์ผลงานในด้านสื่อ Interactive ไปถึงการอัพเดทเทรนด์แนวโน้มในปีนี้และปีต่อไป) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2013 ก่อนเครื่องเกมจะถูกวางขายจริงให้กับคนทั่วไปๆ 3 เดือน ในงานนี้ได้มีการสัมภาษณ์คุณ จูลี่ เออร์แมน (ผู้ก่อตั้งและ CEOของ Ouya) เกี่ยวกับเครื่องเกมดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง Ouya การสัมภาษณ์ในช่วงแรกเป็นไปด้วยความราบรื่น จนกระทั่งการสัมภาษณ์ก็ต้องสะดุดลงเพราะคำถามเหล่านี้ที่ดันไปจี้ใจดำของเธอเข้า และเรื่องราวก็มีอยู่ว่าในตอนที่พิธีกรชักถามเรื่อง บริษัทสามารถขายเครื่องเกมได้เป็นจำนวนเท่าไร เธอกลับตอบคำถามแบบคลุมเครือว่า เยอะมาก แต่ว่าพิธีกรไม่พอใจในคำตอบที่ไม่ชัดเจนของเธอ จึงย้ำคำถามเดิมแต่คราวนี้เจาะจงลึกลงไปยิ่งกว่าเดิมว่า ประมาณช่วงไหน เธอก็ยังตอบแบบยิ้มเจือๆตามสไตส์คนโกหกหน้าด้านๆว่า เยอะมาก พิธีกรเหลืออดกับคำถามเธอจนถึงขั้นต้องถามไปตรงๆเลยว่า คุณจะไม่บอกเลยใช่ไหมว่าเครื่องนี้ขายได้เท่าไร เธอจึงรีบตอบแบบตะกุกตะกักว่า ไม่ ก่อนที่เธอจะเบี่ยงเบนไปประเด็นอื่น นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้ไม่ได้มีความจริงใจขนาดเจ้าของยังโกหกหน้าด้านๆ ไม่ยอมตอบคำถามตรงไปมาตรงมา แถมกำกวมสุดๆ นี่หรือผู้กอบกู้ แห่งวงการเกม
อย่างไรก็ตามคำถามเด็ดที่สุดชนิดว่าทำให้เธอหน้าแตกในงาน นั่นก็คือ อะไรเป็นสิ่งที่ท้าท้ายในการสร้างเครื่องเกมที่ประสบความสำเร็จอย่าง Ouya เธอกลับตอบว่า ไม่มีอะไรพิเศษจริงๆ ใครๆก็สามารถสร้างได้ แค่นำวงจรจาก Smartphone มาใส่กล่อง ก็สามารถสร้างเครื่องเกม Ouya ได้แล้ว ผมมีคำถามอยากถามผู้อ่านจากคำตอบของคุณจูลี่ว่าในเมื่อเครื่องเกมที่ไม่มีอะไรพิเศษเลยแล้วทุกท่านจะซื้อเครื่องเกมนี้ไปทำไม
นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงพลังการตลาดอันแข็งแกร่งของ Ouya ที่สามารถได้ร้อยเรียงเรื่องราวของพวกเขา ในฐานะวีรบุรุษแห่งยุค จนเกิดเป็นกระแส Overhyper ของชาวอเมริกา ที่มีต่อ Smart phoneราคาถูกที่ถูกจับยัดใส่กล่องแต่ไม่สามารถโทรออกได้และสุดท้ายก็นำมาต่อให้เห็นภาพในทีวี แถมมีขั้นตอนการทำง่ายมากๆ ซึ่งมันขัดแย้งกับสิ่งที่ Ouya เคยบอกโฆษณาไว้ว่าเครื่องเกมนี้มีการใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่ภายนอกไปจนถึงภายใน ถึงขั้นเชิญนักออกแบบมือทองมาออกแบบอีกด้วย
ถึงแม้งาน SXSW จะทำให้ภาพลักษณ์ของ Ouya ดูแย่ลงกว่าเดิมในตอนแรก แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีผู้คนศรัทธาอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเมื่อเหล่านักวิจารณ์อย่าง The Verge กับ Engadget ได้รับเครื่องเกมจริงก่อนวางขาย ความจริงที่ คุณจูลี่ กับเหล่าพนักงานของเธอพยายามปกปิดไว้ได้ถูกเปิดโปงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหา จอยเกมที่มีคุณภาพห่วยแตกมาก ปุ่มTrigger มีปัญหาเวลาใช้ปุ่มชอบค้าง คุณภาพปุ่มแกนอนาล็อกห่วยแตกมาก ใช้เพียงแค่อาทิตย์เดียวก็ลอกแล้ว ปัญหาระบบ Touchpad มีการตอบสนองที่ไม่ดีเท่ากับใช้ในมือถือ ปัญหาจอยเกมมีค่า Latency ค่อนข้างสูง ทำให้การตอบสนองของตัวละครค่อนค้างช้ากว่าที่เราสั่ง ทำให้การเล่นเกมแทบเป็นไปไม่ได้เลย มีปัญหาการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่ไม่ค่อยเสถียร รวมถึงปัญหา Bug จุกจิก ทำให้เวลาเล่นเกมอยู่มักชอบค้างหรือเด้งออกเองบ่อยๆ ถึงกระนั้นปัญหาด้าน Software ก็ยังสามารถเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้เพราะของที่นักวิจารณ์ได้รับยังเป็นแค่ตัวทดลองอยู่ บริษัทยังมีเวลา 3 เดือนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทก็ได้ให้สัญญากับเหล่าเกมเมอร์ว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เสร็จก่อนวันวางขายจริงอีกด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาวางขายจริงปัญหาดังกล่าวก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอีก ซึ่งมันได้ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภคในโฆษณา ว่าเครื่องนี้ใส่ใจในประสบการณ์ของการใช้งานของผู้บริโภค นับตั้งแต่ตัวเครื่องภายนอกไปจนถึง Software ผลที่ตามมาก็คือ มันได้ทำลายความเชื่อใจของเหล่าเกมเมอร์ที่มีต่อแบรนด์นี้ให้ลดลงไปหนักกว่าเดิมอีก ซึ่งที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นเอง Ouya ก็มีปัญหาดราม่ากับเหล่า Kickstarter backer อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งนั่นก็คือเรื่องที่ทางบริษัทไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเหล่า Kickstarter backer ว่าพวกเขาจะได้รับเครื่องเกมก่อนร้านค้าปลีก แต่ปรากฏว่าวันขายจริง วันที่ 25 มิถุนายน ทางร้านใหญ่อย่าง Walmart หรือ GameStop กลับได้รับของก่อนพวกเขาเสียอีก แต่ปัญหาที่สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่า Backer มากที่สุด นั่นก็คือข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นของ Ouya ที่ได้อ้างสาเหตุที่เหล่า Backer ได้รับของช้ามันเป็นเพราะระบบขนส่งในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุที่ฟังไม่ขึ้น นั้นก็เพราะว่าร้านค้าปลีกใหญ่ๆไม่สมควรที่จะได้รับสินค้าก่อนเหล่า Backer ไหนว่าให้ความสำคัญกับผู้เล่น นี่มันโกหกกันชัดๆ ถ้าบริษัทมีความจริงใจและให้ความสำคัญกับพวกเขาเหมือนที่โฆษณาไว้จริง ก็ควรมีการวางแผนเผื่อพวกเขาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่เหล่า Backer รู้สึกว่าสิ่งที่บริษัททำมันเป็นการทรยศต่อความรู้สึกและความศรัทธาของพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะเครื่องเกมนี้เกิดขึ้นมาจากเงินของพวกเขา พวกเขาควรได้รับความสำคัญก่อนบริษัทร้านค้าปลีกที่เข้ามาทีหลัง ถึงแม้บริษัทจะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้เงินฟาดหน้า โดยเหล่า Backer จะได้รับเงินฟรีไปซื้อเกมใน Store ฟรี ราว $13.37 (ประมาณ441บาท) แต่ว่ามันก็ได้สายเกินไปเสียแล้วสำหรับความรู้สึกของเหล่า Backer รวมถึงชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทในสายตาผู้คนอีกด้วย
ปัญหาดราม่าในเรื่องถัดมาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องคำสัญญา (อีกแล้ว) แต่ในคราวนี้เป็นของฟากฝั่งนักพัฒนา Ouya นั่นเพราะว่าทาง Ouya ได้ให้สัญญาว่าจะให้เงินแก่นักพัฒนาเกมเท่ากับเงินที่ระดมทุนได้สำเร็จแถมจะมี Bonusให้อีกด้วยสำหรับนักพัฒนาค่ายไหนที่มีมูลค่าระดมทุนสูงที่สุด ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทั้งดูดีและหน้าดึงดูดสำหรับนักพัฒนาและดูโอเวอร์เกินจริงไปสำหรับบริษัทเล็กๆที่ก่อตั้งได้ไม่นานในเรื่องการอัดฉีดเงินนั้นก็ได้กลายมาเป็นดาบสองคมที่ย้อนมาทำลายบริษัทเอง นั่นเพราะทำให้เหล่านักพัฒนาหรือคนที่หิวเงิน อยากได้เงินฟรี ได้ฉวยโอกาสจากการใช้เล่ห์เหลี่ยมโกงเงินไม่ว่าจะการสร้างเกมปลอมๆขึ้นมาเพื่อหลอกทาง Ouya โดยเหล่านักฉวยโอกาสจะสร้างบัญชีปลอมขึ้นมาหลายๆ Account พร้อมกับโอนเงินของตนเองไปบัญชีเหล่านั้นเพื่อใช้บัญชีปลอมเหล่านั้นในการทำให้สามารถระดมทุนถึงยอดได้สำเร็จ ส่วนอีกวิธีนั่นก็คือทางผู้พัฒนาเกมจะขอยืมจากเพื่อนหรือจากครอบครัวมาใช้ระดมทุนจนครบยอดตามที่ระบุไว้ แต่ปัญหามันอยู่ที่จำนวนเงินต่อคนที่ค่อนข้างสูงเกินไปเช่น เกม Gridiron Thunder มียอดระดมอยู่ที่ 171,009 จากผู้ระดมทุนแค่ 183คน เฉลี่ยแล้วระดมทุนคนละ$934 (ประมาณ30,000บาท) ส่งผลให้เกมนี้ถึงแม้จะระดมทุนได้สำเร็จ แต่ว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนชอบเกม Concept หรือไอเดียเกมนั้นๆแล้วบริจาคช่วยเงินให้จริงๆ จึงทำให้มันเกิดเป็นปัญหาดราม่าฟ้องร้องขึ้นมา ซึ่งมีผลทำให้นักพัฒนาเกมเจ้าปัญหาอย่างเช่น Gridiron Thunder ก็ถูกยับยั้งการระดมทุนแถมอดได้เงินจาก Ouya อีกด้วย จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำให้ Ouya ตระหนักถึงความละโมบของมนุษย์รวมถึงความอุดมคติอันสวยหรูของตนเองที่ในกระดาษอาจดูดี แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เรื่อง ส่งผลให้ทาง Ouya ต้องเปลี่ยนกฎใหม่ให้มีความเข้มงวดและวุ่นวายสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเกมที่มีสิทธิ์ได้รับเงินจะต้องมีมูลค่าการระดมทุนขั้นต่ำอยู่ที่ $10,000 (ประมาณ3แสนบาท) และจำนวนคนที่ระดมทุนทุก $10,000 จะต้องมีขั้นต่ำ100คนถ้าน้อยกว่านั้นไม่ผ่านเกณฑ์ นอกเหนือไปกว่านั้นทางบริษัทผู้พัฒนาเกมจะไม่ได้รับเงินทั้งหมดทันทีแต่จะเปลี่ยนเป็นทยอยได้รับแทน โดยจะได้เงินมา 50 % ก่อน แล้วอีก 25 % ต่อมาจะได้รับหลังจากเกมวางจัดจำหน่าย และอีก 25 % สุดท้ายจะถูกแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 6 เดือนตามสัญญาที่จะลงเกมแบบ Exclusive ในขณะที่ Bonus ที่จะถูกมอบให้ค่ายเกมที่ระดมทุนได้มากที่สุดในระยะเวลา 1 ปีหลังจากเครื่องวางขายไปก็ได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นักพัฒนาเกมเป็นอย่างมาก เพราะ นักพัฒนาเกมส่วนใหญ่เริ่มมองว่าสัญญาที่ Ouya มอบให้เป็นแต่เรื่องเฟ้อฝันและคำโกหกปลิ้นปล้อน บริษัทไม่คิดจะให้เงินจริงๆและฉวยโอกาสจากปัญหาดราม่าครั้งนี้เปลี่ยนกฎการให้เงินที่ดูคลุมเครือและดูเอาเปรียบนักพัฒนา จากในตอนแรก Ouya จะให้เงินทันทีเลย แต่ต่อมาทางบริษัทมาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นจะค่อยๆทยอยจ่ายแทน รวมถึงการยกเลิกการแจกเงิน Bonus ให้กับค่ายเกมอีกด้วย ส่งผลให้ค่ายเกมส่วนใหญ่เลิกทำเกมลง Ouya แบบ Exclusive ไปเลย
เครื่องเกมที่ปราศจาก Exclusive Content ถือได้ว่าเป็นหายนะที่สามารถทำเครื่องเกมนั้น ๆเจ๊งได้เลย ถึงแม้เครื่องเกมเหล่านั้นจะทรงพลังแค่ไหน สามารถสร้างกราฟิกที่สวยเหมือนจริงก็ตาม ให้ทุกท่านลองคิดดูจะยังคงซื้อเครื่องเกม Nintendo Switch อยู่อีกไหม ถ้าหากในมือถือ Smartphone มีเกม Exclusive ของค่ายปู่นินลงทุกเกม ซึ่งคำตอบนี้ก็คงรู้ๆกัน จากปัญหาดราม่าเรื่องเงินของผู้พัฒนา ทำให้นักพัฒนาส่วนใหญ่ต่างบอยคอตไม่ทำเกมแบบ Exclusive ลงแล้ว ส่งผลให้ตลอดช่วงชีวิตของ Ouya หลังจากนั้นมีเกมแค่เพียง 2 เกมที่เป็น Exclusive นั่นคือ Soul Fjord และ TownFall แต่รายหลัง Exclusive แค่ 1เดือนเท่านั้น เนื่องจากยอดขายต่ำเรี่ยดินแค่ 7000 Download เท่านั้น แต่สำหรับ Ouya ถือว่าเกมนี้เป็นเกมที่มียอดขายสูงที่สุดของเครื่อง
หลังจากนั้นเป็นต้นมา Ouya ก็ค่อยๆตายลงอย่างช้าจากการขาดทุน จนถึงขั้นกลืนน้ำลายตนเอง ยกเลิกระบบที่ให้ผู้เล่นได้ทดลองเล่นเกมฟรีทุกเกม นับได้ว่าเป็นการทำลายคำสัญญาที่เคยโม้ไว้ในโฆษณาอีกครา แต่นั้นก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทที่กำลังตายดีขึ้นเลย จนสุดท้ายบริษัทก็ถูกคุณจูลี่ ขายให้กับบริษัท Razer (บริษัทเกมมิ่งเกียร์ของโลก)ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2015 (พ.ศ.2558) พร้อมกับลาออกจากตำแหน่ง CEO ปิดฉากเครื่อง Ouya ตำนานเครื่องเกมเครื่องแรกของโลกที่เกิดจากการระดมทุน จากสัญลักษณ์ของการต่อต้านลัทธิทุนนิยม สู่จอมหลอกลวงแห่งวงการวิดีโอเกม
(หลังจาก บริษัทถูกขายไป เครื่องเกม Ouya ก็ยังไม่ถูกฆ่าให้ตายไปซะทีเดียว เพราะถึงแม้ Razer จะเลิกผลิตเครื่อง แต่ได้ช่วยต่อท่อหายใจช่วยชีวิต ด้วยการสนับสนุน Server ร้านค้าOnline บนเครื่อง Ouya จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2019 ก่อนที่จะยุติบริการลง ส่งผลให้ Ouyaได้เดินทางมาถึงจุบจบอย่างแท้จริงด้วยอายุประมาณ 6 ปี)
สรุปภาพรวมการล่มสลายของ Ouya
ปัญหาอย่างแรกสำหรับเครื่องเกมรุ่นใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตามที่จะต้องเผชิญ ก็คือการขาดเกมแม่เหล็กจำนวนมากที่ดึงดูดให้ผู้เล่นมาซื้อ แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขด้วยระยะเวลา เพราะนักพัฒนาจะต้องใช้เวลาเรียนรู้ระบบใหม่รวมถึงต้องประเมินยอดขายเครื่องกับแผ่นเกมที่อื่นๆลงขายไปก่อนหน้านั้น ว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนไหม ทำให้ในช่วงแรกๆทางค่ายมักนำเกมเก่ามาลงก่อนเพื่อทดลองตลาดว่า Work หรือไม่ Ouya ก็มีปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ทว่า Ouya กลับมีปัญหาที่หนักกว่านั้น ซึ่งก็คือเรื่องดราม่าเรื่องของตัวเครื่องที่ออกมามีคุณภาพที่ห่วยแตกกว่าที่เคยโม้ไว้ แถมออกมาแล้วมีปัญหาจุกจิกมากมาย ไม่ยอมแก้ตามที่สัญญาไว้อีกด้วย แล้วนี่ยังไม่รวมถึงปัญหาดราม่าเรื่องการส่งของช้าอีกด้วย จากชื่อเสียงในฐานะวีรบุรุษผู้กล้าแห่งวงการเกม กลับถูกทำลายภายในเวลาไม่กี่วันนับจากวันที่เครื่องเกมวางขาย ความจริงที่บริษัทได้ปกปิดเรื่องความห่วยแตกก็ได้ถูกเปิดโปงจากเหล่านักวิจารณ์ชื่อดังมากมายและนักเล่นที่ได้ซื้อสินค้าไป ทำให้ Ouya มีกระแสตอบรับในด้านลบไปไหนทิศทางเดียวกันว่า “ไม่แนะนำให้ซื้อ” ส่งผลให้ Ouya มียอดขายเครื่องที่ต่ำเรี่ยดิน เมื่อยอดขายต่ำก็ทำให้ยอดขายเกมต่ำลงไปอีกด้วย จากผลสำรวจ Ouya พบว่ามีผู้เล่นเพียงแค่ 27 %เท่านั้นที่จะยอมจ่ายเงินซื้อเกม ทำให้เหล่านักพัฒนาเกมไม่กล้าที่จะพัฒนาเกมลง ส่งผลให้ทาง Ouya ไม่มีเกมดีๆลงทำให้ไม่มีคนอยากซื้อ แต่ว่า Ouya ยังไม่อับจนหนทางเพราะยังมีไพ่ตายใบสุดท้ายอยู่ นั่นก็คือการให้เงินแก่นักพัฒนาฟรีหากทำเกม Exclusive Content บน Ouya ระยะเวลา 6 เดือน ถึงกระนั้นกลับมีปัญหาดราม่าเรื่องเงินเข้ามาอีก ส่งผลให้ Ouya ถูกเหล่านักพัฒนาทอดทิ้ง ในเมื่อไม่มี Exclusive content ที่ไว้คอยดึงดูดผู้เล่นในระยะยาว จากปัญหาที่สามารถใช้เวลาแก้ไขได้ ก็กลายมาเป็นไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไปเลย นับได้ว่าเป็นการตอกฝาโลง Ouya ลงหลุมไปอย่างสมบูรณ์
โฆษณา