16 เม.ย. 2020 เวลา 02:56 • ประวัติศาสตร์
ขึ้นสุด – ลงสุด กับ อิวาซากิ ยาทาโร่
อิวาซากิ ยาทาโร่
เมื่อพูดถึงการขึ้นสุด-ลงสุดแล้ว หลายๆ คนที่อาจจะเคยผ่าน รด. หรือชั่วโมงพละในโรงเรียน ก็ต้องนึกถึงเวลาทำโทษของครูฝึกหรืออาจารย์ที่มักชอบสั่งทำโทษว่า "วิดพื้นสิบครั้ง ปฏิบัติ!!!!!!" ไอ้เราก็เริ่มทรุดตัวลงกับพื้น ดันขึ้นดันลงอู้ๆ เหมือนไก่จิกข้าวเปลือก ครูก็จะบอก “ขึ้นสุด-ลงสุดสินักเรียน” แต่บางคนก็อาจจะนึกถึงคอมเมนเตเตอร์รายการแข่งร้องเพลงที่มักจะเม้นผู้เข้าประกวดที่มีเสียงร้องสุดติ่งว่า “พี่ชอบน้องมาก เวลาร้องเสียงสูงก็ขึ้นได้สุด เวลาเสียงต่ำก็ลงได้สุด ถูกใจพี่มาก มาอยู่กับทีมพี่เถอะ” อันนี้ก็ว่ากันไป แต่ไอ้ขึ้นสุด-ลงสุดที่ผมจะเล่าเนี่ย มันหมายถึงช่วงชีวิตของคนๆ นึง ที่ชีวิตของเขามันช่างพลิกผันได้ตลอดเวลา เดี๋ยวขึ้นมั่ง เดี๋ยวลงมั่ง ใช่ครับ ผมกำลังจะเล่าถึงคนที่อยู่ในชื่อเรื่องนี่แหละครับ เขามีชื่อเสียงเรียงนามว่า “อิวาซากิ ยาทาโร่”
บ้านเกิดของยาทาโร่
หนุ่มน้อยอิวาซากิ ยาทาโร่ เกิดมาในตระกูลอดีตซามูไรที่แคว้นโทสะ(จังหวัดโกจิในปัจจุบัน) ที่บอกว่าอดีตซามูไรก็เพราะปู่ทวดของเขาได้ขายสถานะซามูไรเพื่อชำระหนี้ มันเลยทำให้สถานะของตระกูลอิวาซากิเนี่ย กลายเป็นชาวนาดาดๆ คนนึง ต่ำกว่าผู้ใหญ่บ้านเสียอีก (ญี่ปุ่นยุคนั้นมีสี่วรรณะ ซามูไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้าตามลำดับ) เริ่มมองเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่าเมื่อยาทาโร่เกิดมา ก็มีชีวิตซะน่ารันทดเลย จากแต่ก่อนยืดอกพกดาบ ต้องกลายเป็นยืดอกพกเสียมแทน เท่านั้นไม่พอ พ่อของเขายังเป็นพวกขี้เมาหยำเป แถมยังหาเรื่องชาวบ้านไปทั่ว เรียกได้ว่า ตบเด็ก เตะหมา ท้าผู้หญิงต่อย สอยคนแก่ รังแกคนท้อง วันนี้ไม่ได้กินเหล้า ก็ขอกินทีนแทนแล้วกัน แต่โชคยังดีที่แม่ของเขาเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง และทะเยอทะยาน อบรมดูแลบุตรชายเป็นอย่างเข้มงวด โดยมีความปรารถนาอยากให้เด็กชายยาทาโร่ได้ดิบได้ดี
"ซนโน โจอิ" เชิดชูองค์จักรพรรดิ ขับไล่พวกป่าเถื่อน
พูดถึงบรรยากาศของแคว้นโทสะในยุคนั้น เริ่มมีความครุกรุ่นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำในชนชั้นซามูไร ซามูไรชั้นล่างถูกซามูไรชั้นสูงฆ่าทิ้งได้ง่ายเหมือนหมูเหมือนหมา แถมบางครั้งยังไม่ถูกลงโทษ ทำให้ซามูไรหนุ่มเหล่านั้นรวมตัวเพื่อที่จะทำการปฏิรูปแคว้นโดยตั้งกลุ่มโทสะคินโนโตะซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรง ประจวบกับเหตุการณ์ปรากฏตัวของเรือดำจากอเมริกา ที่นำมาโดยพลเรือจัตวาแม็ทธิว เปอร์รี่ มาบุกญี่ปุ่นเพื่อบังคับให้เปิดประเทศ ยิ่งทำให้ความคิดของกลุ่มสุดโต่งเข้าไปอีก โดยกลุ่มมีแนวคิดชาตินิยม เชิดชูองค์จักรพรรดิ ขับไล่พวกป่าเถื่อน(ต่างชาติ) อันนำไปสู่การโค่นล้มระบอบโชกุนที่ปกครองมานานกว่า 200 ปี โทษฐานที่ปล่อยให้พวกฝรั่งมังค่ามาย่ำยีประเทศ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าว ยาทาโร่บอก “เรื่องนี้....ยาทาโร่จะไม่ยุ่ง” ยาทาโร่จะมุ่งแต่เรียน ซึ่งในขณะนั้นเขาได้โอกาสทองสุดๆ ยิ่งกว่าลด 70 % ในคืนมิดไนท์เซลเลย ในการได้ไปศึกษาหาความรู้ที่เอโดะ(โตเกียวในปัจจุบัน) เนื่องจากการที่จะออกจากแคว้นต้องได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าแคว้นเสียก่อน
โยชิดะ โทโย ผู้เป็นอาจารย์ของยาทาโร่
พอยาทาโร่ได้เรียนไปสักพัก ก็มีเมสเสจมาจากหม่อมแม่ว่า “ไอ้หนุ่มเอ้ย...พ่อเอ็งเจ็บหนักว่ะ ไม่ได้ลื่นล้มนะ พ่อเอ็งไปหาเรื่องผู้ใหญ่ ไปบอกเค้าว่ากินเหล้าไม่ถึงว่ะ อยากกินทีน เลยโดนตื้บซะเละเลย” พอยาทาโร่ได้รับข้อความนั้นก็น้ำตาไหล ไม่ได้ไหลเพราะคิดถึงพ่อนะ แต่เพราะเสียดายโอกาสทองที่หลุดลอยไป เสมือนกำลังแดรกลูกชิ้นอยู่ แล้วโดนลิงศาลพระกาฬฉกไปจากมือ ชนิดที่ได้แค่มองตาปริบๆ พร้อมกับรำพึงเบาๆว่า #@$%# เมื่อยาทาโร่กลับไปถึงโทสะ ก็ยังไม่มีโทสะสักเท่าไหร่นัก เขาไปฟ้องศาลอาญาประจำแคว้นว่าผู้ใหญ่ทำเกินไป สุดท้ายศาลไม่ลงโทษ เท่านั้นแหละครับ ยาทาโร่จากที่อุตส่าห์ออกไปจากโทสะก็เกิดบันดาลโทสะละเมิดอำนาจศาลถึงขั้นด่าพ่อล่อแม่ จนท้ายที่สุดจากโจทก์กลายเป็นจำเลย ก็ไปนอนคุกเล่นๆ เจ็ดเดือน เขียนหนังสือได้เล่มนึงเลย อาจจะใช้ชื่อว่า จากนักเรียนทุน สู่โลกบางขวาง
ความคึกคักของเอโดะ
เมื่อออกจากบางขวางได้สักพัก ก็ไปเปิดสำนักติววิชาสอนเด็กๆ กลายเป็นติวเตอร์ จนในที่สุดโชคก็เข้าข้างอีกครั้งได้มีโอกาสกลับไปเรียนหนังสือที่เอโดะ แถมยังได้มีโอกาสรู้จักและทำงานร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในแคว้นโทสะที่มีชื่อว่า โยชิดะ โทโย ซึ่งเป็นถึงที่ปรึกษาของท่านเจ้าแคว้น ท่านโทโยมองเห็นศักยภาพในตัวของติวเตอร์ยาทาโร่ จึงคอยสั่งสอนแนวคิดให้กับยาทาโร่ เขาจึงเข้าสู่วงการเทรนเนอร์และไลฟ์โค้ช เอ้ย! แวดวงการค้า ซึ่งโทโยมองเห็นโอกาสของการเปิดประเทศว่าเป็นการนำเอาองค์ความรู้ของนานาชาติมาปรับใช้เข้ากับชาติของตน เพื่อวันข้างหน้า ข้าจะกลับมายิ่งใหญ่ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าพอสมควร ก้าวหน้าเสียจนน่าหมั่นไส้ จนสุดท้ายท่านโทโยก็โดนแทงไส้ไหลนอนตายอยู่ใต้สะพานลอย กลายเป็นที่มาของเพลงลุงขี้เมา อันนี้ล้อเล่นครับ ซึ่งท่านโทโยโดนพวกชาตินิยมเก็บก็เพราะเห็นด้วยกับการเปิดประเทศ พูดได้ว่า สิ้นท่านโทโย ยาทาโร่สิ้นใจ อารมณ์ของยาทาโร่ในขณะนั้นเสมือนถูกแมนนี่ ปาเกียวสอยเค้าปลายคาง อยู่ในสภาพอาการเมาหมัด ต้องกลับบ้านไปทำใจตามเดิม
ทาเคจิ ซูอิเซน หรือ ฮันเปย์ตะ หัวหน้ากลุ่มชาตินิยม ผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารท่านโทโย
เมื่อท่านโทโยถูกลอบสังหาร ก็ทำให้ท่านเจ้าแคว้นโทสะ ยามาอุจิ โยโด เริ่มตีตัวออกห่างกลุ่มโทสะคินโนโตะ จากที่ตอนแรกท่านโยโดก็เห็นดีเห็นงามด้วยว่าไอ้หนุ่มพวกนี้มันเข้มแข็งดีจัง สักพักพอมือขวาโดนสอยก็เริ่มคิด กูจะเป็นรายต่อไปรึป่าวว้า ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หลานเขยของท่านโทโย โกโต้ โชจิโร่ ก้าวเข้ามามีบทบาทและเข้ามายึดอำนาจ พร้อมทั้งกวาดล้างพวกคลั่งขวาเสียจนเหี้ยน พอเหตุการณ์สงบ ท่านโกโต้ ก็เริ่มคิดพัฒนาแคว้นโดยคิดจะทำการค้าที่เมืองท่านางาซากิแต่ติดตรงที่ไม่มีเวลาจึงกลายมาเป็นช่วงเวลาของยาทาโร่อีกครั้ง เนื่องจากท่านโกโต้เคยเห็นฝีไม้ลายมืออันเก่งฉกาจ ฟุตฟิตฟอไฟกับฝรั่งได้คล่อง กับการที่มีความเขี้ยวลากดิน เลยทำให้ยาทาโร่กลับมาสู่เส้นทางการค้าอีกครั้งได้มีโอกาสเป็นถึงซูเปอร์ไวส์เซอร์ในบริษัทที่กำกับโดยแคว้น มีหน้าที่รับผิดชอบการค้าทั้งปวง เพื่อนำรายได้มาซื้อเรือ ปืน กระสุนเข้าคลัง เพื่อใช้ต่อสู้กับพวกโชกุน อีกทั้งตัวยาทาโร่เองก็มีโอกาสได้ทำตามความฝัน คือกอบกู้สถานะซามูไรกลับคืนมาอีกครั้งนึง
บรรดาผู้เป็นสมาชิกเริ่มต้นของกิจการ
จนมาถึงปี 1868 ที่ระบอบโชกุนได้ล่มสลายมีการปฏิรูปเมจิ รัฐบาลกลางก็จ้องจะเทคโอเวอร์บริษัทการค้าของแคว้นต่างๆ ทำให้แคว้นต้องเลิกยุ่งเกี่ยวจากการทำธุรกิจ ซึ่งตอนนั้นยาทาโร่ก็เป็นคนดูแลอยู่ จึงได้โอกาสเปลี่ยนชื่อบริษัทซะ กลายเป็นบริษัทมิตซูบิชิในปี 1873 และเปลี่ยนตราโลโก้มาเป็นแบบปัจจุบัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการรวมกันของตราประจำตระกูลอิวาซากิ และตราประจำแคว้นซึ่งเป็นผู้มีพระคุณ ในที่สุดยาทาโร่ก็ยึดกิจการมาเป็นของตนและบอกว่ามิตซูบิชิไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแคว้นอีกต่อไป โดยเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว อ้าว!!!! ยาทาโร่ ไหนบอกว่าเขามีบุญคุณไง ทำไมนายทำงั้นล่ะ ในปีถัดมาขณะที่รัฐบาลกำลังหาบริษัทเดินเรือที่จะพากองทัพไปบุกไต้หวัน รัฐก็หาไม่ได้สักที จนยาทาโร่มองเห็นโอกาสจึงอาสาเข้ามารับงาน ทำให้หลายคนแอบไม่ชอบใจ เมื่อญี่ปุ่นรบชนะแล้ว ไม่เพียงญี่ปุ่นจะชนะเท่านั้นนะครับ ประธานยาทาโร่เราก็ชนะไปด้วย ทำให้มิตซูบิชิได้มีคอนเนคชั่นอันแนบแน่นกับทางรัฐบาล กลายเป็นขาประจำที่รัฐบาลมักเรียกใช้รวมถึงงานปราบกบฏซัตสึมะในปี 1877 ด้วย
วิวัฒนาการของตรามิตซูบิชิ
หลังจบภารกิจนั้นก็ทำให้ยาทาโร่มีแบ็คอันหนาปึ้กซึ่งก็คือ รัฐบุรุษ โอคุโบะ โทชิมิจิ ถ้าหลายคนคิดว่าจะแฮปปี้เอ็นดิ้งแล้ว บอกได้เลยครับว่าคิดผิดครับ และในปี 1878 ท่านโอคุโบะ ก็ถูกลอบสังหาร ทำให้ประธานยาทาโร่ถึงขั้นกุมขมับ พร้อมกับเปล่งเสียงว่า ไรว้า!!!! ถ้าคิดว่าอันนี้ซวยแล้ว ยังครับ ยังมีอีก เมื่อสิ้นโอคุโบะ ฝ่ายโจชู กับ ซัตสึมะก้าวขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาล ก็ได้เวลาเช็คบิล เป็นที่ทราบกันดีว่า ซัตสึมะกับมิตซูบิชิเคยมีเรื่องกัน ก็ทำให้รัฐบาลกีดกันมิตซูบิชิออกจากวง แล้วดึงกลุ่มทุนของอดีตซามูไรชั้นสูงซึ่งก็คือกลุ่มมิตซุยมาตั้งบริษัทชิปปิ้งของตัวเองมาแข่งกับมิตซูบิชิเลย แต่ทว่ายาทาโร่ของเราก็ไม่ยอมง่ายๆ ถึงขั้นขุดคุ้ยเรื่องที่บริษัทของอีกฝั่งมีค่าบริการที่แพงเว่อร์ และความเร็วของเรือที่ไม่ได้มาตรฐาน เรียกว่าฟ้องกะเอาล้มละลายกันเลยทีเดียว แต่ขณะที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่ ในปี 1885 ประธานยาทาโร่ก็เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตซะงั้นด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สิริอายุได้ 50 ปี ยังไม่ทันรู้เลยว่าใครจะชนะคดี ก็สิ้นใจไปเสียก่อน
พันธมิตรซัตโช รวมมาจากกลุ่มซัตสึมะ และโชซู
อย่างไรก็ตามเป็นที่เรารู้กันดีว่าบริษัทมิตซูบิชิก็ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่บริษัทได้ผลิตเครื่องบินรบออกมามากมายหลายรุ่นโดยเฉพาะรุ่น Mitsubishi A6M Zero ที่ออกแบบโดยวิศวกรขั้นเทพ ดร.จิโร่ โฮริโกชิ จนในที่สุดก็กลายมาเป็นบริษัทมิตซูบิชิเฮฟวี่อินดรัสตี้จำกัด ที่ผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มาจนถึงปัจจุบัน หากจะอธิบายแนวคิดและตัวตนของ อิวาซากิ ยาทาโร่ ได้ชัดเจนก็คงจะเป็นคำกล่าวที่เค้าได้เคยพูดถึงโอกาสในชีวิตของเขาไว้ว่า “ ชีวิตทุกชีวิตครั้งนึงล้วนมีโอกาสทองด้วยกันทั้งนั้น แต่หลายๆ คนก็มักจะพลาดจนทำให้มันลอยหลุดมือไป เราจะต้องใช้ทั้งความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ความใส่ใจอย่างพิถีพิถัน และความกล้าอย่างบ้าบิ่น จึงจะสามารถยึดโอกาสทองนั้นให้มั่นอยู่ในมือ” และนี่......คือชีวิตที่ขึ้นได้สุด และลงได้สุด ของชายที่ชื่อว่า อิวาซากิ ยาทาโร่
อนุสาวรีย์ อิวาซากิ ยาทาโร่
โฆษณา