17 เม.ย. 2020 เวลา 13:30
วัน-ละ-คดี ตอน ร่างอวตารนารายณ์ ในบทละครรามเกียรติ์
สวัสดีค่ะ พบกับญาณารากับบทความที่จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับวรรณคดีในอีกแง่มุมกับ ว้าว! วรรณคดี หลังจากญาได้เล่าเรื่องราวในเสภาขุนช้างขุนแผนมาเยอะแล้ว วันนี้ญาจะมาเล่าเรื่องราวของวรรณคดีที่ถือว่าเป็น “สุดยอด” อีกเรื่องหนึ่งของไทยและเป็นหนึ่งในเรื่องที่ใช้ในการแสดงโขน นั่นคือ รามเกียรติ์ ค่ะ
พูดถึงรามเกียรติ์เพื่อน ๆ ก็ต้องนึกถึงการที่พระรามกับทศกัณฑ์ทำศึกกันเพื่อแย่งนางสีดา แต่เรื่องราวของบทละครรามเกียรติ์ไม่ได้เริ่มที่การทำศึกกันของพระรามกับทศกัณฑ์ทันทีนะคะ แต่เริ่มจากการเล่าเรื่องราวร่างอวตารต่าง ๆ ของพระรามก่อน โดยญาก็จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับร่างอวตารของนารายณ์ก่อนที่จะอวตารลงมาเป็นพระรามค่ะ
ในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ นั้นกล่าวในช่วงต้นของเรื่องว่าพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพญาสุกร (วราหาวตรี) เหตุที่พระนารายณ์ต้องอวตารเป็นพญาสุกรนั่นก็เพราะว่ายักษ์หิรันต์เนี่ยแสดงอิทธิฤทธิ์ของตัวเองโดยการม้วนแผ่นดินแล้วเอาหนีบใส่รักแร้แล้วหนีลงเมืองบาดาล ทำให้พระนารายณ์ต้องอวตาร (แบ่งร่าง) ลงไปปราบยักษ์หิรันต์ค่ะ โดยลักษณะของพญาสุกรได้พรรณนาเอาไว้ว่า
กลับกลายเป็นพญาสุกร เขี้ยวเพชรงามงอนจำรัสศรี
กายนั้นเผือกผ่องดั่งสำลี เข้าไล่ราวีอสุรา
แต่ยังมีคนเข้าใจผิดว่าพระองค์ได้อวตารลงมาเป็นนางอัปสร ซึ่งอันที่จริงแล้วร่างนางอัปสรนี้เพียงแค่ “แปลงกาย” เท่านั้นค่ะ ที่พระองค์ต้องแปลงกายเป็นนางอัปสรนั้นเพื่อที่จะกำจัดนนทกและถือเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวรามเกียรติ์ค่ะ ร่างของนางอัปสรได้พรรณนาเอาไว้ว่า
เหลือบเห็นสตรีวิไลลักษณ์ พิศพักตร์ผ่องเพียงแขไข
งามโอษฐ์งามแก้มงามจุไร งามนัยน์งามเนตรงามกร
งามถันงามกรรณงามขนง งามองค์ยิ่งเทพอัปสร
งามจริตกิริยางามงอน งามเอวงามอ่อนทั้งกายา
ถึงโฉมองค์อัครลักษมี พระสุรัสวดีเสน่หา
สิ้นทั้งไตรภพจบลงกา จะเอามาเปรียบไม่เทียบทัน
ความงามของร่างนี้เรียกได้ว่าแม้แต่พระนางลักษณมี พระอัครมเหสีของพระองค์เองก็ยังเทียบไม่ได้ (อวตารให้งามกว่าภรรยา) ซึ่งความงามของนางอัปสรก็ได้ผลค่ะ เพราะสามารถทำให้นนทกยอมสยบได้ แต่ก่อนตายนนทกก็ตัดพ้อต่อว่าว่าพระนารายณ์เรื่องที่พระองค์มาแสร้งเป็นหญิงแบบนี้ไม่บัดสีตัวเองรึไง พระองค์จึงลั่นวาจาขอให้นนทกนั้นกลายเป็นยักษ์มียี่สิบมือสิบหน้า ส่วนพระองค์นั้นจะเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาแล้วจะตามฆ่าให้หมดวงศ์
เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่าทำไมเขาถึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนารายณ์ 10 ปาง แต่ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ถึงมีแค่สองปางล่ะ นั่นก็เพราะว่าต้นกำเนิดของรามเกียรติ์นั้นมาจากมหากาพย์รามายณะ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาปราบ “ยักษ์” ค่ะ แต่ถ้าตามคัมภีร์โบราณอื่น ๆ ของอินเดียก็จะยังมีเรื่องราวของร่างอวตารอีก 8 ร่าง ซึ่งความซับซ้อนนั้นก็มากด้วยเช่นกัน แม้แต่บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ยังมีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งที่มาหรือแหล่งที่อ้างอิงเนื้อหามาจากเอกสารและเรื่องเล่าอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิทานเรื่องรามเกียรติ์ นิทานพื้นบ้านของชาวอินเดีย รามายณะของวาลมิกิ รามายณะของอินเดียตอนใต้ หนมานนาฏกะ หิกะยัตศรีรามของมลายู วิษณุปุราณะ รามายณะสันสกฤต และไทยแต่งเติมขึ้นมาเองค่ะ
นับว่าเป็นวรรณคดีแห่งชาติที่มีความน่าสนใจและมีความยิ่งใหญ่มาก หากเพื่อน ๆ สนใจอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://vajirayana.org/ สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ
เนื้อหา : ญาณารา
ข้อมูลอ้างอิงตัวบท : https://vajirayana.org/
โฆษณา