18 เม.ย. 2020 เวลา 13:09 • สุขภาพ
อาหารสำหรับผู้ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง (โรคเกาต์) เป็นอย่างไร โพสนี้มีคำตอบ!!!
5
โรคเกาต์ เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เป็นระยะเวลานาน โดยภาวะกรดยูริกสูงหมายถึงระดับกรดยูริกมากกว่า 7 มก./ดล. ในเพศชาย และ 6 มก./ดล. ในเพศหญิง
อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการทางข้อ ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและฉับพลันทันทีทันใด ข้อที่เป็นจะบวมขึ้น มีสีแดงรอบๆ
กรดยูริก (Uric acid) คือกรดชนิดหนึ่งเกิดจากร่างกายสร้างขึ้นมาเองและมาจากอาหาร กรดยูริกนี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะร้อยละ 67 และทางอุจจาระประมาณร้อยละ 33
โดยการที่มีกรดยูริกในเลือดสูงเกิดได้จาก
1. ร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้หรือกำจัดได้น้อย สาเหตุมาจากการทำงานของไตที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือจากโรคไตเรื้อรัง
2. ร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ จาก cell breakdown พวก Nucleic acid เช่น DNA, RNA หรือมาจากการรับประทานอาหารที่มีสาร "พิวรีน" (Purine) สูง ซึ่งสารพิวรีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก
1
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือ "โมโนโซเดียมยูเรต" (Monosodium urate crystals) มีลักษณะคล้ายแท่งเข็ม แหลมๆ ซึ่งมักเกิดสะสมอยู่บริเวณข้อต่อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม ร้อนแดง และหากมีการสะสมผลึกมากๆ จนเกิดการจับตัวเป็นก้อนที่ข้อกระดูกหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง เรียกก้อนที่เกิดขึ้นนั้นว่า "Tophi"
Monosodium urate crystals (Needle shape)
ก้อน Tophi
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
1. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เนื่องจากส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น รวมทั้งลดการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
1
2. ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในผู้ที่น้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เพราะก่อให้เกิดระดับกรดยูริกในเลือดสูง
4. ควรหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารผัดที่ใส่น้ำมันมากๆ และเนื้อสัตว์ติดมัน โดยพยายามรับประทานให้น้อยที่สุดหรือรับประทานแต่ไขมันดี เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้การขับกรดยูริกลดน้อยลง
5. เลือกปรุงอาหารด้วยวิธีนึ่ง ตุ๋น ต้ม ย่าง หรือผัดที่ใช้น้ำมันน้อย เพื่อลดการรับประทานไขมันจากอาหาร
1
6. ควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไต
7. ไม่ควรรับประทานน้ำหวานหรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส เพราะน้ำตาลฟรุกโตส จะถูกเปลี่ยนเป็นพิวรีนได้เร็ว ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงได้
4
8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อที่รุนแรง เนื่องจากอาจกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบได้
โรคร่วมที่มักเกิดร่วมกับโรคเกาต์
1. การทำงานของไตที่ผิดปกติ
2. โรคสะเก็ดเงิน
3. โรคความดันโลหิตสูง
4. โรคเบาหวาน
5. โรคไขมันในเลือดสูง
6. โรคหัวใจและหลอดเลือด
7. โรคอ้วน
1
ปริมาณพิวรีนในอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
1. Low Purine (อาหารที่มีพิวรีนต่ำ 0-49 มิลลิกรัม/100 กรัม)
- ไข่ (ทั้งไข่แดงและไข่ขาว)
- นมขาดมันเนย
- นมพร่องมันเนย
- เนย
- น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร
- ธัญพืช (ที่ขัดเอาเปลือกออก)
- ขนมปังขาว
- ผัก (ยกเว้นผักส่วนยอด)
- ลูกนัท เช่น อัลมอนด์ เกาลัด แม็คคาเดเมีย
- เมล็ดมะม่วงหิมพานต์
- ลูกอม น้ำตาล วุ้น
- แตงกวา
- แครอท
2. Moderate Purine (อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง 50-150 มิลลิกรัม/100 กรัม)
- เนื้อหมู
- เนื้อวัว
- เนื้อไก่ (โดยเฉพาะส่วนปีกของสัตว์ปีก เช่น ปีกเป็ด ปีกไก่ ปีกห่าน)
- เนื้อสัตว์ทะเล เช่น เนื้อปลา กุ้ง ปู ปลาหมึก
- ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วลันเตาแห้ง
- ข้าวโอ๊ต
- ข้าวแดง ข้าวซ้อมมือ
- ผักชะอม
- ผักโขม
- เห็ด
3. High Purine (อาหารที่มีพิวรีนสูง มากกว่า 150 มิลลิกรัม/100 กรัม)
- ตับ ไต เครื่องในสัตว์
- ไข่ปลา
- ปลาซาร์ดีน
- ปลาดุก
- หอยแมลงภู่
- ปลากะตัก
- ปลาไส้ตัน (น้ำปลา)
- กะปิ
- น้ำพริก
- น้ำสกัดจากเนื้อ ซุปไก่สกัด ซุปเนื้อ น้ำต้มเนื้อ
- ใบขี้เหล็ก
- เมล็ดสะตอ
- ยอดผักต่างๆ เช่น ยอดตำลึง ยอดฟักทอง ยอดฟักแม้ว ยอดกระถิน
- หน่อไม้ทุกชนิด
1
ข้อสังเกตุ : น้ำปลาทำจากปลากะตักหรือปลาไส้ตัน ซึ่งมีสารพิวรีนมาก ดังนั้นผู้ที่ระดับกรดยูริกในเลือดสูงและผุ้ที่เป็นโรคเกาต์ จึงควรงดใช้น้ำปลาให้ใช้เกลือป่นเป็นเครื่องปรุงรสเค็มแทน (ซึ่งไม่มีสารพิวรีนอยู่เลย) หรือใช้ซีอิ๊วขาว (ซึ่งทำจากถั่วเมล็ดแห้ง มีสารพิวรีนอยู่แต่มีน้อยกว่าน้ำปลา)
ฝากกดLike กดShare เพื่อเป็นกำลังใจกันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา