17 เม.ย. 2020 เวลา 14:26
เพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงาน ด้วย Pomodoro Technique ❗️
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย POMODORO
ไม่ว่าจะวัยทำงานหรือวัยเรียน ผมเชื่อว่าเราก็ต้องเจอกับปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน/อ่านหนังสือของเราทั้งนั้นแหละครับ
เคยไหม อ่านหนังสือเป็นอัจฉริยะข้ามคืน ปั่นงานในวันเดียว ❓
เคยไหม ทำงานไม่ทัน ปั่นโอทีจนมืดค่ำ ❓
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อาจจะเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่มันต้องดีกว่า ๆ เนอะครับถ้าเราจะมาพัฒนาปัจจัยภายในไปด้วย วันนี้ผมเลยเอาเทคนิคนึงมาเล่า ที่ทำได้ง่ายมาก ๆ เทคนิคนี้ชื่อว่า Pomodoro Technique 🍅 ครับ
Pomodoro Technique จริง ๆ แล้วถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ 40-50 ปีที่แล้ว โดย Francesco Cirillo ชาวอิตาเลียน ผู้ประกอบการในยุค 80 ที่รู้สึกว่าตัวเองทำงานไม่มีประสิทธิภาพซะเลย จึงหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองใช้เวลาเท่าเดิม แต่ได้งานมากขึ้น
Pomodoro แปลว่า ซอสที่ทำจาก "มะเขือเทศ" ลูกแดง ๆ เพื่อใช้กินกับเส้นพาสต้าครับ ซึ่งคุณฟานเชสโก้แกก็มีนาฬิกาจับเวลาทำอาหารที่เป็นรูปมะเขือเทศนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน จึงเอานาฬิกานี้มาช่วยเรื่องทำงานอื่น ๆ ด้วยซะเลย
จากนาฬิกาจับเวลาในครัว กลายเป็นเทคนิคการทำงานอย่างหนึ่ง
ผมสรุปเทคนิคสั้น ๆ จากคุณฟานเซสโก้เป็น 5 ขั้นตอนตามนี้เลยครับ
1. เลือกงานที่อยากทำให้เสร็จ
- อาจจะมีหลายงานก็ได้ครับ แต่ตอนทำให้เลือกขึ้นมาทำทีละงาน
2. ตั้งนาฬิกาจับเวลา 25 นาที
- จริง ๆ แล้วสามารถบวกลบได้ครับ สำหรับคนที่สมาธิสั้นหน่อย ช่วงแรกอาจจะลดเวลาลงมาหน่อย หรืองานไหนที่เรารู้สึกว่าต้องใช้เวลาเยอะ ก็เพิ่มเวลาได้ครับ
3. ทำงานนั้นโดยไม่วอกแวก แวะเปิดนู้นนี้ จนกว่านาฬิกาจะร้องเตือน
- อันนี้สำคัญมากครับ เราต้องจดจ่อกับงานตรงหน้าแบบเต็มที่ไปเลย
4. พอนาฬิการ้องเตือน ให้เราหยุดพัก
- จะลุกออกไปเดิน ยืดเส้นยืดสาย หรือหาอะไรกิน ชา กาแฟสัก 5 - 10 นาที แต่ต้องลุกออกไปพัก ไม่ว่าจะติดลมแค่ไหนก็ตาม
5. พอหมดเวลาพัก ก็กลับไปเริ่มต้นตั้งแต่ข้อ 2. ใหม่
จำนวนรอบของการทำอาจจะขึ้นอยู่กับงานของเราได้ครับว่าเยอะแค่ไหน ถ้าต้องเวลานาน หรือทำทั้งวัน ก็อาจจะเว้นเป็น พอครบ 4 รอบ ก็พักยาวเป็น 25 - 30 นาทีแทน
การแบ่งเวลาแบบ 25 นาทีจนครบ 1 รอบ Cycle
โดยสรุปแล้ว Pomodoro Technique เป็นวิธีการแบ่งเวลาทำงานอย่างเป็นระบบ และทำให้เราทำงานได้เต็มที่มากขึ้นครับ
ข้อดีของวิธีนี้คือ บังคับให้เราทำงานโดยไม่วอกแวก ไม่แวะเล่นโทรศัพท์ แถมยังแบ่งเวลาพักอย่างชัดเจน ทำให้สมองไม่หมดแรงเพราะทำงานติดต่อกันนานเกิน และอาจจะมีไอเดียอะไรดี ๆ ระหว่างพักยืดเส้นยืดสาย ตอนหัวว่าง ๆ ได้อีกด้วย
แต่ข้อเสียก็มีครับ เช่นถ้าบางงานที่ต้องใช้ความต่อเนื่อง หากต้องพักบ่อย ๆ ก็จะทำให้ตอนมาทำขาดความต่อเนื่องได้เช่นกัน (ซึ่งอาจจะแก้ได้ด้วยการขยายการกำหนดเวลาในแต่ละรอบ)
📌 ยังไงแล้ว Pomodoro Technique ก็คงไม่เหมาะกับทุกคนแน่นอนครับ เพราะสไตล์การทำงานของแตกละคนก็แตกต่างกัน เราอาจจะลองวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอื่น ๆ เช่น GTD, Action Method, Seinfeld's Productivity แล้วเอามาคละกันเพื่อหาวิธีการทำงานที่เหมาะกับเราที่สุดดีกว่าครับ
สำหรับใครที่อยากลองเทคนิคนี้ไม่ต้องหาซื้อนาฬิกาจับเวลารูปมะเขือเทศมาใช้จริง ๆ ด้วยหรอกครับ แค่นาฬิกาจับเวลาในมือถือก็ได้ หรือเพื่อให้เกิดความรู้สึกลองอะไรใหม่ ๆ สามารถลองจางลิ้งด้านล่างนี้ได้เลยครับ
ในเว็บจะมีการระบุเวลาล่วงหน้าให้เราเลยว่ากี่โมงจะพัก กี่โมงทำงาน
ฝากกดติดตามเป็นกำลังใจให้มือใหม่ด้วยนะครับ 🙏🏻
แต่ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก๋า อย่าลืมนะครับว่า
"what get you here won't get you there"
มาพัฒนาไปพร้อมกันนะครับ ❗️
Greenhorn เพจที่จะเล่าสาระทุกเรื่อง โดยมือใหม่หัดเขียน ที่จะพัฒนาไปพร้อมคุณ
โฆษณา