18 เม.ย. 2020 เวลา 05:10 • สุขภาพ
June Almeida - ผู้หญิงโลกลืม กับเรื่องราวการค้นพบไวรัสโคโรนาของเธอ
🧡 ช่วงนี้ รอบๆ ตัวมีแต่เรื่องบั่นทอนกำลังใจ แต่วันนี้ แอดจะพามารู้จักกับหญิงสาวที่แทบไม่มีใครพูดถึงคนนึง ผู้ซึ่งฝากผลงานล้ำค่าไว้ให้โลก และจะมาเติมไฟในชีวิตของทุกคนกันค่ะ
✨ ชื่อของเธอ "June Almeida" ✨
นามนี้ได้รับการกล่าวขานอีกครั้งในช่วงการระบาดของ COVID-19
เพราะถึงจะเป็นเชื้ออุบัติใหม่ แต่ว่าเชื้อ COVID-19 ก็อยู่ในตระกูลเชื้อ Coronavirus ซึ่งเรารู้จักมาหลายสิบปีแล้ว
และ...ใช่ค่ะ ดอกเตอร์ Almeida คือนักถ่ายภาพเชื้อไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และเป็นผู้ค้นพบเชื้อตระกูล Coronavirus นี่เอง
https://www.nationalgeographic.com/history/2020/04/june-almeida-discovered-coronaviruses-decades-ago-little-recognition/
👩🔬 June Almeida (นามสกุลเดิมคือ Hart) เป็นลูกสาวของคนขับรถเมล์ ในเมืองกลาสโกว ประเทศสกอตแลนด์
ถึงแม้จะเป็นเด็กที่เก่งมาก แต่เมื่ออายุได้ 16 ปี เธอก็ต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากไม่มีเงินเรียนต่อ
ทว่า โชคชะตาก็ชักนำเธอให้มาได้งานเป็นนักเทคนิคในแล็บจุลพยาธิวิทยา (histopathology) ที่ Glasgow Royal Infirmary โดยได้เงินเพียงสัปดาห์ละ 25 ชิลลิ่ง
หลังจากนั้น เธอก็ย้ายไปทำงานที่ลอนดอน (Bartholomew's hospital) และแต่งงานกับ Enriques Almeida ศิลปินชาวเวเนซุเอลา ในปี 1954
👩🔬 สองสามีภรรยาและลูกสาว ย้ายไปกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา เธอได้ตำแหน่งนักเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่ Ontario Cancer Institute
🧬🔬 ซึ่งถึงแม้เธอจะไม่มีดีกรีอะไร แต่ที่นั่นเธอก็ได้ฝึกปรืออย่างหนัก
และฉายแววความสามารถด้านการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จนมีชื่อร่วมในงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์หลายฉบับ
🔬 เธอบุกเบิกวิธีถ่ายภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า "immune electron microscopy"
คือการใช้แอนติบอดี้ ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันจากสัตว์หรือมนุษย์ที่เคยติดเชื้อตัวนั้นมาก่อน มาจับลงบนตัวไวรัส
พอมีก้อนโปรตีนแอนติบอดีมาแปะกระจุกๆ บนตัวเชื้อ ก็ทำให้สามารถเห็นไวรัสได้ชัดขึ้นนั่นเอง
🦠 ผลงานที่น่าจดจำของเธอ คือ "ภาพแรกของเชื้อหัดเยอรมัน (rubella)"
ซึ่งถึงแม้คนจะรู้จักเชื้อนี้มานานถึง 25 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว ในฐานะเชื้อที่เมื่อติดในคนท้อง จะทำให้ลูกออกมาพิการ
แต่ดอกเตอร์ Almeida ก็เป็นคนแรก ที่ทำให้โลกได้เห็นหน้าตาที่แท้จริงของมันค่ะ 🎉
❃.✮:▹ กลับอังกฤษ ◃:✮.❃
ด้วยฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดา สะดุดตาแมวมองขนาดนี้ ทำให้ในปี 1964 ดอกเตอร์ Almeida ก็โดนดึงตัวกลับมาประเทศอังกฤษ
โดยได้งานที่โรงพยาบาล St Thomas's Hospital Medical school ในลอนดอน
(รพ.เดียวกับที่ท่านนายก บอริส จอห์นสัน เข้ารักษาตัวเรื่อง COVID-19 นี่ล่ะค่ะ)
**✿❀ การค้นพบอันยิ่งใหญ่ ❀✿**
ตัดภาพมาที่ห้องวิจัยอีกแห่งในประเทศอังกฤษ
ขณะนั้น ดอกเตอร์ David Tyrrell ซึ่งทำงานใน "หน่วยไข้หวัด" (Common cold unit: CCU) กำลังศึกษาน้ำล้างจมูกจากเหล่าอาสาสมัคร
และแล้ว เขาก็พบบางอย่างที่แปลกประหลาด
มีเชื้อตัวหนึ่ง ชื่อ "B814" ที่เขาเก็บมาจากนักเรียนใน Surrey ปี 1960
เขาพบว่า เจ้าไวรัสตัวนี้ เมื่อติดแล้วทำให้มีอาการแบบหวัดได้ในอาสาสมัคร (เดี๋ยวนะ อาสาสมัครก็ยอมเนอะ 😅)
แต่ถึงจะพยายามแล้วพยายามอีก ทีมวิจัยก็ไม่สามารถเพาะมันด้วยวิธีปกติที่ใช้กับเชื้ออื่นได้
เอ๊ะ! หรือมันจะเป็นเชื้อตัวใหม่?!?
เอาไงดี…
ไม่มีทางเลือกแฮะ...
ดอกเตอร์ Tyrrell จึงติดต่อ June Almeida และส่งตัวอย่างให้เธอช่วยถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ว่าจะสามารถเห็นเจ้าเชื้อปริศนานี้หรือไม่
ซึ่งตอนนั้นดอกเตอร์ Tyrrell กล่าวไว้ว่า
"เราก็ไม่ได้หวังอะไรมาก แต่ก็น่าลองดู"
ทว่าดอกเตอร์ Almeida กลับทำได้เกินที่คาดหวังไว้อีกค่ะ
ภาพเชื้อไวรัสนั้นคมชัด และชวนสะดุดใจ เธอบรรยายไว้ว่า
"คล้ายๆ ไวรัสไข้หวัดใหญ่นะ แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว"
ภาพแรกของเชื้อ Coronavirus Almeida, June D.; Tyrrell, D. A. J. (1967). "The Morphology of Three Previously Uncharacterized Human Respiratory Viruses that Grow in Organ Culture". Journal of General Virology. 1 (2): 175–178. doi:10.1099/0022-1317-1-2-175. ISSN 0022-1317. PMID 4293939.
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น ดอกเตอร์ Almeida ก็นึกขึ้นได้ ว่า
เธอเคยพบอนุภาคไวรัสหน้าตาแบบนี้มาก่อน ตอนศึกษาเรื่องตับอักเสบในหนู และหลอดลมอักเสบในไก่
แต่งานวิจัยชิ้นนั้น กลับโดนคณะกรรมการปัดตกไปอย่างไม่ใยดี ด้วยเหตุผลที่ว่า...
"มันก็แค่ภาพเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ถ่ายมาไม่สวยนั่นแหละ!"
เมื่อได้เห็นเชื้อประหลาด B814 ที่มีหน้าตาเหมือนกันอีกครั้ง เธอจึงมั่นใจแล้วว่า นี่คือเชื้อกลุ่มใหม่แน่ๆ ของจริงแล้วล่ะ ชั้นไม่ได้มโนไปเอง!
1
ซึ่งหลังจากนั้น ดอกเตอร์ Tyrrell, ดอกเตอร์ Almeida และ ศาสตราจารย์ Tony Waterson (ผู้ดูแลที่โรงพยาบาล St Thomas)
ก็มาร่วมมุงเมียงมอง ภาพไวรัสตัวกลมๆ มีก้านและจุดเล็กๆ ยื่นออกมา ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน
"เจ้าไวรัสตัวนี้มีมีหมุดยื่นออกมารอบตัว เหมือนรัศมีดวงอาทิตย์ (sun's corona) เลยนะ"
และแล้ว...เจ้าไวรัสโคโรน่า ก็ถือกำเนิดขึ้นบนโลกค่ะ
✧༺♥༻∞...∞༺♥༻✧
ในที่สุด การค้นพบไวรัสตัวใหม่ในรหัส B814 ก็ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร British Medical ปี 1965
และภาพแรกของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่พบในมนุษย์ จากฝีมือของ Almeida ก็ได้ลงวารสาร Journal of General Virology ตามมาในอีกสองปีให้หลัง
ต่อมา ในช่วงปี 1970 เธอก็ย้ายไป Postgraduate Medical School ที่ลอนดอน และได้รับปริญญาเอกจากที่นั่น
https://en.m.wikipedia.org/wiki/June_Almeida
。☆✼ ชีวิตหลังเกษียณ ของคุณยายสุดเก๋ ✼☆。
งานสุดท้ายของดอกเตอร์ Almeida อยู่ที่สถาบันวิจัย Wellcome หลังจากนั้นเธอก็เกษียณตัวเอง
แล้วเธอไปทำอะไรต่อนะ? มาทายกัน
ต้องอยู่ในแวดวงนักวิชาการแน่ๆ ...
เปล่าค่ะ!
คำตอบคือ เธอไปเป็น 'ครูสอนโยคะ' และประสบความสำเร็จด้วย สุดยอดเลย!
แถมนอกจากนั้น เธอยังไปเรียนวิธีบูรณะเครื่องลายคราม จนสามารถเปิดธุรกิจวัตถุโบราณ ร่วมกับสามีคนที่สอง ชื่อ Phillip Gardner (คนนี้เป็นนักไวรัสวิทยาเช่นกันค่ะ)
เจ๋งได้อีก! 😆
แต่ยังไง นักไวรัสวิทยาก็ทิ้งกล้องจุลทรรศน์ ไปไม่ได้นะคะ มันอยู่ในสายเลือด
ในช่วงปลายยุค 1980 ยามที่โลกกำลังระส่ำระสายกับโรคระบาดใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก คุณยายก็ต้องวางเสื่อโยคะกับถ้วยชามรามไห แล้วกลับมาสร้างตำนานอีกครั้ง
คราวนี้ เธอฝากผลงานไว้ในฐานะที่ปรึกษา และช่วยถ่ายภาพสวยๆ ชุดแรกของเชื้อ human immunodeficiency virus หรือที่เรียกว่า "HIV" จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน โดยวิธี negative staining นั่นเองค่ะ
⋆ ˚。⋆୨୧˚ สิ่งที่เธอฝากไว้ให้โลกนี้ ˚୨୧⋆。˚ ⋆
June Almeida เสียชีวิตในปี 2007 ขณะอายุ 77 ปี
13 ปีหลังจากที่เธอจากไป ชื่อของเธอก็ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง ในฐานะผู้ค้นพบไวรัสโคโรน่า
ถ้าวันนั้น เธอยอมจำนนให้กับคำว่า...
"ก็แค่ภาพเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ถ่ายมาไม่สวย"
เราคงไม่ได้รู้จัก Coronavirus ที่ทายาทของมันจะมามีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลก เมื่ออีก 56 ปีถัดมา
ซึ่งเสียดายว่า ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ เราก็อาจจะได้เห็นภาพถ่ายเจ้า COVID-19 สวยๆ โดยฝีมือคุณยายนะคะ
☆.。.:* สรุป .。.:*☆
ที่แอดชอบมากคือ ในบทความหนึ่ง ได้สรุปปัจจัยความสำเร็จของเธอไว้ 3 ข้อ ดังนี้ค่ะ
1. มีความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
2. มองหาทางออกแบบง่ายๆ ในปัญหาที่เหมือนจะซับซ้อน
3. ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค
ถึงเธอจะเรียนไม่จบ (อายุ 16 นี่ ถ้าเป็นปัจจุบันที่ไทย ก็ ม.4- ม.5 เอง)
ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือเธอได้โอกาสที่ดี ได้งานในห้องแล็บ และไม่ปล่อยโอกาสนั้นไปเปล่าๆ แต่กลับศึกษาความรู้ ฝึกปรือฝีมือ จนเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับค่ะ
นอกจากนี้ เธอยังเป็นคนที่สนุกสนาน มีอารมณ์ขันอีกด้วยนะคะ (◕▿◕✿)
นี่คือส่วนผสมลับ ที่ทำให้ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง กลายเป็นตำนานที่สุดยอดมากค่ะ
👩🔬🔎🧪🧫🧬🔬⚗️💊
อาจจะยาวหน่อย แต่เป็นเรื่องราวที่ feel good ดีนะคะ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ ♥
#หมอเด็กนอกคอก
References:-
โฆษณา