19 เม.ย. 2020 เวลา 13:58 • สุขภาพ
จูน อัลเมดา เป็นนักวิจัยผู้ค้นพบไวรัสโคโรน่าเมื่อปี 1964 แต่กลับมีคนรู้จักเธอน้อยมาก จนเมื่อไวรัสโคโรน่าใหม่ระบาด งานของเธอจึงได้รับความสนใจ และทำให้จูน อัลเมดากลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้นมา และจนถึงทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังใช้เทคนิคที่เธอคิดค้นขึ้นเพื่อระบุตัวไวรัส
จูนเกิดที่กลาสโกว์ มีนามสกุลเดิมว่าฮาร์ท ฐานะของครอบครัวเธอไม่ค่อยดีนัก พ่อของเธอเป็นคนขับรถเมล์สายในเมือง แม้เธอจะเรียนเก่งมาก แต่ความฝันที่เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต้องล้มไป เมื่ออายุ 16 เธอลาออกจากรร.มาทำงานเป็นเทคนิเชียนในแล็บแห่งหนึ่งในกลาสโกว์ หน้าที่ของเธอคือวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยกล้องจุลทรรศน์
เธอแต่งงานกับศิลปินชาวเวเนซูเอล่าที่เธอได้พบเมื่อย้ายมาทำงานเป็นเทคนิเชียนในห้องแล็บของรพ.ในลอนดอน. หลังจากนั้นพวกเขาก็ย้ายไปอยู่ที่แคนาดา
จูนได้งานที่สถาบันมะเร็งออนตาริโอในเมืองโตรอนโต หน้าที่ของเธอคือวิเคราะห์เนื้อเยื่อที่มีมะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่มีความก้าวหน้ากว่าเดิม จูนได้พัฒนาเทคนิคใหม่มากมาย รวมทั้งได้ตีพิมพ์รายงานหลายฉบับที่บรรยายถึงโครงสร้างของเหล่าไวรัสที่ก่อนหน้านี้มองไม่เห็น
1
เทคนิคที่จูนพัฒนาขึ้นมาเพื่อจำแนกสิ่งใหม่ที่กล้องทำให้มองเห็นได้นั้นไม่ซับซ้อนเลย แต่นับเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญในวงการไวรัสวิทยาเลยทีเดียว
เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อมองดูสิ่งจิ๋ว ๆ เหล่านั้น การที่จะจำแนกสิ่งที่ต้องการจะมองหาเป็นเรื่องยากมากเพราะจะกล้องจะทำให้เห็นหลายสิ่งจากตัวอย่าง หลักการทำงานของกล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอนก็คือ มันจะฉายลำอิเล็กตรอนไปที่ตัวอย่าง และจะบันทึกปฏิกิริยาของสิ่งจิ๋ว ๆ เหล่านั้นที่ทำต่ออนุภาคอิเล็กตรอนที่เกิดขึ้นบนผิวหน้าของตัวอย่าง คุณสมบัติของอิเล็กตรอนก็คือ มีความยาวคลื่นที่สั้นกว่าลำแสง ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นภาพที่มีความละเอียดกว่าเดิม
ปัญหาก็คือจะแยกแยะได้อย่างไรว่าตัวจิ๋ว ๆ ที่เห็นตัวไหนคือไวรัส ตัวไหนคือเซลล์ร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของตัวอย่าง หรืออื่น ๆ อีกที่ไม่ใช่ทั้งสองอย่างนี้ด้วย
วิธีของจูน อัลเมดาคือ เธอเอาแอนติบอดี้ของผู้ที่ป่วยจากไวรัสเข้าใช้ในการจำแนกไวรัสออกจากสิ่งอื่น เนื่องจากสารที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือแอนติเจนเป็นนักรบที่ร่างกายผู้ป่วยสร้างขึ้นมากำจัดกับไวรัสโดยเฉพาะ เมื่อเธอใส่สารที่มีแอนติบอดี้ลงไปเพิ่ม แอนติบอดี้นั้นจะไปห้อมล้อมไวรัสเอาไว้ ทำให้จำแนกแยกแยะได้ทันที เทคนิดนี้เองทำให้นักเทคนิคการแพทย์สามารถแยกได้ว่าตัวไหนคือไวรัสที่ทำให้คนป่วย
นอกจากนี้จูนก็ยังได้ศึกษาต่อไปเรื่องการจำแนกโฮสท์ของไวรัส หรือสิ่งมีชีวิตที่ไวรัสอาศัยเพื่อให้มันคงอยู่ได้ เพราะไวรัสมันไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง รวมทั้งปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดโรคของมันด้วย ซึ่งจูนก็ได้ค้นพบสาเหตุของไข้หัดเยอรมัน ที่สามารถทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงในหญิงตั้งครรภ์ นักวิทยาศาสตร์อื่นศึกษาเรื่องโรคนี้มานานนับทศวรรษ แต่จูน อัลเมดาได้เห็นไวรัสต้นเหตุเป็นคนแรก
จูน อัลเมดามีชื่อเสียงมากขึ้น และย้ายมารับตำแหน่งใหม่ที่คณะแพทย์ของรพ.เซนต์โธมัสในลอนดอน. และในปี 1964 เธอได้รับการติดต่อจากดร.เดวิด ไทเรล ที่หมดหวังว่าจะตรวจสอบว่าตัวอย่างเชื้อที่ได้จากเด็กชายคนหนึ่งที่ป่วยมีอาการคล้ายหวัดว่าคืออะไรกันแน่ เพราะเพาะเชื้อในห้องแล็บไม่ได้ เขาหวังว่าเทคนิคของจูนอาจจะช่วยได้บ้าง แม้ไม่ค่อยจะมั่นใจนัก
แต่จูนก็ทำได้เกินกว่าที่เขาคาด เธอเห็นไวรัสที่มีหนามทั่วตัวนี้ และสามารถสร้างภาพที่ขัดเจนของมันขึ้นมาได้ด้วย และเธอก็จำได้ว่าเคยเห็นเจ้าเชื้อนี้มาก่อนหน้านี้สองครั้งจากตัวอย่างเชื้อที่มาจากไก่และหนู เธอเคยเขียนรายงานเรื่องไวรัสนี้มาแล้วสองฉบับ แต่กลับถูกนักวิทยาศาสตร์ที่รีวิวงานตีกลับบอกว่าภาพนั้นน่าจะเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ชัดเจนมากกว่าจะเป็นไวรัสพันธุ์ใหม่
ตอนที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ห้องแล็บของดร.ไทเรลเรียกเชื้อต้วนี้ว่า บี814 และสงสัยว่าจะเป็นไวรัสพันธุ์ใหม่ ดร.ไทเรล จูนและหัวหน้าของเธอหารือกันว่าจะเรียกชื่อเจ้าตัวมีหนามรอบ ๆ ตัวนี้ว่าอย่างไร และพวกเขาเห็นว่าหนามนี้คล้าย ๆ มงกุฎก็เลยตกลงเรียกมันว่าโคโรนา ที่เป็นภาษาลาตินที่แปลว่ามงกุฎ
1
จูนเกษียณจากวงการไวรัสวิทยาไปเมื่อปี 1985 แต่ก็ยังทำโน่นนี่อยู่เสมอ อย่างเช่นเป็นครูโยคะ สะสมของเก่าจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ และเธอก็แต่งงานใหม่กับนักไวรัสวิทยาเหมือนกัน เธอเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 77 ปีในปี 2007 ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยจูนกลับไปทำงานเป็นที่ปรึกษาที่รพ.เซนต์โธมัส และก็มีส่วนช่วยให้นักวิจัยรุ่นใหม่พิมพ์ภาพที่ชัดเจนของไวรัสเอชไอวีได้เป็นครั้งแรก. ซึ่งเจ้าไวรัสตัวนี้เป็นสาเหตุของโรคเอดส์
แปลจาก
โฆษณา