22 เม.ย. 2020 เวลา 04:14 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วันที่ 22 เมษา วันคุ้มครองโลก Earth day : เราดูแลโลกได้ดีแค่ไหนกัน
UNEP หรือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ทุกปีในวันที่ 22 เมษายา เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth day เมื่อปี พ.ศ. 2513
โดยผู้ริเริ่มคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภา
วันสิ่งแวดล้อมมียาวนานมากว่า 50 ปีแล้ว ส่วนของไทยนั้น เพิ่งเห็นความสำคัญและมีการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
หลังจากเหตุการณ์ที่ คุณสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
กระทำอัตวินิบาตกรรม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
เป้าหมายของวันคุ้มครองโลกมีจุดประสงค์ 7 ข้อ ด้วยกัน ได้แก่
1. ลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศอย่างหนาแน่น
2. กำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซน
และก่อให้เกิดการสะสมความร้อน
3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่
4. ห้ามการซื้อ- ขาย สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์
5. รักษาระดับประชากร ให้อยู่ในสภาพสมดุลกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
7. เพื่อสร้างสำนึกที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชน และชาติ
พันธกิจ 7 ประการที่เราสัญญาไว้กับโลกเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2513 เป็นเวลากว่า 50 ปี
ปัจจุบันเรารักษาสัญญานี้ได้หรือไม่ ?? เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ประการแรก : การลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ปัจจุบันเราปล่อย CO2 ลดลงได้แค่ไหนกัน
กราฟแสดงถึงความเข้มข้ม CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก
IPCC บอกว่าเราสามารถปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ไม่เกิน 500 ppm ถ้าหากเกินกว่านั้นเราจะถอยหลังกลับไม่ได้ อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียล เกิดการล่มสลายของระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจะไปก่อนเป็นอันดับเเรก เช่น แพลงก์ตอน ปะการัง เคย
คำถามคือแล้วตอนนี้เราปล่อยไปเท่าไหร่ และอุณหภูมิโลกตอนนี้เท่าไหร่แล้ว ??
จากกราฟข้างบนภายในปี 2018 ตัวเลขได้ทะลุ 400 ppm เป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันอยู่ที่ 411 ppm หากเรายังใช้ชีวิตปกติ ทำเหมือนทุกอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น บริโภคเหมือนเดิม ใช้ไฟอย่างเดิม ทิ้งขยะเหมือนเดิม ภายในไม่เกิน 10 ปี ตัวเลขจะทะลุถึง 500 ppm อย่างแน่นอน
ส่วนทางด้านของอุณหภูมิตอนนี้
อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างพื้นดินกับทะเลตอนนี้อยู่ที่ 0.8 องศา สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 150 ปี หากอุณหภูมิสูงเกินกว่ากำหนดหรือถึงจุดอิ่มตัวที่เรียกว่า positive feedback แปลเป็นไทยง่ายๆคือ "กู่ไม่กลับ จบเห่"
คำถามคือ ตอนนี้โลกไปถึงไหนแล้วกับอุณหภูมิเพียง 0.8 เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
ประเทศที่อยู่ในแถบเขตร้อน จะประสบปัญหากับคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงจนสามารถฆ่าเราได้ ทุกวันนี้เราก็ร้อนกันอยู่แล้ว แต่มันจะร้อนยิ่งขึ้นไป
อีก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลง ฝนตกไม่ตกตามฤดูกาล ฤดูร้อนยาวนานและรุนแรงขึ้น ฤดูหนาวสั้นลง เมื่อปี 2019 คูเวตทำ New high ของอุณหภูมิในช่วงเมษาหรือหน้าร้อนถึง 68 องศา ในประเทศไทยเองก็ไม่แพ้กัน ลำปางทำ new high ที่ 44 องศา ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนนี้ส่งผลให้
ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีตั้งแต่ปี 2522 แล้วความรุนแรงนี้จะกินเวลายาวถึงกลางปี 63
และความร้อนทั่วโลกส่งผลให้…
น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สิ่งที่ตามมาคือระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้น กระแสน้ำทั่วโลกจะเกิดการเปลี่ยนทิศทาง ปลาที่อยู่ในเขตน้ำอุ่นจะหนีเข้าหาเขตน้ำเย็น สัตว์หลายชนิดก็อพยพไปตามแหล่งอาหาร นำมาสู่การขาด แคลนอาหารของมนุษย์ และสัตว์หลายชนิด
น้ำแข็งขั้วโลกเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการสะท้อนแสงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันน้ำ
แข็งขั้วโลกละลายหายไปมากทำให้สะท้อนแสงได้น้อยลง
แผ่นน้ำแข็งใหญ่หลัก ๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 ที่ คือ
เกาะกรีนแลนด์และในแถบขั้วโลก มีการคาดการณ์ว่าหากน้ำแข็งแถบเกาะกรีนแลนด์ละลายจนหมดน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 23 เซนติเมตร และหากน้ำแข็งในแถบขั้วโลกหายไป น้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 70 เมตร!!
ไม่ใช่เพียงขั้วโลกเพียงอย่างเดียวที่ละลายแต่ยังลามไปถึงทุก พื้นที่บนโลกไม่ว่าจะเป็น
บนยอดเขาเอเวอร์เรสต์. ยอดเขาคีรีมันจาโร เทือกเขาแอลป์ ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
การละลายของน้ำแข็งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลและนำมาซึ่งการผลักดันน้ำเค็ม
ในประเทศไทยแม่น้ำเจ้าพระยามีเส้นทางน้ำที่เชื่อมกับมหาสมุทร ปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะดันน้ำจืดเข้ามาสู่แม่น้ำ และน้ำจืดจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำกร่อย หากน้ำจืดถูกเปลี่ยนเป็นน้ำกร่อย ระบบนิเวศของสัตว์น้ำจืดและน้ำเค็มก็จะอยู่ไม่ได้ ผลผลิตอย่างกระชังปลาบริเวณอ่าวไทยได้รับความเสียหาย อีกทั้งทำให้ต้นทุนในการสูบน้ำเพื่อมาผลิตเป็นน้ำจืดเพิ่มมากขึ้นจากสภาพน้ำที่เปลี่ยนไป เพราะน้ำกร่อยมีสภาพเป็นกรดส่งผลให้เครื่องยนต์พังไว
ปะการังฟอกขาว
อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นปะการังจะเกิดความเครียดและขับไล่สาหร่ายที่เกาะอยู่ออกไป หรือที่เรียกกันว่า"ปะการังฟอกขาว" แต่สาหร่ายเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญแก่ปะการังเมื่อไม่มีสาหร่ายปะการังก็จะตาย
และเมื่อปะการังไม่มี สาหร่ายก็ไม่มีเช่นกัน เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อไม่มีปะการังสัตว์น้ภขนาดเล็กทั้งหลายก็ขาดแหล่งอาหาร ขาดที่อยู่ จึงมีจำนวนลดน้อยลงตามกันไป
อีกทั้งปริมาณคาร์บอนที่มากส่งผลให้น้ำทะเลกลายเป็นกรด
มหาสมุทรรับคาร์บอนมากขึ้นจากการปล่อยที่มากขึ้น ทำให้ค่าความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น ยิ่งคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเยอะทะเลก็ยิ่งเป็นกรดซึ่งปัจจุบันค่า pH ของมหาสมุทรทั่วโลกมีการลดลงจาก 8.2 เหลือ 8.1 ซึ่งลดลงมา 0.1 มองดูอาจเป็นตัวเลขที่น้อยแต่ตัวเลขนี้เทียบจากมหาสมุทรทั่วทั้งโลกซึ่งหากนำมาคิดเฉลี่ยแล้วนั่นหมายความว่าความเป็นกรดของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นถึง 30% สูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
ความเป็นกรดที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศน์ได้ทะเลเป็นอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สัตว์จำพวกหอย ปะการัง ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการดูดคาร์บอเนตที่อะไรอยู่ภายในน้ำมหาสมุทรมาสร้างเปลือกแต่เมื่อความเป็นกรดมากขึ้นคาร์บอเนตไอออนในมหาสมุทรก็ลดลงส่งผลให้เปลือกของพวกมันมีความเบาบางลงจากเดิมถึง 25% หากเรายังปล่อยคาร์บอนในอัตรานี้เรื่อย ๆ ภายในปี 2100 ค่า pH จะเหลือ 7.8 และหากถ้าระดับนั้นหอยจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 45 วัน
ยังมีปัญหาอื่นๆอีกมากมายที่จะตามหลังจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
เชื้อโรคที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ เมื่อน้ำแข็งละลาย มันจึงกำลังกลับมา
ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้พืชบางชนิดไม่สามารถโตได้ ยกตัวอย่างเช่น โกโก้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ไปในอีก 30 ปีหลังจากนี้
สรุปปัญหาหลักในอนาคตที่จะเกิดขึ้นมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ
การขาดแคลนที่อยู่อาศัย และ อาหาร
ซึ่งจะนำเราไปสู่ "ยุคแห่งการสูญพันธ์ุครั้งที่ 6" มนุษย์เป็นคนเร่งให้เกิดเร็วขึ้น
คำถาม : คุณคิดว่าอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกจะเป็นเช่นไร
ประการที่สอง : การรักษาระดับประชากรให้เหมาะสมกับจำนวนทรัพยากร
องค์กรสหประชาชาติ UN คาดการณ์ว่าในปี 2050 โลกอาจมีประชากรถึง 9,700 ล้านคน หรืออีก 30 ปีข้างหน้า อาจมากถึง 11,000 ล้านคนในช่วงปลายปี
ปัจจุบันโลกมีประชากรอยู่ประมาณ 7,700 ล้านคน
อันดับ 1 จีน 1,400 ล้านคน
อันดับ 2 อินเดีย 1,300 ล้านคน
เราคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีมากที่สุดบนโลก แต่เมื่อคนเยอะ ทรัพยากรต้องถูกใช้เยอะขึ้น แดกเยอะขึ้น เกิดเยอะ แต่ตายน้อยลง
หนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นคือ ทรัพยากรจะเพียงพอต่อคนบนโลกในอนาคตหรือไม่
หากมนุษย์คนหนึ่งจะอยู่รอดได้สิ่งสำคัญที่สุดคงเป็น ที่อยู่กับอาหาร
แล้วสถานการณ์ในปัจจุบันอาหารเพียงพอหรือไม่
ก่อนอื่นเราลองมาย้อนดูบางอย่างกันสักนิด
รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตออกมากลายเป็นขยะอาหารมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี
ซึ่งหากนับเป็นมูลค่าเงินแล้วนั้นหมายความว่า เราได้สูญเสียเงินว่า 1 ล้านล้านเหรียญ หรือ ราวๆ 30 ล้านล้านบาทในแต่ละปี
อาหารเหล่านี้ถูกทิ้งเพียงเพราะว่า "สภาพไม่ดี" ไม่สามารถขึ้นชั้นวางได้ ไม่สวยงามจึงถูกคัดทิ้ง ก็หมายความว่า ผักหรือผลไม้ถูกปลูกมาเพื่อทิ้ง!
แต่กว่าจะได้มาซึ่งอาหารเหล่านี้เราต้องสูญเสียน้ำ ที่ดิน แรงงานของคนในการทำ เชื้อเพลิงของเครื่องจักร แร่ธาตุในดิน หากตีว่าผัก 1 แปลงใช้น้ำตลอดระยะเวลาการปลูก 200 ลิตร คนเราเฉลี่ยกินน้ำวันละ 2 ลิตรเท่ากับ เราสูญเสียน้ำที่นำมาใช้ดื่มไปทั้งสิ้น 100 วัน
ขณะที่ทั่วโลกในตอนนี้กว่า 870 ล้านคนกำลังเผชิญปัญหาปากท้อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรืออาหาร ฟังดูน่าเหลือเชื่อสำหรับคนที่อยู่ดีกินดี ไม่ขาดแคลนอาหาร อย่างเรา
ในขณะที่เรามีกินเหลือเฟือ แต่ยังมีคนอีกมากที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด
ไปแต่ละวัน ที่ประเทศเฮติหนึ่งในประเทศที่ยากคนที่สุดในโลก มีสถาพอากาศร้อน ปลูกอะไรไม่ขึ้น ขาดแคลนแหล่งน้ำ ขาดอาหารต้องนำเข้าอาหารซึ่งมีราคาแพงจากภาษีน้ำมัน สงครามการค้าที่ประเทศยักษ์ใหญ่สู้รบกัน แต่คนในเฮติต้องกิน "ดิน" เพื่อประทังชีวิต
นอกจากอาหารจะกลายเป็นขยะแล้ว ประชากรบนโลกยังมีความต้องการในการบริโภคมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากยุคก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “เนื้อสัตว์” แต่ความต้องการในการบริโภคผักผลไม้กลับมีจำนวนน้อยลง ลองคิดดูว่าคุณบริโภคเนื้อสัตว์มากแค่ไหน ซูชิ ไก่ทอด บุฟเฟ่ต์เนื้อ ปิ้งย่าง หมูปิ้ง ไก่ปิ้ง สารพัดอาหาร แล้วคุณบริโภคผักมากแค่ไหนกัน แล้วคนทั้งโลกจะกินเนื้อกันขนาดไหน
การบริโภคเนื้อที่มากขึ้นทำให้เราต้องใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์ที่มากขึ้น เมื่อสัตว์มีปริมาณมากขึ้น ผลักดันให้เราต้องขยายพื้นที่เพื่อให้คนมีที่อยู่มากขึ้น ขยายพื้นที่เพื่อให้ทำการผลิตได้มากขึ้น
ซึ่งจะนำเราไปสู่ " การบุกรุกผืนป่า"
คำถามเดิม : คุณคิดว่าอาหารในโลกอนาคตจะเพียงพอหรือไม่
ประการที่สาม รักษาผืนป่า
ป่ามีต้นไม้ ต้นไม้คือปอดของโลกที่คอยฟอกอากาศเสีย
ให้เป็นอากาศดี ต้นไม้ 1 ต้นดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
ได้มากถึง 20 กิโลกรัมต่อปี
พื้นที่ป่าของโลก
ตั้งแต่ปี 1990 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าพื้นที่ของทวีปแอฟริกาใต้ หรือทุกๆ 1 ชั่วโมง พื้นที่ป่าจะหายไปขนาดเท่าสนามฟุตบอลไซส์มาตรฐาน (7,140 ตารางเมตร) หรือ จำนวน 800 สนาม/ชั่วโมง
สรุปคือ ทุก 1 ปี เราสูญเสียป่าเท่ากับขนาดประเทศอังกฤษ
พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เปลี่ยนเป็นบ้านพักรีสอร์ทให้แก่นายทุน ถูกตัดผ่านเป็นถนนเพื่อเข้าไปทำเหมืองแร่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ถูกเปลี่ยนเป็นป่าปลูก อย่างปาล์ม ถั่วเหลือง ไร่ข้าวโพด ข้าวสาลี
ไร่ข้าวโพดที่เมียนมาร์
โลกมี น้ำ 3 ส่วน ดิน 1 ส่วน และ 1 ส่วนของดินนั้น ประมาณ 25% หมดกับการเพาะปลูก75% หมดไปกับการทำปศุสัตว์ และการเพาะปลูกนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่การเพาะปลูกให้แก่คนแต่เป็นการเพาะปลูกเพื่อไปเลี้ยงสัตว์
เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ป่าอะเมซอนที่ได้ชื่อว่าเป็น"ปอดของโลก" มีอัตราการตัดไม้เพิ่มขึ้นถึง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
หากอัตราการตัดไม้ยังไปด้วยความเร็วเท่านี้ไม่เกิน 100 ปี ป่าอะเมซอนจะไม่เหลือ ระบบนิเวศน์ที่ใหญ่ที่สุด ความหลากหลายที่มากที่สุด ปอดของโลกจะพังลง
** ยังไม่ได้นับพื้นที่ป่าที่เสียไปจากเหตุการณ์ไฟไหม้ทั่วโลก ตั้งแต่อะเมซอน ออสเตรเลีย รัสเซีย เชียงใหม่ ภูกระดึง
ผลพวงทั้งหลายจะนำเราย้อนกลับไปสู่ประการแรกคือ CO2 เพิ่มขึ้นเพราะป่าหาย และรู้หรือไม่ว่า สัตว์เองก็เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซมีเทน จากตดวัว สรุปทั้งหมดทุกการกระทำ
จะนำเราไปสู่ " ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น"
คำถาม : คุณคิดว่าในอนาคตป่าจะเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลง ?
วิทยาศาสตร์คือการพิสูจน์ ตัวเลขคือสถิติในคณิตศาสตร์
สถิติคือแนวโน้ม ที่บอกถึงความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นและตัวเลขไม่เคยโกหก มีตัวเลขออกมาอย่างมากมาย
กว่า 50 ปีของวันคุ้มครองโลกที่ถูกจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อม
กว่า 30 ปีในประเทศไทยที่คุณสืบ ยอมแลกชีวิตเพื่อปลุกคนทั้งหลาย
ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มากมายเกินกว่าจะพูดทั้งหมดได้ เพราะสิ่งแวดล้อมคือทุกอย่าง มนุษย์เองก็คือส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ปัญหานี้คือปัญหาระดับโลก เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งคุณและผมก็เป็นคนทำให้โลกร้อน
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เคยลดลง ทุกกิจกรรมของมนุษย์ไม่เคยหยุด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้หยุดได้ก็คือโรคระบาด แต่เราไม่ได้จะเชิดชูโรคระบาดว่าเป็นฮีโร่หรือพระเอก เพราะโรคระบาดก็ยังสร้างผลร้ายอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริง โรคระบาดนี้เกิดขึ้นมาเพราะอะไร
New moral สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการ distrup ของธุรกิจ เศรษฐกิจชะลอ
ตัว เทคโนโลยีกำลังก้าวไกล สิ่งนั้นคือ .....
"การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน"
ตอนนี้เป็นจุดกลับตัวที่ทุกคนควรหันกลับมาช่วยกัน ไม่ต้องโทษใครว่าทำให้โลกร้อน เพราะโทษกันไปโทษกันมา ไม่มีใครลงมือทำเสียที
ไอเดียสิ่งแวดล้อม สิ่งประดิษฐ์รักษ์โลก วิธีรักโลก พฤติกรรมที่ช่วยโลก ทุกอย่างมีหมดแล้วบนสิ่งที่เรียกว่า "อินเตอร์เน็ต" เหลือเพียงอย่างเดียวคือการ "ลงมือทำ"
ถ้าหากนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่โลกให้เราไว้ คุณจะคว้ามันไว้หรือเปล่า??
คำถามในตอนแรกเราดูแลโลกดีแค่ไหน
ตอบ : ดีเรือ(Ship)หาย เลยครับ
ข้อคิดจากคนเข้าป่า : มันยากเหลือเกินที่ธรรมชาติจะปรับตัวเข้าหาเรา แต่มันง่ายเพียงนิดเดียวหากเราปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ
เรียบเรียงโดย : เรื่องเล่าคนเข้าป่า
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะครับ มาร่วมเปลี่ยนโลกไปพร้อม ๆ กัน เรารู้ทุกอย่างแล้วเหลือเพียงอย่างเดียว "ลงมือทำ"
เริ่มที่เราเริ่มที่คุณ ลด ละ เลิก
22 / 04 / 2563 วันคุ้มครองโลก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา