21 เม.ย. 2020 เวลา 08:29 • ประวัติศาสตร์
#พลิกปูมตำนานโทรศัพท์สายแรกของเกาหลี
#จากวังหลวงถึงราชินีผู้ล่วงลับ
Cr. Korea Times
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าว Korea Times ได้นำเสนอบทความน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระบบโทรศัพท์ที่มีครั้งแรกในคาบสมุทรเกาหลี พร้อมกับตำนานความรักขององค์จักรพรรดิเกาหลี ที่มีต่อพระราชินีอันเป็นที่รัก ที่ถึงกับรับสั่งให้โยงสายโทรศัพท์จากวังหลวง ถึงสุสานฝังพระศพของราชินี ด้วยความหวังว่าสักวัน จะได้ยินเสียงจากปลายสายของจอมนางอันเป็นที่รักยิ่ง ที่ล่วงลับไปแล้ว
เรื่องเล่าในตำนานนี้ มีในบันทึกของ Henry A. Savage-Landor นักสำรวจชาวอังกฤษ ที่ได้เดินทางเข้าไปในเกาหลี และได้บันทึกเรื่องราวที่มีการเล่าสู่กันฟังในสังคมพ่อค้าชาวต่างชาติว่า ชาวเกาหลีรู้จักการมีอยู่ของโทรศัพท์ตั้งแต่ปี 1890 ที่ในตอนนั้นเกาหลียังเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแบ่งเหนือ-ใต้ ตรงกับช่วงยุคปลายราชวงศ์โชซ็อน ที่เป็นราชวงศ์สุดท้ายของเกาหลี
Henry บันทึกว่า มีอยู่วันหนึ่ง จักรพรรดิเรียกบริษัทโทรศัพท์ฝรั่งเข้าวัง แจ้งพระประสงค์ว่าต้องการติดตั้งสายโทรศัพท์ จากพระราชวัง ไปยังสุสานของพระราชินีผู้ล่วงลับ เพราะได้ข่าวว่าโทรศัพท์นี้สามารถพูดคุยกับใครก็ได้ที่อยู่ปลายสาย แม้จะห่างไกลเพียงใดก็ตาม โดยไม่เกี่ยงว่าจะต้องโยงสายโทรศัพท์ไปไกลแค่ไหน และต้องใช้งบประมาณมหาศาลเท่าใด ก็ต้องทำให้สำเร็จ
แต่ทว่า หลังจากที่เดินสายโทรศัพท์เสร็จแล้ว องค์จักรพรรดิก็เฝ้ารอแล้ว รอเล่า ก็ไม่มีเสียงใดๆ ตอบรับจากปลายสาย แม้แต่เสียงลมหายใจ จนพระจักรพรรดิทรงพิโรธหนัก รับสั่งว่า "ไอ้พวกฝรั่งมันต้องโกงข้าแน่ๆ"
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคำบอกเล่าของ Henry เป็นจริงหรือไม่ แต่ว่าตำนานความรักระหว่างจักรพรรดิแห่งเกาหลี และพระราชินีอันเป็นที่รักนั้น มีอยู่จริง
และหากเทียบดูจากประวัติการเดินสายโทรศัพท์ครั้งแรกในเกาหลี ก็จะตรงกับยุคสมัยของพระเจ้าโกจง และพระราชินีมย็องซ็อง หรือที่คนเกาหลีมักเรียกว่า ราชินีมิน
พระเจ้าโกจง Cr. Wikipedia
พระราชินีมิน เป็นหนึ่งในสุดยอดราชินีที่ทรงพระปรีชามากที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวเกาหลี ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาวิกฤติของเกาหลี
ตอนนั้น จีนพ่ายแพ้กองทัพญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ในช่วงปี 1895 ที่ทำให้ญี่ปุ่นในสิทธิ์เข้ามายึดครองคาบสมุทรเกาหลี
พระราชินีมิน Cr. SCMP
ช่วงเวลานั้น พระราชินีมิน ที่เป็นคนดูแลราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าโกจง เนื่องจากมีพระปรีชาสามารถที่เหนือกว่า ทั้งเชี่ยวชาญเรื่องราชการแผ่นดินและเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองอย่างลึกซึ้งยิ่ง พระราชินีมินจึงวางแผนสร้างสัมพันธ์กับรัสเซีย เพื่อคานอำนาจไม่ให้ญี่ปุ่นมายึดเกาหลีได้โดยง่าย
ญี่ปุ่นจึงมองพระราชินีมินเป็นดั่งนางจิ้งจอก ที่ขวางทางกองทัพญี่ปุ่นในการครอบครองคาบสมุทรเกาหลี
และในที่สุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ปี 1895 มิอุระ โกโร ฑูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีในสมัยนั้น ได้วางแผนปฏิบัติการล่าจิ้งจอก (Operation Fox Hunt) นำทหารบุกเข้าไปในพระราชวังเคียงบก และลอบปลงพระชนน์พระราชินีมินอย่างโหดเหี้ยม ด้วยการกระหน่ำแทงด้วยดาบ และลากพระศพของพระนางอย่างไร้เกียรติ เอาไปเผาทำลายในป่านอกพระราชวัง
1
ภาพวาดบรรยายเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์พระราชินีมิน Cr.http://ethlenn.blogspot.com/2011/08/assassination-of-empress-myeongseong.html?m=1
ส่วนพระเจ้าโกจงเองก็อยู่ในพระราชวังเคียงบก แต่ทรงทำอะไรไม่ได้เลย เพราะถูกทหารญี่ปุ่นคุมตัวไว้ ทำได้เพียงเสียพระทัยอยู่เงียบๆในห้อง และหลังการลอบปลงพระชนม์พระราชินีมินไม่นาน พระเจ้าโกจงก็ทิ้งวัง ลี้ภัยไปที่รัสเซียนานถึง 1 ปี
แต่ในที่สุดพระเจ้าโกจงก็ต้องเสร็จกลับมาที่เกาหลี ช่วงปี 1898 และเลือกประทับที่พระราชวังท็อกซู ช่วงเวลานั้นมีการเดินสายโทรศัพท์ภายในพระราชวังเรียบร้อยแล้ว เพื่อสื่อสารกันภายในวัง และข้าราชการในสำนัก กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และยังมีการเดินสายยาวข้ามกรุงโซลไปยังเมืองอินชอนด้วย
การติดตัั้งสายโทรศัพท์ในเกาหลี เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปโดยพระเจ้าโกจง ที่เรียกว่า Gwangmu Reform เพื่อยกระดับประเทศ ป้องกันภัยคุกคามจากญี่ปุ่น และแน่นอนว่าการลงทุนเดินสายโทรศัพท์ในสมัยนั้น ต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงมีกฏหมายว่าด้วยเรื่องโทษของการทำลาย หรือตัดสายโทรศัพท์ ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษถึงตายทีเดียว
ถึงแม้การใช้โทรศัพท์คุยสายภายในวังหลวง และส่วนราชการ จะไม่ได้เป็นที่เปิดเผย แต่มีข้อมูลจากทางเกาหลี ที่ขอยกเรื่องราวนี้ให้เป็นการใช้โทรศัพท์สายแรกในเกาหลี ที่มีการจดบันทึกไว้
นั่นก็คือ เรื่องราวคดีลอบสังหาร พ่อค้าวาณิชชาวญี่ปุ่น โจสุเกะ ทสึจิดะ ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1896 หลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์พระราชินีมิน ทางญี่ปุุ่นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แสร้งทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น และไม่มีใครสามารถเอาผิดได้ จนมีนักศึกษาหนุ่มเลือดรักชาตินามว่า นายกิม คู รู้สึกเจ็บแค้นใจ และเข้าใจว่า นายโจสุเกะ คือหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการลอบปลงพระชนน์พระราชินีมิน นายกิม คู ถึงได้สังหารพ่อค้าญี่ปุ่นคนนี้เสีย
1
แต่สุดท้ายนายกิม คู ต้องโดนจับ เพราะทางกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นต้องการเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เขาถูกส่งตัวจำคุก รอโทษประหารชีวิต แต่พระเจ้าโกจง ได้โทรศัพท์ไปถึงศูนย์ราชการเมืองอินชอน สั่งให้ระงับโทษประหารนาย กิม คู เสีย แล้วส่งตัวกลับเข้าเรือนจำดังเดิม
แล้วหลังจากนั้นไม่นาน นายกิม คู สามารถแหกคุกหลบหนีออกมาได้ ที่ต่อมาเขากลายเป็นแกนนำสำคัญในขบวนการปลดแอกเกาหลีต่อต้านญี่ปุ่น จนในที่สุดก็ได้เป็นถึงประธานาธิบดีคนที่ 8 ของเกาหลี
1
นาย กิม คู Cr. Wikipedia
เรื่องราวของโทรศัพท์สายแรกในเกาหลี ยังไม่จบเพียงเท่านี้ มีบันทึกว่า กว่าคนเกาหลีธรรมดานอกวังจะมีโอกาสได้ใช้โทรศัพท์ ก็เข้าสู่ปี 1902 โดยบริษัทร่วมทุนของเกาหลี กับบริษัทต่างชาติ
1
ครั้งแรกที่มีการเปิดตัวบริการโทรศัพท์ให้กับประชาชน มีผู้มายื่นคำร้องขอเลขหมายเพียง 13 คน โทรได้ไกลสุดจากโซล ไปยังอินชอน ค่าโทรมีราคาแพงมาก คิดเป็นราคาเกือบเท่ากับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 1 วันเต็มๆ ต่อการโทร 1 ครั้ง ที่จำกัดเพียงครั้งละไม่เกิน 10 นาที และสามารถโทรได้เฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม ดังนั้น ผู้ที่ได้ครอบครองสายโทรศัพท์เกือบทั้งหมดเป็นพ่อค้าต่างชาติ
1
แต่ถึงจะสร้างประเทศให้ทันสมันแค่ไหน ก็ไม่อาจต้านทานภัยคุกคามจากจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ เมื่อรัสเซียมาแพ้สงครามให้กับญี่ปุ่น ในสงคราม รัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ในปี 1905 ทำให้ญี่ปุ่นยกทัพเข้ามายึดครองเกาหลีโดยสมบูรณ์ และได้บังคับให้พระเจ้าโกจงสละราชย์ให้แก่โอรสรัชทายาท คือพระเจ้าซุนจง ในปี 1907 และคุมขังพระเจ้าโกจงอยู่แต่ในพระราชวังท็อกซู
2
พระเจ้าโกจง และโอรสรัชทายาท Cr. Wikipedia
แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 3 ปี ในปี 1910 ญี่ปุ่นก็จัดการล้มล้างระบอบจักรพรรดิของเกาหลี ให้สิ้นสุดไปตลอดกาล และผนวกคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น
ส่วนพระเจ้าซุนจงถูกถอดจากตำแหน่งและคุมขังอยู่แต่ในพระราชวังชางด็อก แม้แต่งานพิธีศพของอดีตจักรพรรดิโกจง ที่เป็นพระบิดา ยังไปร่วมงานไม่ได้ ต้องแสดงความอาลัยถึงพระบิดาผ่านทางโทรศัพท์
1
พระราชวังท็อกซู ช่วง ปี 1900 Cr. Korea Times
นั่นคือเรื่องราวตำนานจุดกำเนิดโทรศัพท์สายแรกในเกาหลีใต้ ที่พอดีเกิดในช่วงเวลาหัวเลี้ยว หัวต่อแห่งประวัติศาสตร์ของชาติเกาหลี ที่ได้ฝากทั้งรอยแผล และความทรงจำถึงลูกหลานชาวโสมมาจนถึงปัจจุบัน
1
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ คนเกาหลีใต้จะไม่นิยมใช้โทรศัพท์บ้านกันแล้ว หากเทียบกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสื่อสารเป็นอันดับต้นๆของโลก และสายโทรศัพท์บ้าน อาจจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า แต่เรื่องราวระหว่างทาง ผ่านกาลเวลา จากต้นสาย สู่ปลายสาย ยังคงมีคุณค่า น่าค้นหาเสมอมา
โฆษณา