22 เม.ย. 2020 เวลา 01:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แพริโดเลีย (Pareidolia)
ปรากฏการณ์ที่ทำให้เรามองเห็นหน้าคนในสิ่งต่างๆ
คุณเคยเห็นสิ่งต่างๆเป็นหน้าคนบ้างไหม?
หลายคนอาจเคยเห็น ฝาท่อระบายน้ำ , คราบกาแฟบนเสื้อ , รอยเปื้อนบนกำแพง, หรือทรงของต้นไม้ ฯลฯ มีลักษณะคล้ายกับหน้าคน โดยจุดสองจุดเป็นดวงตาและมีเส้นใต้จุดเป็นปาก การเห็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติและไม่ได้เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อว่า แพริโดเลีย (Pareidolia)
แพริโดเลีย (Pareidolia) เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ โดยมนุษย์เราสามารถตีความรูปแบบที่ปรากฏในบางสิ่งแล้วเชื่อมโยงไปถึงอีกสิ่งหนึ่ง ทั้งที่จริงๆแล้วมันไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
ยกตัวอย่างเช่น การมองเห็นเห็นรอยบนดวงจันทร์เป็นรูปกระต่าย , การเห็นสภาพพื้นผิวในหลุมอุกกาบาตกัลเลอ (Galle Crater) บนดาวอังคารเป็นรูปหน้ายิ้ม , การจินตนาการก้อนเมฆเป็นสิ่งต่างๆ
1
บางครั้งรูปแบบเหล่านี้อาจกลายเป็นข่าวฮือฮาได้ เมื่อมีคนมองเห็นรูปแบบเหล่านี้แล้วตีความเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อต่าง จนก่อให้เกิดความตื่นตระหนกจนถึงวิตกกังวล ทั้งที่จริงๆแล้วสิ่งที่เห็นเป็นพลังแห่งการแปลผลของสมองมนุษย์เรา เช่น มองเห็นรอยไหม้บนขนมปังเป็นใบหน้าผู้นำศาสนา หรือ มองเห็นหน่อของต้นไม้มีลักษณะคล้ายกับพญานาค
ย้อนไปเกือบ 50 ปีก่อน ในปี ค.ศ. 1976 ยานไวกิ้ง1 (Viking 1) ขององค์การนาซาที่โคจรรอบดาวอังคาร เผยแพร่ภาพถ่ายบริเวณหนึ่งบนดาวอังคารชื่อไซโดเนีย ( Cydonia) ซึ่งในภาพจะเห็นว่ามีภูเขาลูกหนึ่งมีหน้าตาคล้ายหน้าคน ภาพถ่ายนี้โด่งดังเพราะมีการนำไปออกข่าวครึกโครม ถึงขั้นมีคนเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาบนดาวอังคาร!
แต่หลังจากนั้นองค์การนาซาส่งยานอวกาศ ชื่อ เอ็มอาร์โอ (Mars Reconnaissance Orbiter) ไปโคจรรอบดาวอังคาร โดยยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในปี ค.ศ. 2006 ระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารอยู่นั้นได้ถ่ายภาพไซโดเนียมาอีก แต่ในครั้งนี้ภูเขาลูกเดิมไม่ได้เหมือนหน้าคนอีกต่อไปแล้ว
เหตุใดภาพหน้าคนจึงหายไป?
คำตอบคือภาพถ่ายที่เห็นเป็นหน้าคนจากยานยานไวกิ้ง1 นั้นเกิดจากแสงเงาและมุมที่เหมาะสม ประกอบกับกล้องยังมีความละเอียดต่ำเมื่อเทียบกับกล้องของยานอวกาศยุคใหม่ ทำให้มนุษย์เราตีความว่าเป็นหน้าคนนั่นเอง
ดังนั้นหากเราได้ข่าวมีการนำเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ ลางบอกเหตุ มาผูกโยงกับรูปแบบที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ จึงควรตั้งสติให้ดีแล้วบอกตัวเองว่ามันเป็นปรากฏการณ์แพริโดเลีย เพราะหากไม่ตั้งสติให้ดี เราอาจหลงเชื่อข่าวปลอมต่างๆ และในบางกรณี การตีความเชื่อมโยงอย่างผิดๆยังอาจทำให้เราเผลอคิดไปเองฝ่ายเดียวจนเสียน้ำตาได้ด้วย
สนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โฆษณา