22 เม.ย. 2020 เวลา 04:49 • กีฬา
- ฟุตบอล กับ โลกธุรกิจ -
ปัจจุบันคำว่า “Sport Entertainment หรือ ความบันเทิงในรูปแบบกีฬา” ได้ถูกเอามาใช้ในหลายชนิดกีฬา รวมไปถึงกีฬาฟุตบอลด้วย เมื่อกีฬาถูกนำเสนอในรูปแบบความบันเทิง มันก็ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้เข้ามาติดตาม จนกลายเป็นแหล่งทำเงินให้แก่นักธุรกิจที่เห็นช่องทาง
บทความนี้ผมอยากจะพาทุกคนมารู้จัก “ธุรกิจฟุตบอล” ให้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่ามันจะทำให้เราดูบอลได้สนุกขึ้น เข้าใจเรื่องราว ข่าวคราวนอกสนามมากขึ้น โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับเจ้าของทีมและทีมบริหารที่มักจะมีประเด็นทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
- ธุรกิจฟุตบอล -
“ฟุตบอล” กีฬาเพื่อสุขภาพที่กลุ่มชนชั้นแรงงานนัดเตะลับฝีเท้ากันหลังเลิกงาน รูปแบบการแข่งขันได้ถูกพัฒนาให้มีความจริงจังมากขึ้น จนการเตะฟุตบอลมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ นักฟุตบอลกลายเป็นอาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัวได้ โดยมีสโมสรต้นสังกัดเป็นผู้จ่ายค่าเหนื่อย
สโมสรมีภาระที่ต้องรับผิดชอบนักฟุตบอลหลายสิบชีวิต สโมสรก็จำเป็นต้องหารายได้เข้ามาจุนเจือค่าใช้จ่ายดังกล่าว ฟุตบอลจึงไม่ใช่แค่กีฬาที่แข่งกันเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ต้องเป็นกีฬาที่สร้างเม็ดเงินเข้าสโมสรด้วย คำว่า “ธุรกิจฟุตบอล” จึงเกิดขึ้น
พอคุยเรื่องธุรกิจก็ต้องพูดถึงรายรับ - รายจ่าย เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้สโมสรฟุตบอลไปต่อได้ รายรับ - รายจ่ายของสโมสรฟุตบอลมีอะไรบ้าง อะไรเป็นส่วนสำคัญเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ของทีม วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังครับ
- สโมสรฟุตบอลหารายได้ยังไง -
เป็นที่รู้กันว่า ทุกสัปดาห์ในช่วงเปิดฤดูกาลจะมีแฟนบอลจำนวนมาก ยอมเสียเงินค่าตั๋วเข้าไปเชียร์ทีมรักในสนาม ก่อนเข้าสนามก็ซื้อเสื้อสักตัว ผ้าพันคอสักผืน จากนั้นก็เข้าสนามเพลิดเพลินกับเกมส์ฟุตบอล มือซ้ายอาจถือโค้กสักกระป๋อง มือขวาก็กำแซนวิชสักชิ้น หลังจบเกมส์ก็ซื้อของที่ระลึกสักชิ้นก่อนกลับบ้าน
สำหรับแฟนบอลที่ยังไม่มีโอกาสไปชมเกมส์ในสนาม ก็ต้องยอมซื้อแพ็กเกจทีวีที่มีถ่ายทอดสดจากสนามแข่ง จะเห็นว่าไม่ว่าเราจะเข้าชมในสนามหรือดูบอลที่บ้าน แฟนบอลก็จะต้องยอมควักกระเป๋า เพื่อให้ได้ติดตามทีมรักในทุกสัปดาห์
เงินทองที่เหล่าแฟนบอลยอมจ่าย ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทางกาย แต่มันก็ถือเป็นรายจ่ายประจำทางใจที่หล่อเลี้ยงให้ใจของเราพองโตอยู่เสมอ และรายจ่ายของเรานี้เอง ถือเป็นแหล่งรายได้ส่วนหนึ่งของสโมสร
ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลทั่วโลกมีรายได้หลักจากหลากหลายช่องทาง โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
1.รายได้จากสนาม (Matchday)
วันใดก็ตามที่สโมสรเป็นทีมเหย้าเฝ้าสนาม สโมสรจะมีรายได้จากการขายตั๋วให้เข้าชมในสนาม ซึ่งรายได้ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความจุของสนาม ราคาตั๋วเข้าชม จำนวนแมทช์ที่เป็นเจ้าบ้าน และผลงานของทีมในบอลถ้วย หากเข้ารอบลึก ๆ ก็มีโอกาสได้เล่นเกมส์ในบ้านเยอะขึ้น
นอกจากนี้ Matchday ยังรวมรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มที่ขายในบริเวณสนาม ค่าทัวร์สนาม (หากสโมสรมีให้บริการ) ส่วนแบ่งจากค่าตั๋วจากแมทช์การไปเยือนในบอลถ้วยในประเทศ เช่น FA cup ในอังกฤษ โกปาเดลเรย์ ของสเปน ฯลฯ รายได้จากจัดอีเว้นท์ในสนาม เช่น คอนเสิร์ต การแข่งกีฬาอื่นที่ขอเช่าสนาม ฯลฯ และรายได้จากค่าสมัครสมาชิกประจำปีของสโมสร
2.ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด (Broadcasting)
เป็นส่วนแบ่งรายได้จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั้งบอลยุโรปจาก UEFA และในลีก ในที่นี้ผมจะขอยกตัวอย่างพรีเมียร์ลีก เนื่องจากเป็นหนึ่งในลีกที่ขึ้นชื่อว่าสามารถแบ่งสัดส่วนรายได้ได้อย่างยุติธรรม
- ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีก จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ
1.รายได้ค่าลิขสิทธิ์ที่ขายได้ในอังกฤษ เช่น พรีเมียร์ลีกขายสิทธิการถ่ายทอดสดให้กับสถานีโทรทัศน์ Sky และ BT
รายได้ที่พรีเมียร์ลีกได้รับมาจะถูกแบ่งให้กับ 20 สโมสรในลีคและสโมสรที่ตกชั้นใน 4 ฤดูกาลก่อนหน้า (รวมเป็น 28 สโมสร) อีกส่วนหนึ่งจะบริจาคให้หน่วยงานที่พัฒนาด้านกีฬาฟุตบอลหรือหน่วยงานอื่นที่เหมาะสม
สำหรับส่วนแบ่งที่แต่ละสโมสรได้รับจะขึ้นอยู่กับอันดับในตารางพรีเมียร์ลีก และจำนวนแมทช์ที่มีการถ่ายทอดสด ซึ่งทีมใหญ่จะได้เปรียบเล็กน้อยจากฐานแฟนบอลที่มากกว่า ทำให้จำนวนนัดที่ถ่ายทอดสดย่อมมีมากกว่า
2.กรณีเป็นค่าลิขสิทธิ์ที่ขายไปยังประเทศอื่น ทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกและสโมสรที่ตกชั้นใน 4 ฤดูกาลก่อนหน้า จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากันทุกทีม ถือเป็นการแบ่งเค้กให้ทั่วถึงและกระจายโอกาสให้ทีมรองบ่อน
การจัดสรรส่วนแบ่งให้ทีมที่ตกชั้น ถือเป็นกลไกที่ช่วยพยุงฐานะการเงินของสโมสรที่ตกชั้น เนื่องจากสโมสรอาจจะยอมจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะที่แพง เพื่อรั้งตัวนักเตะระดับท๊อปของทีมเอาไว้ช่วยต่อสู้ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก
แต่เมื่อผลงานไม่เป็นที่คาดหวังจนทีมต้องตกชั้น รายได้ของสโมสรจะลดลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินของสโมสร การได้รับส่วนแบ่งรายได้จากพรีเมียร์ลีค จึงเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้สโมสรปรับลดภาระค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ที่ลดลงก่อน เพื่อป้องกันการล้มละลาย
- ส่วนแบ่งรายได้จาก UEFA [ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนลีก: UCL และยูโรป้า ลีก: UEL]
ส่วนแบ่งจากการแข่งขันบอลยุโรปจะเป็นส่วนแบ่งรายได้แบบคงที่ (fixed amount) สำหรับทีมที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันบอลยุโรป และจะได้ส่วนแบ่งมากขึ้นตามผลการแข่งขันของแต่ละทีม โดยในฤดูกาล 2018-2019 มีส่วนแบ่ง (หน่วย : ล้านยูโร) ตามนี้ครับ
ยูฟ่าฯ (UCL) ยูโรป้า (UEL)
เข้ารอบแบ่งกลุ่ม 15.25 2.92
(UCL 32 ทีม, UEL 48 ทีม)
ชนะในรอบแบ่งกลุ่ม 2.70 0.57
เสมอในรอบแบ่งกลุ่ม 0.90 0.19
ได้ที่ 2 ของกลุ่ม n.a. 0.50
ได้แชมป์กลุ่ม n.a. 1.00
ผ่านเข้ารอบ 32 ทีม n.a. 0.50
ผ่านเข้ารอบ 16 ทีม 9.50 1.10
ผ่านเข้ารอบ 8 ทีม 10.50 1.50
ผ่านเข้ารอบ 4 ทีม 12.00 2.40
รองชนะเลิศ 15.00 4.50
ชนะเลิศ 19.00 8.50
รวมส่วนแบ่งสูงสุด 82.45 21.34
จะเห็นว่าส่วนแบ่งที่แชมป์ได้รับจากการแข่งขันรายการยูโรป้า ลีก น้อยกว่าผู้ครองถ้วยยูฟ่า แชมป์เปี้ยนลีก ถึง 4 เท่า อีกทั้งผู้ชนะของทั้ง 2 รายการ จะได้เข้าแข่งขัน UEFA Super Cup ทั้ง 2 สโมสรจะได้รับเงินค่าเข้าร่วมการแข่งขันและผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลอีกก้อนหนึ่ง
UEFA ยังมีส่วนแบ่งอีกจำนวนหนึ่งเรียกว่า “Market pool” ผมขอเรียกว่า “ค่าการตลาด” ให้แก่ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันบอลยุโรป โดยส่วนแบ่งจะขึ้นอยู่กับรายการแข่งขันว่าเป็น UCL หรือ UEL และค่าสัมประสิทธิ์ยูฟ่า โดยการแข่งขันรายการ UCL จะมีเงินส่วนแบ่งมากกว่า
อย่างเช่นในฤดูกาล 2019-2020 เงินรางวัลจากค่าการตลาดรวมของรายการ UCL เท่ากับ 877 ล้านยูโร ในขณะที่รายการ UEL มีเงินรายวัลรวมเพียง 252 ล้านยูโร
เงินรางวัลจากการแข่งขันรายการอื่น เช่น บอลถ้วยในประเทศ ก็รวมเป็นรายได้จาก Braodcasting ด้วย
นอกจากนี้ Broadcasting นับรวมรายได้จากมีเดียอื่น (Media) เช่น website แอพพลิเคชั่นของสโมสร รายการโทรทัศน์ของสโมสร (MUTV LFCTV Chelsea TV)
3.รายได้จากการพาณิชย์ (Commercial)
นับรวมรายรับจากการขายสินค้าของสโมสร (ขายเสื้อ กระเป๋า ผ้าพัดคอ แก้วน้ำ ฯลฯ) ขายสิทธิในตราสัญลักษณ์สโมสร (ผู้ผลิตเจ้าอื่นขอใช้ตราสโมสร) และสปอนเซอร์
ในส่วนของรายได้จากสปอนเซอร์ (Sponser) นับรวมค่าลิขสิทธิ์จากตราสโมสร ลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์ของนักเตะและผู้จัดการทีม การโฆษณาทั้งใน Website Application ป้ายในสนาม และ Backdrop ในช่วงทีมนักเตะ/ผู้จัดการทีมให้สัมภาษณ์
ไม่เพียงเท่านั้น สโมสรยังได้รับเม็ดเงินก้อนใหญ่จากเหล่า Sponser ที่เข้ามาสนับสนุนชุดแข่ง - ชุดซ้อมของสโมสร รวมไปถึงพื้นที่โฆษณาบนหน้าอกเสื้อและแขนเสื้อ
- รายจ่ายของทีมมีอะไรบ้าง -
เมื่อพูดถึงรายได้ ก็ต้องคุยเรื่องรายจ่าย ในส่วนนี้จะพูดถึงรายจ่ายหลัก ๆ ของสโมสร นะครับ
ในส่วนนี้จะเป็นรายจ่ายประจำของสโมสรนะครับ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเดินทาง ฯลฯ
ค่าใช้จ่ายส่วนที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของสโมสรฟุตบอล คือ “ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับพนักงาน” พนักงานในที่นี้รวมทั้งนักฟุตบอล สต๊าฟโค้ช และพนักงานในส่วนอื่น
โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานรวม จะคิดเป็น 40 - 60% ของรายได้รวมของสโมสร ซึ่งในส่วนนี้ค่าเหนื่อยนักเตะ จะเป็นภาระที่หนักที่สุดของสโมสร สัดส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะสูงหรือต่ำกว่ากรอบ (40% - 60%) ได้ครับ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารรายได้รายจ่ายของผู้บริหาร
นักฟุตบอลอาชีพนอกจากจะได้รับค่าเหนื่อย (Salary) จากสโมสรแล้ว ในสัญญาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโบนัส ซึ่งโบนัสมักจะสัมพันธ์กับผลงานของนักเตะ และสามารถเพิ่มเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมในสัญญาได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจากับนักเตะแต่ละคน
โบนัสที่นักเตะได้รับอาจขึ้นอยู่กับจำนวนแมทช์ที่ลงสนาม จำนวนประตูที่ทำได้ (สำหรับกองหน้า) จำนวนแมทช์ที่ไม่เสียประตู (สำหรับกองหลัง) เงินก้อนจากการคว้าแชมป์ ค่าเหนื่อยที่จะเพิ่มขึ้นหากได้เลื่อนชั้นหรือได้แชมป์
สำหรับรายจ่ายในส่วนอื่น นับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนน้อย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันต่างเมือง ค่าใช้จ่ายในร้านค้าของสโมสร ค่าใช้จ่ายในการสร้าง Media ต่าง ๆ ของทีม
มาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ น่าจะพอเห็นภาพคราว ๆ ของรายได้ - รายจ่ายของสโมสรฟุตบอล แล้วนะครับ
รายได้ของสโมสรมาจากแฟนบอลที่ยอมจ่ายเงินเข้ามาดูนักฟุตบอลในสนาม และ Sponser ต่าง ๆ ที่พร้อมจ่ายเงินให้สโมสร ก็เพื่อหวังจะเข้าถึงลูกค้าที่เป็นแฟนบอลของทีมนั้น ๆ
สิ่งที่สโมสรจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างรายได้ คือ สนามฟุตบอลและนักฟุตบอล ดังนั้น สโมสรจึงจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อลงทุนในสองสิ่งดังกล่าว
- เงินลงทุน -
“เงินลงทุน” จะเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมากในช่วงปิดฤดูกาลและช่วงตลาดซื้อขายกลางฤดูกาล
เงินลงทุน จะมี 2 ส่วนหลัก คือ เงินลงทุนที่จ่ายเพื่อสร้างหรือปรับปรุงสนาม อาคาร อุปกรณ์ต่าง ๆ และเงินซื้อตัวนักเตะ
** เพิ่มเติม: เงินลงทุนจะไม่นับรวมกับรายจ่ายของสโมสรในส่วนก่อนหน้านี้นะครับ เพราะเงินลงทุนไม่ใช่รายจ่ายประจำ สโมสรจะลงทุนเพิ่มหรือไม่ลงทุนก็ได้ **
โดยปกติก่อสร้างสนามใหม่จะเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง แต่หากเกิดขึ้นสโมสรจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่
ส่วนการต่อเติมสนามจะรวมไปถึงการซ่อมแซมของเดิม ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ปรับปรุงสนามซ้อม สโมสรมักต้องจ่ายลงทุนในส่วนนี้ทุกปี แต่ยอดเงินจะไม่สูงนัก
สำหรับเงินค่าซื้อตัวนักเตะ ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายการซื้อตัวของสโมสร บางสโมสรเน้นซื้อตัวดัง ก็จ่ายแพงหน่อย (เงินลงทุนติดลบเยอะหน่อย) สโมสรไหนซื้อตัวนอกกระแส ก็จ่ายถูกหน่อย (เงินลงทุนติดลบน้อย) บางทีมเน้นปั้นเยาวชนแล้วขาย (เงินลงทุนเป็นบวก)
ดังนั้น ค่าตัวนักเตะ จะนับเป็นเงินลงทุน (จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้) ส่วนค่าเหนื่อยและโบนัส จะเป็นรายจ่าย (เมื่อซื้อแล้วต้องจ่ายค่าจ้างต่อเนื่อง ถือเป็นค่าใช้จ่ายประจำ) หากยืมตัวนักเตะจากสโมสรอื่นก็จะไม่เสียเงินลงทุน แต่จะเสียค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากสโมสรต้องการจ่ายลงทุนซื้อตัวนักเตะใหม่ เพื่อยกระดับทีมให้ทำผลงานได้ดีขึ้น หรือสโมสรต้องการสร้างสนามแห่งใหม่ เพื่อดึงดูดแฟนบอลให้มากขึ้น แต่สโมสรไม่มีเงินทุนหรือมีเงินไม่พอ ก็หลีกหนีไม่ได้ที่สโมสรจะหันหน้าไปพึ่ง “เงินกู้”
- หนี้สิน -
การ ”กู้เงิน” ของทีม นำมาซึ่งภาระ “หนี้สิน” ที่เพิ่มขึ้นของสโมสร ถือเป็นการนำเงินมาก่อน และค่อยหาเงินมาผ่อนจ่ายในภายหลัง
เงินที่สโมสรจะนำมาจ่ายคืนก็มาจากรายได้ของสโมสร ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับภาระการจ่ายคืนหนี้สินเดิมและการก่อหนี้ก้อนใหม่ด้วย
เงินกู้ของสโมสร มักจะกู้มาเพื่อสร้างสนามใหม่ หรือซื้อนักเตะใหม่ (อาจกู้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้) ผมจะขอพูดถึงสองกรณีนี้เป็นหลักครับ
ในการสร้างสนามใหม่ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง น่าจะต้องกู้เงินเยอะ ทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนสูง ใช้เวลาผ่อนนานกว่าหนี้จะหมด ซึ่งในระหว่างก่อสร้างสนาม สโมสรยังไม่มีรายได้จากสนามใหม่ แต่มีดอกเบี้ยจ่ายเกิดขึ้นจากเงินกู้แล้ว สโมสรจึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด และไม่ก่อหนี้เพิ่มเพื่อลดภาระทางการเงินของสโมสร
ดังนั้น จะเห็นว่าสโมสรที่กำลังสร้างสนามใหม่ จะไม่ค่อยลงทุนซื้อนักเตะมากนักและยังพยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นด้วย
กรณีกู้เงินซื้อนักเตะ เพื่อยกระดับทีม หากสิ้นฤดูกาลสโมสรทำผลงานได้ตามเป้าหมาย เช่น คว้าแชมป์ หรือได้ไปเล่น UCL สโมสรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจาก UEFA Sponser และอื่นๆ ทำให้สโมสรน่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้
แต่ถ้าสโมสรทำผลงานไม่เป็นไปตามเป้า ไม่ได้แชมป์หรือพลาด UCL ก็มีความเป็นไปได้ว่ารายได้ที่มีอยู่เดิม อาจจะไม่เพียงพอในการชำระหน้ี
คาดว่าสโมสรจะมีรายได้เท่าเดิม แต่มีรายจ่ายมากขึ้นจากค่าเหนื่อยนักเตะที่สูงขึ้น + ภาระผ่อนเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอีก ทำให้รายได้ที่มีอาจไม่พอรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยงทางการเงิน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ทีมลีดส์ ยูไนเต็ด
แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากกู้เงินมาแล้วสามารถหาเงินมาผ่อนได้ ก็อาจเป็นการยกระดับทีมภายในระยะเวลาอันสั้น และนี้แหละครับ คือ สิ่งที่ที่สำคัญที่สุดในการก่อหนี้ ตราบใดที่สโมสรหาเงินมาผ่อนหนี้ได้ทันเวลา ต่อให้ผลงานในสนามไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเท่าไรนัก (ในระยะสั้น)
- บทสรุป -
เมื่อมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้บริหารสโมสรต้องให้ความสำคัญกับตัวเลขกำไร (ขาดทุน) แต่ผลงานในสนามก็เป็นเรื่องที่ละทิ้งไม่ได้เช่นกัน
เพราะความสำเร็จในสนามกับรูปแบบการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาติดตามสโมสร นำรายได้เข้าสู่ทีมและสร้างความมั่นคงทางธุรกิจให้สโมสรได้ในระยะยาว
เรื่องที่ผมเขียนนี้เป็นเพียงเรื่องพื้นฐานทั่วไปของธุรกิจฟุตบอล แต่ก็หวังว่าจะทำให้ทุกคนพอเข้าใจธุรกิจฟุตบอลเพิ่มขึ้นนะครับ
ถ้าชอบเรื่องเล่านี้ Comment มาคุยกันครับ อย่าลืมกด Like กด Share เป็นกำลังใจสำหรับเรื่องเล่าเรื่องต่อไปด้วยนะครับ
- หวังว่าจะมีความสุขกับการอ่านนะครับ -
โฆษณา