22 เม.ย. 2020 เวลา 10:15 • ประวัติศาสตร์
โรคระบาดในประวัติศาสตร์สากลสู่ดินแดนไทย
ตอนที่ 3 : ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ โรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนทุกชนชั้น
ฝีดาษ (Smallpox) หรือ ไข้ทรพิษ นับเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีหลักฐานตรวจพบ มัมมี่ของฟาโรห์รามเสส ที่ 5 แห่งอียิปต์โบราณ ซึ่งสวรรคตด้วยโรคฝีดาษ เมื่อ 1,145 ปี ก่อนคริสตกาล
ภาพมัมมี่ของฟาโรห์รามเสส ที่ 5 แห่งอียิปต์ ที่พบรอยอาการของโรคฝีดาษบนพระศพอย่างชัดเจน
อาการของผู้ป่วยโรคนี้ มักมีอาการไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อแขนขา อาเจียน ชัก หมดสติ และอาจมีผื่นแดงเกิดขึ้นบริเวณแขนหรือขา ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ซึ่งได้ระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เช่น ในจีน ในช่วงศตวรรษที่ 1 และแพร่ต่อไปยัง ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6 และในยุโรป ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 จนถึงการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก ใน ศตวรรษที่ 16
ภาพวาดอาการของโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ที่ปรากฎทางผิวหนัง
ภาพถ่ายอาการของโรคฝีดาษที่ปรากฏบนร่างกายผู้ป่วย
โดยการแพร่ของโรคฝีดาษในประวัติศาสตร์ไทยได้ปรากฎหลักฐานในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า มีพระมหากษัตริย์ทรงสวรรคตด้วยฝีดาษ คือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 11 ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงพระประชวรด้วยโรคไข้ทรพิษ และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2076
นอกจากนี้ยังพบว่า ใน พ.ศ. 2292 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการระบาดของโรคฝีดาษขึ้นทำให้มีคนตายจำนวนมาก
ฉากการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (ฉายปี พ.ศ.2544)
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1796 ( พ.ศ. 2339) เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษขึ้นและทำการทดลองใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ จนได้รับรองจากรัฐสภาอังกฤษ ใน พ.ศ. 2343 จนนำไปสู่การผลิตวัคซีนออกรักษาผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกา จนทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ลดลง
เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ กำลังใช้วิธีการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ
โดยวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2379 โดย หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ที่ใช้การปลูกฝีบำบัดโรคฝีดาษ และได้เขียนตำราชื่อ “ตำราปลูกฝีให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้” เพื่อป้องกันและเผยแพร่ความรู้ในการหยุดการระบาดของโรคฝีดาษที่กำลังระบาดอย่างหนักในสมัยรัชกาลที่ 3
แดเนียล บีช แบรดลีย์ หรือ หมอบรัดเลย์
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดําริว่า สยามสมควรที่จะทําวัคซีนปลูกฝีขึ้นใช้เอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่ง พระบำบัดสรรพโรค (นายแพทย์แฮนซ์ อดัมสัน) และ พันตรีหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (นายแพทย์อัทย์ หะสิตะเวช) เดินทางไปศึกษาวิชาการปลูกฝีที่ประเทศฟิลิปปินส์
พระบำบัดสรรพโรค (นายแพทย์แฮนซ์ อดัมสัน)
พระบำบัดสรรพโรค และ พันตรีหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ เดินทางไปศึกษาวิชาการปลูกฝีที่ประเทศฟิลิปปินส์( สวมหมวกสีอ่อน 2 ท่านด้านขวาของภาพ)
โดยหลังจากที่พระบำบัดสรรพโรคได้เดินทางกลับมาจากฟิลิปปินส์ ได้จัดตั้งคลินิกปลูกฝีขึ้นที่ถนนสี่กั๊กพระยาศรี เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2446 ก่อนที่จะย้ายไปที่ตําบลห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม และในปี พ.ศ.2456 ได้รวมเข้ากับปาสตุรสภา(Pasteur Institute) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานเสาวภา และสภากาชาดไทย ใน พ.ศ.2460
ปาสตุรสภา(Pasteur Institute) หรือ สถานเสาวภา ในปัจจุบัน คือ สภากาชาดไทย ใช้เป็นที่ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคต่างๆ
แม้จะมีการปลูกฝีแล้วแต่ไข้ทรพิษยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ทั้งนี้เพราะการปลูกฝียังไม่ทั่วถึง และการติดโรคตามชายแดนระหว่างประเทศมีอยู่เสมอ จึงระบาดมาประเทศไทย กับผู้ใหญ่ไม่ใคร่นิยมการปลูกฝี แต่ก็ไม่ใคร่รุนแรง
ฉากปลูกฝีของหมอทรัพย์ในละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง ซึ่งใช้หัวเมืองเหนือ ช่วง พ.ศ.2467 เป็นฉากดำเนินเรื่อง
จนกระทั้งในในปี พ.ศ. 2488 – 2489 ซึ่งเป็นช่วงการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการระบาดของฝีดาษครั้งใหญ่สุดเริ่มต้นจากเชลยพม่าที่ทหารญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่นํ้าแควป่วยเป็นไข้ทรพิษและแพร่ไปยังกลุ่มกรรมกรไทยจากภาคต่างๆที่มารับจ้างทํางานในแถบนั้น
เมื่อสงครามยุติ เมื่อเชลยเหล่านั้นแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาของตนก็ ได้นําโรคกลับไปแพร่ระบาดใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน และเสียชีวิต 15,621 คน
การระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2502 ทำให้มีผู้ป่วย 1,548 คน ตาย 272 คน และการระบาดครั้งสุดท้ายมีการบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีผู้ป่วย 34 ราย ตาย 5 ราย โดยรับเชื้อมาจากรัฐเชียงตุงของพม่า
การรณรงค์ปลูกฝีโดยกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงต้นพ.ศ.2500
การระบาดดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการกวาดล้างไข้ทรพิษหรือฝีดาษในประเทศไทย รณรงค์ปลูกฝีป้องกันโรค จนปีพ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกวาดล้างแล้วจึงหยุดการปลูกฝีป้องกันโรค และนับแต่นั้นมาไม่เคยปรากฏว่ามีฝีดาษเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกเลย
อ้างอิง
โฆษณา