22 เม.ย. 2020 เวลา 14:41 • ประวัติศาสตร์
[๑๐๐ ปีเวลาอัตราไทย: เมื่อคนไทยใช้เวลาเดียวกันทั่วประเทศ]
จริง ๆ ที่เขียนเรื่องนี้ คือรู้สึกอยากลองหาเรื่องเวลาอัตรา แล้วพบว่าปีนี้ ๒๕๖๓ เพิ่งจะครบรอบ ๑๐๐ ปีของการประกาศใช้เวลาอัตราในประเทศไทยพอดี ก็เลยต้องเขียน
ทุกวันนี้ คนทั้งโลกรู้จัก standard time เวลาอัตรา เวลาที่เป็นมาตรฐานอ้างอิงตรงกัน ประเทศส่วนใหญ่ใช้เวลาเดียว แต่บางประเทศที่กว้างมากจนเวลากลางวันกลางคืนระหว่างฝั่งตะวันตกกับตะวันออกห่างกันมาก ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ก็จะมีเวลาอัตราหลายเวลาตามแต่ละพื้นที่
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้านั้น การตั้งนาฬิกาใช้เวลาเฉลี่ยของแต่ละพื้นที่ local mean time ตั้งนาฬิกาที่กรุงเทพฯ ก็ใช้ local mean time กรุงเทพฯ ตั้งที่เชียงใหม่ ก็ใช้ local mean time เชียงใหม่ ซึ่งก็สมเหตุสมผลในแง่ที่ว่าเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นตกเฉลี่ย ก็จะอยู่ที่ ๖ และ ๑๘ นาฬิกา
แต่ปัญหามีอยู่แบบนี้ สมมติว่า ถ้าส่งโทรเลขจากอุบลราชธานีมาถึงกรุงเทพฯ local mean time อุบลฯ เร็วกว่าที่กรุงเทพฯ ๑๘ นาที แล้วเจ้าหน้าที่โทรเลขที่อุบลฯ นัดเจ้าหน้าที่ที่กรุงเทพฯ ให้รับโทรเลขตอน ๑๔ นาฬิกา
ถ้าเจ้าหน้าที่ที่อุบลฯ ใช้เวลา ๑๔ นาฬิกาที่อุบลฯ มันจะตรงกับเวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๒ นาทีที่กรุงเทพฯ
แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ที่อุบลฯ จะให้โทรเลขไปถึงกรุงเทพฯ ตอน ๑๔ นาฬิกาพอดี ก็ต้องส่งโทรเลขตอน ๑๔ นาฬิกา ๑๘ นาทีของที่อุบลฯ
พอเริ่มติดต่อกันไกล ๆ ข้ามจังหวัด หรือแม้กระทั่งข้ามประเทศ ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องเวลาไม่ตรงกันแล้ว แทนที่จะให้ตกลงกันง่าย ๆ ก็ต้องคำนวณบวกลบ local mean time ต้นและปลายทางตลอด เกิดความยุ่งยากขึ้น ก็ต้องมีข้อตกลงว่าจะเอาเวลาไหนอ้างอิง
เริ่มต้นจากปี 1884 International Meridian Conference ที่จัดขึ้นที่ Washington, D.C., USA ประเด็นหลักคือการตกลงว่าจะเอาเส้นเมอริเดียนไหนเป็นเส้นเมอริเดียนหลัก Prime Meridian ที่จะใช้อ้างอิงเวลาต่อไป ได้ข้อสรุปว่าใช้เส้นเมอริเดียนที่ผ่านหอสังเกตการณ์กรีนิช the Observatory of Greenwich เป็นเส้นเมอริเดียนหลัก ลองจิจูดที่ 0 องศา
International Meridian Conference 1884 ที่สรุปว่า Prime Meridian ผ่านเมืองกรีนิช
ต่อมา 1919 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการประชุมอุทกศาสตร์นานาชาติ International Hydrographic Conference ที่ London, UK รอบนี้มีตัวแทนจากสยามด้วย คือนาวาเอก พระประดิยัตินาวายุทธ (ศรี กมลนาวิน - ยศและบรรดาศักดิ์สุดท้ายคือพลเรือโท พระยาราชวังสัน) ประเด็นคือเรื่องอุทกศาสตร์ แต่มีเรื่องของเวลาอัตราด้วย
International Hydrographic Conference 1919 (ผู้แทนสยาม แถวหลัง คนที่ 3 จากขวา)
เมื่อตกลงกันแล้วแบบนี้ ก็มีการออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตรา ๗ ชั่วโมงก่อนเวลากรีนิช เริ่มตั้งแต่ปีถัดไป พุทธศักราช ๒๔๖๓ สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน เป็นต้นไป
รายละเอียดของพระราชกฤษฎีกาฯ ก็ตามนี้ครับ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2462/A/273.PDF อ้างถึงการประชุมนานาชาติ ๒ ครั้งที่ว่ามานี้ด้วย
ตอนนี้จะติดต่อเวลานัดหมายข้ามจังหวัดข้ามประเทศ ก็ไม่ต้องยุ่งยากอีกต่อไป ใช้ standard time อ้างอิงเป็นบล็อก ๆ เหมือนกันทั้งประเทศทั้งโลก คิดบวกลบง่าย ไม่ต้องเปิดตารางนั่งหาว่าเวลาแต่ละจังหวัดต่างกันกี่นาที ถึงตอนนี้คอมพิวเตอร์จะคิดให้เราเสร็จ แต่เวลาใช้จริงก็ปวดหัวอยู่ดี เวลาอัตราทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น
ลองนึกภาพ teleconference ๓ นาทีจบ ในโลกที่ไม่มีเวลาอัตราดู นัดตอนบ่าย ๒ กรุงเทพฯ คนโคราชต้องรอ ๖ นาทีเพื่อ teleconference ๓ นาที ส่วนคนเชียงใหม่ เปิดมาตอนบ่ายสอง อ้าว จบไปแล้ว
เวลาพูดถึงเวลาอัตราของประเทศไทย ถ้าใครที่เรียนเกี่ยวกับโหราศาสตร์มาบ้าง ก็จะพูดกันเสมอ ว่าคือเวลาที่อุบลราชธานี ถ้าเป็นเวลากรุงเทพฯ ต้องลบออก ๑๘ นาที เป็นต้น
อันนี้ก็ไม่ผิด เพราะเส้นละติจูด ๑๐๕ องศาตะวันออกจากกรีนิช ผ่านที่อุบลฯ Standard time ประเทศไทย มันคือ local mean time ของกรีนิช บวกไป ๗ ชั่วโมง ซึ่งมันคือ local mean time ที่อุบลฯ
เวลาหาลัคนา ที่บอกว่า “ตัดเวลาท้องถิ่น” อันนี้หมายถึงใช้ local mean time ในการหาลัคนา
เท่านี้พอ เผื่อใครเคยได้ยินแล้วสงสัย
แต่ที่น่าสนใจ คือปีนี้บังคับใช้พระราชกฤษฏีกาฯ ครบ ๑๐๐ ปี น่าจะมีการเฉลิมฉลองเป็นพิเศษเหมือนกัน
แต่ช่วยไม่ได้ ติด COVID-19 พอดี ผมก็เพิ่งมานึกได้ตอนมันผ่านไปแล้ว ๓ สัปดาห์เหมือนกัน
โฆษณา