24 เม.ย. 2020 เวลา 07:13
ฝ่าวิกฤต COVID-19 หนทางสู่ความสว่างที่ปลายอุโมงค์
กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา หลายคนตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า "วิกฤตครั้งนี้จะยาวนานขนาดไหน และจะจบลงเมื่อไหร่?" ในขณะที่พวกเขาและเธอทั้ง 8 คน แขกรับเชิญพิเศษสำหรับพอดแคสต์ Episdoe นี้รีบตั้งสติแล้วเลือกลงมือทำบางสิ่งเท่าที่พึงทำได้เพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปกว่าเดิม
ในบทความนี้ผมขอเชิญชวนทุกคนไปลับคมความคิดกับหนุ่มสาวนักล่าท้าฝันจากหลายแวดวงธุรกิจ ตั้งแต่รีสอร์ท ร้านอาหาร สปา ผู้ผลิตผลไม้แปรรูป ขนมเพื่อสุขภาพ อีเวนท์ออร์แกไนเซอร์ ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียง ไปจนร้านเสริมสวยกัน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส" แต่จะทำอย่างไรนั้น เราอยากให้คุณฟังเรื่องราวความในใจจากปากพวกเขาเอง บางทีประโยคสั้นๆ อาจทำให้คุณรู้สึกฮึกเหิม และมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับมหันตภัยที่คนทั้งโลกต้องยอมก้มหัวศิโรราบให้เพราะว่ามันช่างรุนแรงเหลือเกิน
ธเนศ จิระเสวกดิลก (ตง) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารธุรกิจสปาภายใต้แบรนด์ Divana และ Dii พูดถึง Wellness Journey Model ผ่าน 4 ขั้นตอนคือการ Diagnosis (การวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนจำลองตาม Scenario ต่างๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ) Detox (การลดภาระต้นทุน ค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะ fixed cost ให้เหลือน้อยที่สุด), Reboost (การฟื้นฟูกิจการจากการหารายได้จากทุกช่องท่างที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์) และ Retain (การปรับ Business model ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป)
อรรถพล อนุรุทธิกร (เอ็ม) ผู้บริหารธุรกิจรีสอร์ท วนา วาริน หัวหิน และ อมารียา หัวหิน พูดถึงผลกระทบโดยตรงที่ได้รับจากมาตรการ Lockdown ธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้รีสอร์ทต้องปิดให้บริการชั่วคราวในขณะที่บริษัทยังไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน ด้วยความที่บริษัทมีพื้นที่ในการทำฟาร์มเกษตรส่ง Makro หัวหิน และฟาร์มปลาดุกที่ขายให้กับตลาดจึงพอทำให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือได้บ้าง ส่วนอีกธุรกิจที่รับสร้างบ้านสำหรับชาวต่างชาตินั้นถูกมองว่ามีโอกาสเป็นธุรกิจดาวรุ่งในอนาคต เพราะประเทศไทยอาจกลายเป็น Destination สำหรับชาวต่างชาติหลังจากวิกฤตโควิดสงบลง
ณชา จึงกานต์กุล (โบว์) เจ้าของธุรกิจผลไม้แปรรูปเพื่อสุขภาพ และ Fusion Snack ภายใต้แบรนด์ Kunna เร่งลงมือทำใน 3 ภารกิจหลักนั่นคือการปรับตำแหน่งงาน โยกย้ายพนักงานบางส่วนมาดูแลเรื่อง Logistic และงานลูกค้าสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น ปรับสปีดการทำงานให้สั้นลง ใช้เวลาในการตกผลึกความคิดแล้วลงมือทำทันที และอีกส่วนคือการปรับไลน์ผลิตภัณฑ์จากของแห้งให้กลายเป็น ready-to-eat มากขึ้นซึ่งเหมาะกับพฤติกรรมการ Work from home หรือ Stay home จากผลตอบรับที่ได้ทำให้รู้ว่า 70-80% ของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็น long-term product ของบริษัทได้ในอนาคต
ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา (โจ) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโจ-ลี่ แฟมิลี่ ผลิตและจัดจำหน่ายขนมเพื่อสุขภาพแบรนด์ Wel B และยังมีผลิตภัณฑ์ house brand ที่ทำให้กับหลายยี่ห้อ หนึ่งในนั้นคือ King Power พอ Duty-free ถูกปิดไป ยอดขายของบริษัทก็หายไปมหาศาลด้วยเช่นกัน สิ่งที่พึงทำได้เพื่อรักษาทีมงานไว้คือการนำเอาผลไม้ และวัตถุดิบต่างๆ ออกมาบรรจุและจำหน่ายออกไปผ่านช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้
พุทธาเอก เธียรธวัช (บอมบ์) กรรมการผู้จัดการบริษัท Fan C Pro อีเวนท์ออร์แกไนเซอร์ชั้นนำของเมืองไทย เริ่มเล็งเห็นว่าธุรกิจการจัดงานอีเวนท์จะได้รับผลกระทบแน่ จึงชิงลงมือปรับตัวก่อนล่วงหน้า โดยล่าสุดผันตัวมาทำตลาดกบกระโดด Frogjump Market แหล่งรวบรวมอาหารอร่อยๆ สั่งที่เดียวจบทุกความต้องการ เห็นว่าได้เสียงตอบรับดีมากเพราะมี influencer มากมายร่วมด้วยช่วยกันรีวิวกันอย่างล้นหลาม จากที่คิดว่าเป็นธุรกิจหนีตาย ตอนนี้อาจต้องคิดใหม่เพราะอาจกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ไตรเทพ ศรีกาลรา (โจ) ผู้ก่อตั้งบริษัท Pro Plugin ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียงและผู้สนับสนุนความฝันของลูกค้าในการเป็น content provider ระดับมืออาชีพ ในเมื่อธุรกิจสายบันเทิงได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ทั้งคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ การจัดอีเวนท์ถูกยกเลิกไป ทำให้ Pro Plugin ต้องกลับมา revisit ตัวเอง ปรับไลน์สินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเข้าไป serve กลุ่มลูกค้าที่ยังมีความต้องการอยู่ AINU Bar ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่มีการ live การแสดงสดสำหรับคนที่ต้องการรับความบันเทิงขณะอยู่ติดบ้าน
ลลิตา เลิศรัตนชัยกิจ (แป๊บ) เจ้าของร้านอาหารสายเฮลตี้ ในบรรยากาศฟาร์มผัก Homefresh Hydrofarm และผลิตภัณฑ์อาหารและขนมเพื่อสุขภาพแบรนด์ De La Lita ในเมื่อลูกค้าหลักซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว เพื่อนฝูง คนออฟฟิซไม่สามารถเดินทางมารับประทานอาหารที่ร้านได้ การดันยอดจากช่องทาง delivery จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ที่ Homefresh โฟกัสอยู่ 2 อย่างคือเรื่องการดูแลพนักงานให้มีขวัญกำลังใจที่ดี และการปรับกลยุทธ์รายวันให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ชนะโชติ สวัสดิ์วิชัยโสภิต (เอ) เจ้าของร้านเสริมสวย Cealeb by Kornklao และผู้ร่วมก่อตั้ง ทองหล่อ แพลตฟอร์มเรียกช่างตัดผม แต่งหน้าบริการถึงบ้าน ในขณะที่ร้านทำผมทั่วไปได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แบบหาทางหลบเลี่ยงไม่ได้ โชคดีที่คุณเอเตรียมการมาดี ร่วมลงทุนดันธุรกิจสตาร์ทอัพ beauty delivery service มาก่อนล่วงหน้า ในช่วงวิกฤตนี้ช่องทางนี้จึงกลายเป็นช่องทางเดียวที่ยังพอทำรายได้กับทางร้าน ในขณะเดียวกันก็ใช้ความรู้ความสามารถในการรวบรวมช่างไปบริการตัดผมให้กับทีมแพทย์พยาบาล อนุโมทนา สาธุด้วยครับ
ถ้าอยากฟังเรื่องเล่าฉบับเต็ม แนะนำไปกดฟังที่ลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
ขอเป็นกำลังใจให้นักสู้ทั้งหลายสามารถฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ไปได้ จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน คุณรอด ผมรอด เราทุกคนจะต้องรอดจากวิกฤตนี้ไปได้ในไม่ช้าครับ
โฆษณา