24 เม.ย. 2020 เวลา 10:30
'เราไม่เคยเห็นคนตายมากขนาดนี้มาก่อน'
เมื่อไวรัสกำลังทำร้ายจิตใจทีมแพทย์ฉุกเฉินในนิวยอร์ก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในตอนนี้ คงไม่มีที่ไหนสาหัสเท่ากับมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพราะที่นี่ได้กลายเป็นเมืองที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสมากที่สุดของโลก พร้อมกับมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในอเมริกา
มันคือความย่ำแย่ที่สุดของภาพจิตใจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือ รักษา เยียวยา รวมไปถึงการจัดการกับร่างไร้วิญญาณของผู้ที่ไม่สามารถยื้อชีวิตตัวเองให้หายป่วยจากไวรัสมรณะนี้
แอนโธนี อัลโมเจร่า รองผู้ว่าการบริการการแพทย์ฉุกเฉินของแผนกดับเพลิงแห่งนครนิวยอร์ก เล่าว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเขาได้รับโทรศัพท์ที่โทรมาจากอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน ว่ามีผู้ป่วยที่กำลังอาการหนักมากจากภาวะหัวใจล้มเหลว เขาจึงรีบไปที่นั้น และภาพที่เขาเห็นตรงหน้าก็คือ หญิงวัย 50 ปี ซึ่งเป็นลูกสาวกำลังพยายามทำ CPR ให้กับผู้เป็นแม่สูงวัยอายุ 70 ปี ที่ป่วยจากไวรัสนี้ โดยแม่ของเธอทรุดลงต่อหน้าต่อตาเพราะหายไม่ออก
ทีมแพทย์ฉุกเฉินพยายามช่วยชีวิตของหญิงชรารายนี้ ในขณะที่อัลโมเจราก็ถามลูกสาวว่ามีคนอื่นในบ้านป่วยหรือไม่
“ถ้าพวกคุณมาในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ฉันได้ทำสิ่งเดียวกันกับพ่อของฉัน เหมือนที่คุณกำลังทำกับแม่ของฉัน” เธอบอกเขา
พ่อของเสียเธอชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็เป็นวันที่แม่ของเธอกำลังนอนหมดสติอยู่บนพื้นด้วยอาการเดียวกัน
อัลโมเจราสื่อสารกลับไปที่ทีมของเขาด้วยความหวังว่าหญิงชราที่กำลังพยายามยื้อชีวิต จะยังคงมีลมหายใจอยู่
“โปรดบอกฉันว่าชีพจรยังเต้นอยู่!” แต่สายตาของเพื่อนทีมแพทย์ของเขาสื่อถึงความจริงก็คือ...หญิงชราคนนี้ได้สิ้นลมแล้ว
ทีมแพทย์ฉุกเฉินของนิวยอร์กกำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมในบ้านของผู้ป่วยในทุกวันๆ Michael Greco รองประธานสหภาพแรงงานท้องถิ่นของ FDNY 2507 ในเขตควีนส์เรียกมันว่า "เขตสงคราม”
มหานครนิวยอร์กได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด - 19 มากกว่าทุกเมืองๆ บนโลก จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 14,600 คนและมีการบันทึกสถิติว่า จะมีคนตายในเมืองนี้ 1 คนในทุกๆ 3 นาที
เจ้าหน้าที่ของ EMS อย่างน้อย 8 คนบอกว่า ความกดดันอย่างหนัก ความเครียด และความไม่แน่นอนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ได้รับข่าวการตายของประชาชนอย่างต่อเนื่อง กำลังกระทบต่อสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่
“เราเห็นศพมากกว่าที่เราเคยเจอ ไม่เพียงแต่เป็นปริมาณของศพผู้เสียชีวิตที่มากขึ้น แต่ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ส่งผลทางจิตวิทยาต่อเจ้าหน้าที่ EMT และทีมแพทย์ ที่เราไม่สามารถหยุดมันได้” เจ้าหน้าที่เผชิญฉุกเฉินคนหนึ่งได้อธิบายถึงความเจ็บปวดและความสิ้นหวังในการต่อสู้กับไวรัสในนิวยอร์ก
หน่วย EMS ของนิวยอร์กต้องรับมือกับการรับโทรศัพท์จากผู้แจ้งเหตุมากกว่า 5,000 - 7,000 สายต่อวัน ผ่านสายด่วน 911 และมีการปั้มหัวใจช่วยชีวิตมากถึง 300 ครั้งในทุกวัน ทุกคนต่างทำงานหนักอย่างทำงานเป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อวัน
ทุกวันที่เราเห็นทุกคนใน EMS พยายามรวบรวมทุกความสามารถ และทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ แต่เราไม่สามารถทำได้
มันไม่สามารถหยุดความเศร้าโศกเมื่อเขากลับถึงบ้าน พยายามดิ้นรนอย่างมากในการนอนให้หลับในแต่ละคืนที่แสนทรมาน
อัลโมเจรา บอกความรู้สึกว่า “ฉันต่อสู้สงครามนี้กับศัตรูที่พยายามฆ่าคนโดยรอบและมันทำให้ฉันรู้สึกสิ้นหวัง ฉันจะไม่รู้จะหยุดมันอย่างไร”
สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังเป็นสถานการณ์ที่วิกฤติต่อเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ฉุกเฉิน เพราะสภาพจิตใจของพวกเขากำลังย่ำแย่เต็มที ที่ต้องเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาหลายต่อหลายคนในวันเดียว
ดร. ชาร์ลส์ มาร์มาร์ หัวหน้าแผนกจิตเวชและผู้อำนวยการโครงการวิจัย PTSD แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ให้ความเห็นว่า การทำงานของทีมแนวหน้าในการต่อสู้กับไวรัสในนิวยอร์ก ทำให้เจ้าหน้าที่ EMS มีความเสี่ยงต่อความเครียดเฉียบพลันในระหว่างและหลังเกิดวิกฤต โดยทั่วไปจะมีอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และซึมเศร้า
เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส พวกเขาก็อาจเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคจิตเวชหากพวกเขาเผชิญกับความเครียดมากเกินไป
มันคือบาดแผลทางจิตใจที่กินเวลายาวนาน และมันอาจยาวนานต่อไปเป็นเดือนหรือเป็นปีหลังจากเหตุการณ์ไรวัสระบาด และเป็นการยากที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบทางจิตวิทยาที่เรื้อรังที่เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินของนิวยอร์กเผชิญอยู่ เพราะการระบาดใหญ่นั้นไม่สามารถเทียบเคียงได้กับประสบการณ์ที่เจ็บปวดอื่นๆ ที่เคยพบเจอมา
“เราไม่เคยมีประสบการณ์การใช้ชีวิตผ่านโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งอาจคุกคามมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้”
โฆษณา