24 เม.ย. 2020 เวลา 12:09
“เล่นเพื่อน” “เล่นสวาท” เขาเล่นอะไรกัน! ร.๔ กำชับโอรสธิดา อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด!!
...
“รักร่วมเพศ” ดูจะไม่เป็นของแปลกสำหรับคนยุคนี้แล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังกระมิดกระเมี้ยน มีการประกาศตัวกันอย่างเปิดเผย หลายประเทศยังยอมให้จดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย แต่สำหรับคนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ถือกันว่าเป็นเรื่องวิตถาร ใครมีพฤติกรรมแบบนี้มีความผิดอย่างร้ายแรง กฎมณเฑียรบาลกำหนดโทษไว้ แต่ใช้คำเรียกสำหรับหญิงกับชายต่างกัน คือ
หญิงสมรักหรือสมสู่กับหญิงด้วยกัน เรียกว่า “เล่นเพื่อน”
ชายสมรักหรือสมสู่กับชายด้วยกัน เรียกว่า “เล่นสวาท”
ความจริงรักร่วมเศก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ พุทธชาดกก็มีการกล่าวขานถึงรักร่วมเพศไว้ และมีภาพเกี่ยวกับรักร่วมเพศอยู่ตามจิตรกรรมบนฝาผนังของวัดหลายแห่ง มีข้อบัญญัติว่าเป็นบุคคลที่ไม่สามารถอุปสมบถหรืออยู่ในเพศบรรพชิดได้
ในกฎมณเฑียรบาลมาตราที่ ๑๒๔ ได้กำหนดโทษของรักร่วมเพศไว้ว่า
“อนึ่งสนมกำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกัน ทำดุจชายเป็นชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักคอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาเปนชาวสดึง ทีหนึ่งให้แก่ลูกเธอหลานเธอ”
ใน “อักขราภิธานศรับท์” ซึ่งหมอบรัดเลย์เขียนขึ้นในปี ๒๔๑๖ อธิบายคำว่า “กะเทย” ไว้หมายถึง
“คนที่ไม่เปนเภษชาย ไม่เปนเภษหญิง มีแต่ทางปัศสาวะ”
พฤติกรรมรักร่วมเพศแม้จะไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวฮอลันดาคนหนึ่ง คือนายโยส เซาเตน เข้ามาเป็นผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมัยพระเจ้าปราสาททอง รวมเวลาถึง ๘ ปี ได้เขียนเรื่องราวของราชอาณาจักรสยามไว้ในชื่อ “จดหมายเหตุของโยส เซาเตน” ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทยที่มีค่ามาก แต่เมื่อเขากลับออกไปถึงชวา ซึ่งอยู่ในความปกครองของฮอลันดา ก็ถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อหารักร่วมเพศ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงในสังคมตะวันตก โยส เซาเตนรับสารภาพ และให้การว่าเขารับแบบอย่างมาจากคนในกรุงศรีอยุธยา
1
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๓ มีทั้งเรื่อง “เล่นเพื่อน” และ “เล่นสวาท” โด่งดังที่บันทึกไว้ เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องขบขันนินทากันสนั่นเมือง เมื่อ “คุณสุวรรณ” กวีดังของยุคนั้นได้นำเรื่องซุบซิบนินทามาแต่งเป็นเพลงยาวในชื่อ “หม่อมเป็ดสวรรค์” นำพฤติกรรมของ หม่อมสุด กับ หม่อมขำ ซึ่งต้องนอนปลายพระบาทกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมขำนั้นผัดหน้าทาแป้ง เดินชดช้อยส่ายสะโพก จนมีฉายาว่า “หม่อมเป็ด” ส่วนหม่อมขำรับหน้าที่อ่านกาพย์กลอนถวายก่อนบรรทม ซึ่งคุณสุวรรณบรรยายไว้ว่า
“แต่ปากอ่านใจคิดขนิษฐ์เป็ด
มิใคร่จะเสร็จสิ้นสุดสมุดได้
จนล่วงมัชฌิมยามสองย่ำฆ้องชัย
จะหยุดไว้ก็เกรงพระอาชญา
หม่อมเป็ดน้อยค่อยเตือนให้เพื่อนนอน
เฝ้าเคืองค้อนแค้นขัดสะบัดหน้า
ยังไม่ทรงพระบรรทมตรมอุรา
แต่ชายตาดูพักตร์พยักกัน
เห็นพระองค์ทรงนิ่งไม่ติงกาย
เตือนก็ชายดึงต่วนให้ป่วนปั่น
หับสมุดหยุดยั้งฟังสำคัญ
ด้วยกระสันเสียวซ่านรำคาญใจ
พระแกล้งทรงพระกรรสะจะให้รู้
ว่าตื่นพระบรรทมอยู่หาหลับไม่
คุณโม่งก็ชะงากกระดากใจ
ก็แข็งจิตอ่านไปใจประวิง
ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ
หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง
ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย
เข้าชุลมุนวุ่นวายปลายพระบาท
ก็คิดคาดเอาว่าหาเห็นไม่
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ
ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง
กระซุบกระซิบซุ่มกายปลายพระบาท
อุตลุดอุดจาดทำอาจโถง
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง
จึ่งตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา”
หม่อมสุดเลยได้ฉายาว่า “คุณโม่ง” ก็เพราะคลุมโปงเล่นอุตลุดกับ “หม่อมเป็ด” ที่ปลายพระบาทนี่เอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องสนุกของคนอ่านและคนแชร์ต่อด้วยการนินทา ไม่ได้ทรงลงโทษลงทัณฑ์แต่อย่างใด
ส่วนอีกเรื่องเป็นคดีของเจ้านายฝ่ายชายที่นิยมการ “เล่นสวาท” แต่สอบสวนจนกลายเป็นเรื่องการเมืองที่ต้องทุบด้วยท่อนจันทน์
เจ้าของเรื่องคือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นเจ้านายอาวุโสในรัชกาล มีคณะละครส่วนพระองค์ แต่เป็นละครผู้ชายล้วน ถูกฏีกาทูลเกล้าฯกล่าวหาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องไม่ใส่ใจในราชการ เบียดบังเงินเบี้ยหวัดและเงินวัดพระพุทธบาท นอกจากนี้กรมหลวงรักษ์รณเรศยังถูกกล่าวหาว่าทำความเสื่อมเสียมาถึงราชวงศ์ ประพฤติพระองค์ในทาง "เล่นสวาท" อันเป็นการแสดงความรักใคร่ในทางผิดธรรมชาติอย่างเปิดเผย จนอื้อฉาวเลื่องลือไปทั่ว ในการชำระความตามฎีกา ได้ความว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศฝักใฝ่อยู่แต่พวกละครผู้ชายด้วยกัน ไม่ยอมเข้าห้องบรรทมกับพระชายาหรือหม่อมห้ามเลย มีบันทึกไว้ว่า
1
“...จึงรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกย้ายกันไต่ถาม ได้ความสมกันว่า เป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แค่เอามือเจ้าละครและมือท่านทำกำคุยหฐานด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เป็นแต่เท่านั้น...”
“คุยหฐาน เป็นราชาศัพท์หมายถึง “อวัยวะที่ลับ”
“...แล้วโปรดให้ตระลาการถามกรมหลวงว่า เป็นเจ้าใหญ่นายโต เล่นการเล่นนี้สมควรอยู่หรือ กรมหลวงรักษ์รณเรศให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกกับเมียไม่เกี่ยวกับราชการ...”
ที่สำคัญจนเป็นเหตุให้ถูกประหารชีวิตก็คือ รับสั่งให้ตระลาการถามว่า
“...เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางให้เป็นพรรคพวกมาก จะคิดกบฏหรือ กรมหลวงให้การว่าไม่ได้คิดกบฏ คิดอยู่แต่ว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินไป ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร ถามอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าได้อย่างนั้นแล้วจะเอาผู้ใดเป็นวังหน้า ให้การว่า คิดไว้จะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์...”
เมื่อให้การไม่ยั้งพระโอษฐ์ถึงขั้นนี้ ประวัติศาสตร์จึงบันทึกไว้ว่า
“...พระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีกราบทูลว่า จะไม่เอาโทษเสียเลย เลี้ยงไว้ก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจ เหมือนตีอสรพิษให้หลังหัก ระวังยาก...”
ในตอนท้ายของการชำระคดี ยังมีบันทึกอ้างถึงพฤติกรรมของพระเจ้ากรุงปักกิ่งด้วยว่า
“...จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชาย ฝ่ายหญิงเมียของตัวที่รับพระราชทานเบี้ยหวัด ก็มาเล่าให้เขาฟังออกเซ็งแซ่ไปทั่วว่า มิอินังขังขอบกับกับลูกเมีย มาหลงรักไอ้คนโขนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่ง (เตากวาง) รักงิ้ว จะส้องเสพผู้ชายบ้างผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวเสียว่าทำดังนี้ไม่ดีไม่งาม ก็จะอื้ออึงไป เหมือนจะแกล้งประจานญาติให้ได้รับความอัปยศ...”
นอกจากจะทรงระบุพระเจ้าเตากวางของจีนแล้ว ยังรับสั่งถึง กรมหลวงเทพพลภักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯร่วมพระมารดากับกรมหลวงรักษ์รณเรศ ก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน
“...แต่ก่อน กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ก็ประพฤติการไม่อยู่กับลูกกับเมียเหมือนกันเช่นนี้ สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ทรงทราบทุกพระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์แต่ประการใดไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมิได้เป็นพระทัยเอาธุระด้วย สำคัญพระทัยว่าเขาประพฤติเหมือนพี่ชายเป็นพืชพันธุ์อียายเดนเกือก เป็นคนอุบาทว์บ้านเมือง มิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยความโลภเจตนาขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งขายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไปทั่วนานาประเทศทั้งปวงหาควรไม่เลย...”
ในที่สุดกรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับพวกละคร แม้จะไม่มีโทษถึงตาย แต่ที่เปิดเผยเองว่าเตรียมจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถึงขนาดวางตัววังหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว จึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยวิธีทุบด้วยท่อนจันทร์ ที่วัดปทุมคงคา
แสดงว่ารักร่วมเพศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้เกิดขึ้นมากในแวดวงสังคมชั้นสูงจนรู้กันทั่วไป แต่ก็ยังเป็นเรื่องปกปิดเพราะถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสีย
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีประกาศถึงพฤติกรรม “เล่นสวาท” ของพระภิกษุด้วยว่า
“...บางจำพวกเป็นคนเกียจคร้าน กลัวจะเกณฑ์ให้ราชการ หลบลี้หนีเข้าบวชเป็นพระภิกษุ สามเณร อาศัยพึ่งพระศาสนาเลี้ยงชีวิต แล้วประพฤติอนาจารทุจริตต่างๆ จนถึงเล่นสวาทเป็นปาราชิกก็มีอยู่โดยมาก...”
แสดงว่า “เล่นสวาท” และ “เล่นเพื่อน” แพร่หลายจนเป็นที่น่าวิตก ในวันสมโภชเดือนของพระราชโอรสธิดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะพระราชทานทรัพย์ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ไว้ใช้จ่ายเลี้ยงพระชนม์ชีพแล้ว ยังพระราชทานสำเนาพระบรมราโชวาทแนบไปด้วย มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวจำนวนผูกติดกับหนังสือนี้ มีตราของพ่อปิดไว้เป็นสำคัญนี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตได้ ๑๖ ปีแล้ว จึงคิดอ่านเอาเปนทุนทำมาหากินแลเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งสอนให้มากนักหนา อย่าสูบฝิ่นแลอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด...”
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประมวลกฎหมายใน ร.ศ.๑๒๗ ในหมวดที่เกี่ยวกับความผิดกระทำอนาจาร มาตรา ๒๔๒ กล่าวว่า
“ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือกระทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษติดคุกตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไปถึง ๓ ปี แลให้ปรับตั้งแต่ ๕๐ บาทขึ้นไปถึง ๕๐๐ บาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
แสดงว่ารักร่วมเพศซึ่งถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีไม่งาม เป็นปัญหาของสังคมไทยแล้ว จึงต้องออกกฎหมายลงโทษ
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงศึกษาในยุโรปถึง ๘ ปี ทรงเข้าพระทัยในเรื่องรักร่วมเพศซึ่งแพร่หลายในโลกตะวันตก บทพระราชนิพนธ์ต่างๆที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิธของพระองค์ จึงทรงให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อมิให้เกิดความรังเกียจบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นพิษภัยร้ายแรงต่อสังคม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการรณรงค์ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต" เพื่อเปิดทางให้คู่ครองเพศเดียวกันทำการสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถ้าหากมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่มีการรับรองสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน
แต่ก็ยังเป็น “คู่ชีวิต” เป็นการจดทะเบียนร่วมชีวิตกันของคนเพศเดียวกันโดยกำเนิด ไม่ใช่ “คู่สมรส” ซึ่งก็ยังมีความแตกต่างกันบางประการ ไม่ร้อยเปอร์เซนต์เหมือนกับเพศหญิงกับเพศชายโดยกำเนิด
โฆษณา