24 เม.ย. 2020 เวลา 22:38 • สุขภาพ
ปุ่มใหม่ โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน"
คลัง เปิดปุ่ม “ขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยา” ผ่านเว็บเราไม่ทิ้งกัน.com ให้โอกาสคนดีคืนเงิน 5 พันบาท ก่อนสั่งตรวจคนรับเงินแต่ขาดคุณสมบัติหลายแสนราย พร้อมให้รัฐวิสาหกิจ-คนเสียชีวิต รับเงินแล้วสละสิทธิ์ได้ ด้านกลุ่มยื่นทบทวนสิทธิ์ ความจริงขาดคุณสมบัติ ให้กดปุ่ม “ยกเลิกการลงทะเบียน”
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะทำการตรวจสอบกลุ่มที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทไปแล้วจำนวนหลายแสนคน เนื่องจากคาดว่าน่าจะขาดคุณสมบัติการรับเงินเยียวยาซึ่งไม่ได้เป็นแรงงาน ลูกจ้าง และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยในวันที่ 25 เม.ย. 2563 เวลาประมาณ 09.00 น. เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะมีเพิ่มปุ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปุ่ม คือ “ขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยา” ซึ่งจะเป็นแถบสีชมพู เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาขอสละสิทธิ์
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนหนึ่ง ที่มาลงทะเบียนและได้รับเงิน 5 พันบาทไปแล้ว ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงขอให้มาคืนเงินผ่านปุ่ม “ขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยา” เช่นเดียวกัน ซึ่งเดิมกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่กระทรวงการคลังจะต้องทำการตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ทำการชี้แจงรายละเอียดกับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งแล้วว่า หากใครได้รับสิทธิ์ตามมาตรการให้มาทำการสละสิทธิ์
“กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ เนื่องจากตอนลงทะเบียนว่าประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย ซึ่งมีการประกอบอาชีพดังกล่าวจริง แต่ก็มีอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ไม่ได้” นายลวรณ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังมีกรณีที่มีผู้ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท และเกิดเสียชีวิต และทายาทมีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอคืนเงินดังกล่าว ก็สามารถมาใช้ปุ่ม “ขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยา” ได้ โดยเข้าไปกรอกรายละเอียด ซึ่งจะมีขั้นตอนการคืนเงินที่ได้รับไปแล้วด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก
ทั้งนี้ เว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ในปุ่ม “ยกเลิกการลงทะเบียน” เป็นปุ่มสีแดง ได้มีการเพิ่มฟังก์ชัน ให้สำหรับผู้ที่รอฟังผลการลงทะเบียน และผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ให้มากดปุ่มดังกล่าวเพื่อยกเลิกการลงทะเบียนได้ เนื่องจากทีมพิทักษ์สิทธิ์ จำนวน 1.7 หมื่นคน ได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงสำหรับคนที่ขอยื่นทบทวนสิทธิ์ ซึ่งพบว่ามีทั้งผู้ที่ให้ข้อมูลตรงกับความเป็นจริง และมีคนที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงไม่อยากให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว และต้องการยกเลิกสิทธิ์จากมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ กระทรวงการคลังจึงต้องเพิ่มฟังก์ชันเข้ามาปุ่มดังกล่าวขึ้นมา
โฆษณา