26 เม.ย. 2020 เวลา 04:00 • ท่องเที่ยว
อย่า!!! ทิ่มแทง ด้วย คำทักทาย???
ณ สนามบินดอนเมือง
“อนุวัต จำพี่ได้ไหม”
ผมจะไม่ทักทายกันด้วยประโยคนี้เด็ดขาด
เพราะเคยพบเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมาก เวลาเจอน้องๆ ที่เคยรู้จักทักกันอย่างนี้
ก็จะทำเนียนๆ ว่าจำได้(ทั้ง ๆ ที่ลืมไปนานแล้ว)
แต่ต้องระวังคำถามต่อมาคือ “จำได้จริงหรือเปล่า งั้นบอกสิว่าน้องชื่ออะไร”
จังหวะนี้เล่นเอาไปไม่เป็นเลย ดังนั้น ก่อนทักทายใคร ควรทบทวน
หลายคนมักเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำว่า
ทำไมอ้วนจัง ทำไมดูผอมไป ทำไมแฟนไม่มาด้วย ฯลฯ
โทรมไปหรือเปล่า ดำไปหรือเปล่า ดูเพลียๆ ไปหรือเปล่า ฯลฯ
บางรายทักทายแบบหวังดี “โห้..สิวหัวช้างเต็มเลย ช่วยบีบให้ไหม”
หนักไปกว่านั้นคือ เพื่อนที่ทำธุรกิจขายตรง ทักทายแบบหวังผลประโยชน์
แบบตรง ๆ ว่า “ใช้ยาสีฟันอะไรอยู่” หรือ “ใช้น้ำยาล้างรถยี่ห้ออะไร”
ทั้งหมดนี้ใช่ไม่ดี แต่มีประโยคอื่นที่สร้างสรรค์อีกไหม
เราคงรู้ว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ค้นพบ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ
แต่อาจยังไม่รู้จักคุณเอ็ดเฟรด อันโรนินา ที่มีบ้านแถวหน้าเวิร์คพอยท์รังสิต
เขาค้นพบทฤษฎี สัมพันธภาพ ไว้น่าคิด
“เบื้องหลัง คำทักทาย คือการมีมารยาท พ่อแม่ครูอาจารย์ คงไม่ได้สั่งสอนเราทุกเรื่อง
แต่เรื่องบางเรื่อง เราเรียนรู้ได้จากสื่อต่าง ๆ และพื้นฐานจิตวิทยาของตัวเราเองบ้างก็ได้
มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราเลือกทักทายด้วยประโยคนำร่องที่เป็นจุดดี จุดเด่นของคู่สนทนา”
จากนี้ชวนระวัง ก่อนเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครให้คิดสักนิด
เพราะการสร้างความประทับใจแรกพบนั้นสำคัญมากๆ
โดยเฉพาะ 7 วินาทีแรกที่เรา สบตา ยิ้ม ส่งภาษากาย และที่สำคัญสุด ๆ คือ คำทักทาย
ผมยังจำได้ดี เมื่อปีก่อน วันที่นอนซมอยู่บนเตียงโรงพยาบาล
คุณหมอสาวสวย มาตรวจไข้ ทักทายคนป่วยว่า
“เป็นไงบ้างลุง เจ็บตรงไหนบ้างวันนี้”
“เจ็บตรงเรียกลุงนี้แหละ” (ผมตอบในใจ)
สุดท้ายพึงสังวรอีกว่า สรรพนามที่เรียกแล้วทำให้รู้สึก แก่ เฒ่า แค่พูดเบาๆ ก็เจ็บ
ปล. วันนั้นผมทักอนุวัตแบบพื้นฐานว่า “อนุวัต พี่ขอถ่ายรูปด้วยหน่อยครับ”
26 เม. ย 63
โฆษณา