27 เม.ย. 2020 เวลา 09:00 • การศึกษา
+++7 เรื่อง ที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับสัตวแพทย์+++
สัตวแพทย์ในประเทศไทยในปัจจุบัน มีอยู่ราวๆหมื่นกว่าคน นับว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็น rare item ก็ว่าได้ 55+ ดังนั้นคนในสังคม จึงมีความเข้าใจผิดๆหรือมีเรื่องที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเราอีกเยอะ วันนี้หมอจะคัดเรื่องเจ๋งๆ มาเล่าให้ฟัง
1) สัตวแพทย์ เรียน 6 ปีนะจ๊ะ หลายคนบอก โด่ว เรื่องแค่นี้ใครๆก็รู้ป่ะ บ้าบอบอกทำไม... เฮ้ย เชื่อหมอสิ หลายคนไม่ทราบจริงๆ เพราะในช่วงเวลาตั้งแต่หมอเรียนจนจบมาทำงาน หมจะได้รับคำถามนี้บ่อยมาก ว่าสัตวแพทย์เรียนกันกี่ปี?
เอาจริงๆ ความน่าเชื่อถือ ความน่ายกย่อง การได้รับเกียรติในสังคมของเรา อาจด้อยกว่าสาขาวิชาชีพแพทย์อื่น ( แต่สำหรับตัวหมอๆทุกคน เรารู้ดีว่าเราก็คือ หมอคนนึงเหมอืนกัน ) แต่เราก็เรียน 6 ปีด้วยความรู้ที่อัดแน่นตั้งแต่สัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ เท่ากับแพทย์และทันตแพทย์ครับ 😁
2) สมัยก่อน มีการจำกัดการรับนิสิตหญิงในการเข้าเรียน สัตวแพทย์ !!
ที่หมอใช้คำว่านิสิต เนื่องจากสมัยก่อนคณะสัตวแพทย์ที่เก่าแก่ ก็จะมีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่เกษตรศาสตร์เท่านั้น มีการจำกัดการรับนิสิตชาย ต่อ หญิง สัดส่วน 90/10 ( ไม่ได้เป๊ะๆตามนี้ทุกปีนะจ๊ะ )
เนื่องจากสมัยก่อน การเรียนการสอนสัตวแพทย์เน้นการทำงานกับสัตว์ใหญ่ ออกนอกสถานที่ ฝึกงาน กินอยู่ลำบากไม่สะดวกสบาย เพราะสมัยก่อน สัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่น ยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนในปัจจุบัน ทำให้ต้องจำกัดจำนวนนิสิตหญิงในคณะนี้ แต่ปัจจบุันก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นไม่จำกัดจำนวนตามเพศ แต่คัดเลือกตามระดับคะแนนการสอบเข้าเหมือนคณะอื่นๆแล้วจ้า
1
3) การเรียนสัตวแพทย์ ไม่มีการใช้ทุน เพราะ...เราไม่ได้ทุนจากรัฐบาลจ้า เราใช้ทุนบิดามารดาในการเรียน อย่างมากก็ทุน กยศ. (อันนี้ต้องใช้คืนเค้านะครับ ) หรือทุนของคณะและมหาวิทยลัยอื่นๆ ถ้าเป็นทุนให้เปล่าก็ไม่ต้องไปทำงานใช้ทุนจ้า
4) สัตวแพทย์ ไม้ได้รักสัตว์ทุกคน ... จั่วหัวอย่างนี้หลายคนอารมณ์ขึ้นกันเลยทีเดียว 555+ หมอหมายความว่า คุณหมอแต่ละคนอาจไม่ได้ชื่นชอบสัตว์ทุกชนิด เช่นเพื่อนๆหรือรุ่นพี่ของหมอบางคน ก็กลัวหมา บางคนแพ้ขนแมว บางคนไม่ชอบไก่ และหลายๆคนกลัวงู เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินเข้าไปหาคุณหมอตามคลินิกและโรงพยาบาล บางครั้งถ้าคุณหมอบอกว่าไม่ถนัด ก็ต้องเข้าใจคุณหมอกันด้วยนะครับ
5) สัตวแพทย์ สามารถทำงานได้หลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
- สัตวแพทย์ที่ทำงานด้านรักษา --> สัตว์เลี้ยง สัตว์พิเศษ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ตามคลินิกและโรงพยาบาลทั้งของมหาวิทยาลัยและเอกชน
- เป็นอาจารย์ในคณะสัตวแพทย์ สัตวบาล สัตวศาสตร์ เป้นต้น
- เป็นเซลล์ขายสินค้าตั้งแต่อาหาร ยา เวชภัณฑ์ ตามบริษัทต่างๆ
- รับราชการ โดยเฉพาะในสังกัดกรมปศุสัตว์
- ทำงานที่อื่นๆเช่น สวนสัตว์ อควาเรี่ยม สนามบิน เป็นต้น
6) สัตวแพทย์ ไม่ใช่อาชีพที่รายได้สูง...น้องๆหลายคนอยากเข้าคณะนี้เพราะคิดว่าจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ พี่หมอขอบอกเลยว่า...หนีไป!!! 😂😂
รายรับเฉลี่ยของสัตวแพทย์จบใหม่ ถ้าทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ พูดเลยว่าเฉพาะเงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นนะจ๊ะ ถ้าไม่ลงเวรล่ะก็ แทบจะไม่ต่างจากสายงานที่เรียนแค่ 4 ปีเลย บางคนทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ก็อาจสูงขึ้นกมาหน่อย ราว 2-4 หมื่นบาท ตามแต่ที่และประสบการณ์ สำหรับสัตวแพทย์ที่ไม่ได้ทำงานด้านรักษา ก็มีตั้งแต่ หมื่นกว่าบาท จนถึงหลักแสนตามสายงานและที่ทำงานจ้า
7) ในประเทศไทย มีสัตวแพทย์เฉพาะทางแล้วนะจ๊ะ
หลายคนงง เพราะคิดว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราก็มีสัตวแพทย์เฉพาะทางมิไช่หรือ?
ในทางสัตวแพทย์นั้น ในอดีตสัตวแพทยสภาไม่เคยมีการรองรับการเป็นสัตวแพทย์เฉพาะทางให้ แต่เมื่อราว 6 ปีก่อน วิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย (The College of Veterinary Specialties of Thailand) ก็ได้เกิดขึ้นโดยสัตวแพทยสภาในวันที่ 15 กันยายนพ.ศ. 2557 มีการกำหนดกฏเกณฑ์ของการคัดเลือกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลักของคณะสัตวแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญทางคลินิกในแต่ละสาขาเข้ามาเป็นคณะทำงานและบริหารงานวิทยาลัยชำนาญการและจัดการสอบผู้ขออนุมัติบัตรและวุฒิบัตรแสดงความรู้ชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ได้
โดยกำหนดกฏเกณฑ์ถึงว่าคุณวุฒิ การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและสามารถเก็บจำนวนเคส (จำนวนสัตว์ป่วยที่ทำการรักษา) ปริมาณเท่าไรจึง จะมีสิทธิ์ สมัคร และ ขอสอบเพื่อรับวุฒิได้
สาขาที่มีสัตวแพทย์เฉพาะทาง มี 5 สาขา ดังนี้
-สาขาพยาธิวิทยา (Veterinary Pathology) คือสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคจากการอ่านชิ้นเนื้อ การอ่านเซลล์ การแปลผลทางห้องปฏิบัติการต่างๆ
-สาขาเวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ (Veterinary Theriogenology)สัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทั้งเพศผู้ เพศเมีย การผสมเทียม การวิเคราะห์น้ำเชื้อ และโรคทางระบบสืบพันธุ์
-สาขาศัลยศาสตร์ (Veterinary Surgery) คือสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านการผ่าตัด ทั้งเนื้อเยื้ออ่อน ออร์โธปีดิสก์(กระดูก เอ็น ข้อต่อ) ระบบประสาท วิสัญญีวิทยา (วิชาว่าด้วยการให้ยาสลบยาชาเพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวดของสัตว์ป่วย) และการวินิจฉัยด้วยภาพ
-สาขาอายุรศาสตร์ (veterinary Medicine) กลุ่มสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาโรคและทำการรักษาโรคโดยการใช้ยาหรือทำหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด ในสาขานี้สามารถแบ่งเป็นสาขาย่อยได้ หลายสาขาเช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง โรคระบบประสาท เป็นต้น
-สาขาสัตวแพทย์สาธารณสุข (Veterinary Public Health)สัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้าน สาธารณสุขโดยใช้ความรู้ทางด้านสัตวแพทย์เพื่อป้องกันการติดโรคจากสัตว์สู่คน ตรวจสอบอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตจากสัตว์ รวมถึงการป้องกันการแพร่เชื้อและ การปนเปื้อนของสารเคมีและยาที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ไปยังสิ่งแวดล้อม
เห็นมั้ยครับว่าวิชาชีพเราน่าสนใจแค่ไหน ใครที่อยากรู้จัก สัตวแพทย์ มากขึ้นก็ไม่ยากคับ ติดตามเพจนี้ให้หน่อย รับรองไม่ผิดหวัง ยังมีอะไรให้คุณรู้จักอาชีพนี้อีกเลยล่ะครับ 😁😁
โฆษณา